ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมด้วยการทำสมาธิ

 
natural
วันที่  8 ม.ค. 2557
หมายเลข  24304
อ่าน  2,085

ผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องการปฏิบัติธรรมด้วยการทำสมาธิ บางท่านใช้คำว่าเก็บตัว ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการอาศัยสัปปายะ จึงได้อ่านความหมายจากกระทู้คำถามว่าสัปปายะหมายถึงอะไร จึงขอรบกวนเรียนถามจาก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑-หน้าที่ ๔๕

๙. ปฐมสัปปายสูตร ที่ ๙

ว่าด้วยทรงแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง

และ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๗

๑๐. ทุติยสัปปายสูตร ที่ ๑๐

ว่าด้วยทรงแสดงข้อปฏิบัติที่สบายแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง

และพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๓๓

ในข้อความตอนหนึ่งว่า ... เธอหมายมั่นปฏิเวธว่า (จะได้บรรลุ) วันนี้ ได้อุตุสัปปายะ (อากาศสบาย) ปุคคลสัปปายะ (บุคคลสบาย) โภชนสัปปายะ (โภชนะสบาย) ธัมมัสสวนะสัปปายะ (การฟังธรรมสบาย) นั่งขัดสมาธิท่าเดียว ยังวิปัสสนาให้ถึงที่สุด แล้วตั้งอยู่ในพระอรหัตตมรรค ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เป็นอันตรัสบอกพระกัมมัฏฐานแก่ชนทั้ง ๓ แม้เหล่านี้ จนถึงพระอรหัต ว่ามุ่งหมายถึงผู้ที่เข้าใจธรรมในระดับสูงแล้วใช่หรือไม่ และความเป็นสัปปายะเกี่ยวข้องกับความเข้าใจธรรมในชีวิตประจำวัน หรือไม่ อย่างไร และจากพระไตรปิฎกมีอธิบายเกี่ยวกับสมถะเป็นบาทของวิปัสสนา หรือไม่ อย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในพระไตรปิฎกมักกล่าวถึงสถานที่ อากาศ เป็นต้นที่เป็นสัปปายะ ทำให้อาจเข้าใจผิดว่าการเจริญสติปัฏฐานต้องเลือกสถานที่ เลือกสถานที่ที่สงบ อากาศ แต่สถานที่สัปปายะ อากาศและอื่นๆ เป็นเพียงองค์ประกอบบางส่วน แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม จะอยู่ สถานที่ที่เหมาะสม ที่กล่าวว่าเป็น สัปปายะ อย่างไร ปัญญาก็ไม่เกิด แต่ในความเป็นจริงหมายถึง ไม่ว่าอยู่สถานที่ใด ถ้าสติและปัญญาเกิด (สติปัฏฐาน) ที่ที่นั้นเองก็เป็นสัปปายะของบุคคลนั้นเพราะกุศลเกิด (กุศลขั้นสติปัฏฐาน)

ควรเข้าใจครับว่า การบรรลุธรรม คือ การบรรลุ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นสภาพธรรมที่ทำให้บรรลุธรรมได้ ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาสามารถเกิดได้ โดยไม่เลือกสถานที่ ว่าจะต้องเป็นในป่า ในที่เงียบสงัด หรือ ในเมือง เพราะในความเป็นจริง ทั้งในป่าในที่เงียบสงัด และในเมือง ไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมี เห็นก็มี ได้ยินก็มี ได้กลิ่นก็มี ลิ้มรสก็มี คิดนึกก็มี ไม่ว่าจะในป่า ในที่เงียบสงัด และ ในเมืองล้วนแล้วแต่มีสภาพธรรม ที่ปัญญาจะต้องรู้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

