รูปธรรม นามธรรมและรูปธาตุ นามธาตุแตกต่างกันอย่างไรครับ

 
papon
วันที่  20 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24210
อ่าน  21,445

รูปธรรม นามธรรมและรูปธาตุ นามธาตุแตกต่างกันอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ธรรม คือ อะไร?

ยังไม่ต้องใส่ชื่อก็ได้ ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เป็นธรรม เช่น เห็น เป็นธรรม ได้ยิน เป็นธรรม โกรธ เป็นธรรม ติดข้อง เป็นธรรม ความละอาย เป็นธรรม ความเข้าใจ เป็นธรรม สี เป็นธรรม เสียง เป็นธรรม เป็นต้น เพราะมีจริง เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ซึ่งไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะมีชื่อว่าอย่างไร ธรรม ย่อมไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เมื่อกล่าวถึง ธรรม แล้ว ก็เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่มีจริง สำหรับสิ่งทีมีจริงนั้น ก็แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (จิต เจตสิก และ พระนิพพาน) และ รูปธรรมธรรม เมื่อว่าโดยความหมายแล้ว นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้) เช่น เห็น เป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะนั้น มีจิตเห็น พร้อมทั้งเจตสิก เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป เป็นต้น ซึ่งได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ผัสสะ เวทนา เจตนา เป็นต้น) [นอกจากนั้น ก็ยังมีนามธรรม อีกประเภทหนึ่ง คือพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์]

ส่วน รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์เหมือนอย่างนามธรรม รูปธรรม มีทั้งหมด ๒๘ รูป มี สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เป็นต้น ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง นั้น ไม่ต้องไม่หาที่ไหนเพราะมีจริงทุกขณะ ทุกขณะเป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก และ รูป แต่ละอย่างแต่ละประการ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้เลยจริงๆ ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน (ในแต่ละภพในแต่ละชาติ) ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่จุติเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ นั้น มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม เท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจแต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่า มีธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พ้นหกทางนี้เลย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริงและกำลังปรากฏ ซึ่งมีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะจริงๆ การที่จะรู้ธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องมีความรู้ตั้งแต่ขั้นต้น คือ เริ่มจากการฟังธรรม ซึ่งก็คือ ฟังในสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรม และ รูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟัง ค่อยๆ เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ขอกล่าว คำว่ าธาตุ ตามที่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนี้ ครับ

สภาพธรรมที่ชื่อว่า ธาตุ มีหลายความหมายดังนี้ ครับ

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่สัตว์ทั้งหลาย ยึดถือไว้

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ตั้งไว้

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่จัดแจง จัดสรร

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่เป็นไปตามอำนาจ เพราะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสภาพธรรม

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

ชื่อว่าธาตุ [วิสุทธิมรรคแปล]

ดังนั้น ความหมายของธาตุ จึงหลายอย่าง แต่ธาตุทั้งหลาย ก็เพียงให้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม ทั้งที่เป็นจิต เจตสิก รูป และ นิพพาน ต่างก็ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลง มีลักษณะเฉพาะ เช่น ได้ยิน จะรู้สีก็ไม่ได้ ก็ต้องรู้เฉพาะเสียง เป็นต้น และธาตุ เป็นอนัตตา หาสัตว์ บุคคลไม่ได้เลย และ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเป็นแต่เพียงธาตุ ไม่มีเรา อยู่ในธาตุใด และ ธาตุที่เป็น จิต เจตสิก รูป ก็ทรงไว้ซึ่งทุกข์ คือ ทรงไว้ในลักษณะที่ทุกข์ คือเกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ เป็นธาตุที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ครับ

การศึกษาเรื่องธาตุ ประโยชน์ คือ เข้าใจความเป็นธรรม ว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรมที่เป็นธาตุแต่ละอย่างเพื่อประโยชน์ในการไถ่ถอนความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลอันเป็นหนทางการละกิเลส ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม เมื่อได้ยินชื่ออะไรในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ไม่พ้นจากควาเมป็นธาตุ แม้ใช้ชื่อต่างกัน เช่น ขันธ์ 5 ธรรม อายตนะ ธาตุ ก็ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความจริงที่เหมือนกัน คือ เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา การศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง เพื่อเข้าใจความเป็นธรรม เป็นธาตุ ย่อมจะทำให้ถึงการละกิเลสได้ โดยละเป็นลำดับ คือ ความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ บุคคลก่อน เพราะ รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียง ธาตุ ธรรม ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