ปัญญาที่จะถึงการบรรลุธรรม คือ จะต้องมีการปฏิบัติธรรม อะไรไปฏิบัติ ปัญญานั่นเองที่ปฏิบัติหน้าที่รู้ความจริง ปัญญารู้อะไรก็รู้สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ในป่า หรือ ในเมือง ก็ไม่ต่างกัน ตรงที่ต่างก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ หากแต่ว่า หากอยู่ในสำนักปฏิบัติ ในที่เงียบสงัด มีในป่า เป็นต้น แต่ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะการบรรลุธรรมไม่ใช่อยู่ที่สถานที่เงียบสงัด เพราะใจไม่สงัดจากอกุศลเลย แม้อยู่ในที่เงียบแต่ใจก็หวั่นไหวไปแล้วในอกุศลที่เกิดขึ้น คิดถึงเพื่อน คิดถึงญาติ คิดเรื่องอื่นๆ ได้ แม้อยู่ในป่า เพราะฉะนั้นอกุศล ก็เกิดได้แม้อยู่ในที่เงียบสงัด ดังนั้น หากขาดปัญญาเสียแล้ว อยู่ที่ไหน อย่างไร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรม

สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต ซึ่งหากศึกษาโดยความละเอียดแล้ว สมาธิ องค์ธรรมคือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิก ที่แสดงถึงลักษณะของความตั้งมั่นในขณะนั้น ซึ่งเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้นเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ ครับ เพราะฉะนั้น ขณะมีมีสมาธิอยู่แล้ว ไม่ต้องฝึก เพราะ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภทและทุกขณะ เป็น ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะนั่นเอง จึงไม่ต้องฝึกก็มีสมาธิชั่วขณะอยู่แล้วครับ และที่สำคัญ เราจะต้องแยกคำว่า สมาธิ กับ การเจริญสมถภาวนา ออกจากกันครับ คือ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิต ซึ่งตามที่กล่าวแล้ว สมาธิ เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล ดังนั้น จึงมีความตั้งมั่นที่เป็นไปในอกุศล ก็มี เรียกว่า มิจฉาสมาธิ และมีความตั้งมั่นที่เป็นไปในกุศลก็มี ที่เรียกว่า สัมมาสมาธิครับ ดังนั้น หากกล่าวคำว่า สมาธิ จึงไม่ได้ตัดสินเลยทันทีครับว่า เมื่อมีสมาธิแล้วจะเป็นสิ่งที่ดีครับ

ส่วน ถ้าเป็นสมถภาวนาหมายถึง การอบรมเจริญความสงบ ความสงบในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ความสงบ คือ สมาธิ ความไม่คิดฟุ้งซ่าน มีสมาธิ จะเป็นความสงบนะครับ แต่ ความสงบในที่นี้ มุ่งหมายถึง สงบจากกิเลส คือ เป็นกุศลในขณะนั้นนั่นเอง ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง การเจริญสมถภาวนา จึงมุ่งหมายถึง การเจริญความสงบ ที่เป็นฝ่ายกุศลเท่านั้นครับ คือ เจริญความสงบ คือ เกิดกุศลนั้นบ่อยๆ จนมีความตั้งมั่นในกุศล เป็นสัมมาสมาธิในขณะนั้นและก็เป็นความสงบที่เป็นกุศลด้วยครับ

ที่เรามักได้ยินคำว่า เอาสมถภาวนามาเป็นบาท วิปัสสนา ไม่ใช่หมายถึง ต้องเจริญสมถภาวนาก่อนแล้วถึงเจริญวิปัสสนา แต่ความหมายคือ สมถภาวนาที่เจริญอยู่ ก็ต้องมีจิต จิตที่เป็นสมถภาวนาอยู่นั้น เป็นอารมณ์ หรือ เป็นที่ตั้งให้สติและปัญญาของวิปัสสนาได้ครับ ดังนั้น ถ้าหากขาดการศึกษาขั้นการฟัง ในเรื่องของสภาพธรรม ในส่วนของการเจริญวิปัสสนาแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้เลย แม้จะเจริญสมถภาวนามากเพียงไรก็ตามครับ