ธาตุคือสภาวะของตนซึ่งทรงไว้ไม่เปลี่ยนแปลงวีระ

ธาตุหมายถึงความบริสุทธิ์หรือครับ ตอนที่ผมเรียนตอนเด็กๆ ธาตุ เช่น ยูเรเนียมออกซิเจน ไฮโดรเจน คือความบริสุทธิ์ของอันนั้นใช่ไหมครับถึงเรียกว่าธาตุ

สุ. คืออันนั้น เป็นธาตุทางวิทยาศาสตร์ แต่ธาตุทางธรรม ถ้ามาจากภาษาบาลีก็คือสภาพซึ่งทรงไว้ ที่มีลักษณะเฉพาะๆ ของตนๆ แต่ละธาตุๆ ซึ่งอาจจะใช้สำหรับรูปธาตุหรือนามธาตุ หรือทางวิทยาศาสตร์ก็อาจจะมีอีกหลายธาตุ ก็หมายความถึงสภาพซึ่งทรงไว้ ซึ่งสภาวะที่มีจริงของตนๆ อย่างเห็น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เป็นธาตุชนิดหนึ่ง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุสามารถใช้คำจำกัดความข้างต้นอธิบายความแตกต่างกันได้อย่างครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 2 ครับ

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมแล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย

ก็ต้องตั้งต้น ตั้งแต่คำแรกเลยที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยตลอด นั่นก็คือ คำว่าธรรม คำว่าธรรม เป็นคำมาจากภาษาบาลี แต่ถ้าเป็นคำไทยแล้วก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ แล้วสิ่งที่มีจริงๆ นั้น คือ อะไร คือ ขณะนี้หรือไม่ ที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ขณะที่เป็นกุศล ความดีงามเกิดขึ้นเป็นไป มีเมตตา

ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เป็นต้น หรือ ในทางตรงกันข้าม ขณะที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องยินดีพอใจ หรือ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ตลอดจนถึงสิ่งที่ไม่ดีประการอื่น ล้วนเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่มีจริง ที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ รูปธรรมก็มีจริงๆ สี มีจริง เสียงมีจริง เป็นต้น เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเลย ยิ่งถ้าได้สะสมความเข้าใจไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งจะมั่นคงว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น คือ ขณะนี้ที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมนั่นเอง

ธรรม กับ ธาตุ มีอรรถอย่างเดียวกัน คือ กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทั้งหมดสิ่งที่สำคัญคือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก สำหรับ นามธรรม หรือ นามธาตุนั้นไม่ได้หมายถึงจิต กับ เจตสิก เท่านั้น ยังแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นพระนิพพานด้วย ครับ

มโนธาตุ ได้แก่จิต ๓ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง ส่วนมโนวิญญาณธาตุ ก็ได้แก่ จิต ที่เหลือจากวิญญาณ ๕ (เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) และ นอกเหนือจากมโนธาตุ ๓ ก็เป็นมโนวิญญาณธาตุ ทัั้งหมด ทั้งหมดนั้น เป็นจิต เมื่อเป็นจิต ก็เป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นสิ่งทีมีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

กระผมได้อ่านพระอภิธรรมปิฎกเกี่ยวกับ ธาตุ ๑๘ กระผมพอจะเข้าใจเกี่ยวกับจักขุธาตุ จักขุวิญญาณธาตุและ

รูปธาตุ ... แต่พอถึงมโนวิญญาณธาตุ มโนธาตุ และ ธรรมธาตุ กระผมยิ่งไม่เข้าใจ หรือว่าจะเหมือนกับอายตนะ ครับขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 21 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 4 ครับ

ก็ต้องฟังต้องศึกษาสะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย สภาพธรรมที่มีจริงๆ นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยต่างๆ แต่ทั้งหมดก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง

ตามที่ได้เรียนแล้วว่า จิต มีจริงๆ เป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นวิญญาณธาตุ ๗ ได้แก่ วิญญาณธาตุ ๕ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสและ มโนธาตุ ๓ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง ส่วนมโนวิญญาณธาตุ ก็ได้แก่ จิต ที่นอกเหนือจากวิญญาณ ๕ (เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) และ นอกเหนือจากมโนธาตุ ๓ ก็เป็นมโนวิญญาณธาตุ ทัั้งหมด

นี้คือ กล่าวถึงจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์และ จิตทุกประเภท เป็นอายตนะ คือ เป็นมนายตนะ ครับ

ส่วน ธรรมธาตุ กว้างขวางมาก ได้แก่ เจตสิกทั้งหมด รูปที่ละเอียด และ พระนิพพาน เป็นธรรมธาตุ และเป็นธัมมายตนะ ด้วย

ประโยชน์ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง แต่เมื่อไม่ขาดการฟังการศึกษาความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ papon และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 23 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Sea
วันที่ 3 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