คำว่า เป็นบาท บาทในที่นี้ หมายถึง เป็นอารมณ์ หรือ เป็นสิ่งที่ถูก สติและปัญญาของการเจริญวิปัสสนารู้ การเจริญวิปัสสนา หรือ เจริญสติปัฏฐาน เมื่อสติและปัญญาเกิดขึ้น ย่อมจะต้องมี สิ่งที่ถูก สติและปัญญารู้ ซึ่งจะต้องเป็นปรมัตถธรรมที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน หรือ การเจริญวิปัสสนา คือ จิต เจตสิกและรูปนั่นเอง อารมณ์ หรือ สิ่งที่สติและปัญญารู้ เราเรียกว่า เป็นบาท ของวิปัสสนา คือ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั่นเอง ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

อุตุ ปุคคล โภชนะ สัปปายะ

ข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง [ปฐมสัปปายสูตร ที่ ๙]

ข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง [ทุติยสัปปายสูตร ที่ ๑๐]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ต้องเริ่มต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ไม่สามารถที่จะปฏิบัติถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้เลย มีแต่ปฏิบัติผิด เพิ่มพูนความไม่รู้ ความติดข้องและความเห็นผิดให้มีมากขึ้น ได้ยินคำว่า สมาธิ ก็จะไปนั่งสมาธิ ไปทำอะไรก็ไม่รู้ เป็นต้น ทั้งหมดเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจทั้งนั้น ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะโดยนัยใดก็ตาม ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่ให้ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความติดข้องต้องการ ด้วยความเห็นผิด เป็นต้น มีแต่เพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องฟัง ต้องศึกษาไตร่ตรองในเหตุในผล ตามความเป็นจริง เพราะทุกขณะเป็นธรรม มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด การรู้สภาพธรรม ก็รู้ในสิ่งที่มีจริง เหล่านี้ ที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม

การศึกษาตามหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นไปตามลำดับ กล่าวคือ ผู้ศึกษาต้องฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก่อน ซึ่งเป็นการศึกษาในขั้นของปริยัติ (ปริยัติ หมายถึง การรอบรู้ในพระธรรมคำสอน) ถ้าหากไม่ฟังแล้วความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อฟังเข้าใจแล้ว จึงมีการน้อมประพฤติปฏิบัติตามคำสอน (ซึ่งไม่มีตัวตนที่ปฏิบัติแต่เป็นธรรมปฏิบัติ หน้าที่ของธรรม คือ สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ) เมื่อปฏิบัติตามคำสอนจึงจะมีผลคือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมละกิเลสได้ตามลำดับขั้น (เป็นขั้นปฏิเวธ คือการแทงตลอด การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม) ปฏิเวธจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และการปฏิบัติอย่างถูกต้องจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง

พระธรรม เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้ว ตั้งแต่ชาติปางก่อนเท่านั้น ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่ได้สะสมบุญมา ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม พระธรรมย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าสำหรับเขา [ธรรม ไม่ได้สาธารณะกับทุกคน] ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้องนั้น มีน้อยมากอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น กิจที่ควรทำ ก็คือ ฟังพระธรรม ต่อไป ไม่ขาดการฟังพระธรรมครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 9 ม.ค. 2557

ที่ อ. ผเดิม กล่าวว่า

"ที่เรามักได้ยินคำว่า เอาสมถภาวนามาเป็นบาท วิปัสสนา ไม่ใช่หมายถึง ต้องเจริญสมถภาวนาก่อนแล้วถึงเจริญวิปัสสนา แต่ความหมายคือ สมถภาวนาที่เจริญอยู่ ก็ต้องมีจิต จิตที่เป็นสมถภาวนาอยู่นั้น เป็นอารมณ์ หรือ เป็นที่ตั้งให้สติและปัญญาของวิปัสสนาได้ ครับ"

และ "คำว่า เป็น บาท บาทในที่นี้ หมายถึง เป็นอารมณ์ หรือ เป็นสิ่งที่ถูก สติและปัญญาของการเจริญวิปัสสนารู้"

ผมเข้าใจว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่มีสมถภาวนาเป็นบาทนั้น น่าจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการเข้าและออกฌาน เป็นอย่างยิ่งนะครับ เนื่องจากสติที่ระลึกไปในจิตที่สงบในขั้นฌานได้ ต้องเป็นสติที่เกิดต่อจากฌานจิตในทันที จึงสามารถระลึกสภาวะของฌานจิตที่เพิ่งดับไปได้ และในขณะที่สติปัฏฐานเกิดนั้น จิตขณะนั้นไม่น่าจะเป็นฌานจิตด้วย เนื่องจากฌานจิตดำรงอยู่ด้วยความสงบ สติในฌานจิตย่อมไม่มีกำลังพอที่จะเป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหมครับ

ดังนั้น การที่สติปัฏฐานจะระลึกรู้จิตอันเป็นฌานจิตให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ย่อมต้องเกิดดับสลับกันไปของฌานจิตและวิปัสนาญานจิตด้วยความคล่องแคล่วของผู้เจริญไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 9 ม.ค. 2557

จากคำถามที่ว่า

★ ผมเข้าใจว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่มีสมถภาวนาเป็นบาทนั้น น่าจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการเข้าและออกฌาน เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสติที่ระลึกไปในจิตที่สงบในขั้นฌานได้ ต้องเป็นสติที่เกิดต่อจากฌานจิตในทันที จึงสามารถระลึกสภาวะของฌานจิตที่เพิ่งดับไปได้ และในขณะที่สติปัฏฐานเกิดนั้น จิตขณะนั้นไม่น่าจะเป็นฌานจิตด้วย เนื่องจากฌานจิตดำรงอยู่ด้วยความสงบ สติในฌานจิตย่อมไม่มีกำลังพอที่จะเป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหมครับ

» สำหรับ ผู้ที่ได้ทั้ง สมถภาวนา และ วิปัสสนา โดย มี ฌานจิต (สมถภาวนา) เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ผู้นั้นต้องมีปัญญามาก ดั่งเช่น มหาสาวก ๘๐ รูป เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนน้อยที่จะได้ทั้ง สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ที่จะมี ฌานจิต เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะต้องมีปัญญามาก และ อบรมสติปัฏฐานอย่างคล่องแคล่วชำนาญ ดั่งเช่น คุณผู้ร่วมเดินทางกล่าวไว้ถูกต้องแล้ว ครับ

และ จากคำถามที่ว่า

★ ดังนั้น การที่สติปัฏฐานจะระลึกรู้จิตอันเป็นฌานจิตให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ย่อมต้องเกิดดับสลับกันไปของฌานจิตและวิปัสนาญานจิตด้วยความคล่องแคล่วของผู้เจริญ ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ครับ

» ถูกต้อง ครับ ขณะที่เป็นฌานจิต ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่เมื่อฌานจิตดับไป สติปัฏฐานสามารถเกิดต่อได้ รู้ลักษณะของฌานจิต ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ เป็นอนัตตา และ จะต้องเกิดคล่องแคล่วชำนาญ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 9 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 9 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 12 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เสขะบุรุษ
วันที่ 14 ม.ค. 2557

เพื่อความเห็นแจ้ง

พระพุทธองค์เคยอุปมาเกี่ยวกับช่างย้อมผ้า ผ้าที่เขานำมาย้อมควรเป็นผ้าที่ขาวสะอาด จึงจะสามารถย้อมสีได้ตามที่ต้องการได้ ฉันใด จิตที่อบรมดีแล้วควบคุมได้แล้วจึงจะอบรมให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริงได้ โดยไม่ถูกนิวรณ์มาครอบงำได้ เจโตวิมุติจึงทำให้เกิดปัญญาวิมุติได้ตามต้องการ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เสขะบุรุษ
วันที่ 14 ม.ค. 2557

ก๊อปมาให้ดู

อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

ว่าด้วย เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ แสดงสมถะและวิปัสสนา เมื่อโยนิโสมนสิการโดยแยบคายก็จะเห็นจุดประสงค์ของการปฏิบัติทั้ง ๒ กล่าวคือ เจริญสมถะเพื่อเจโตวิมุตติ เพื่อการอบรมจิตให้ระงับในกิเลสราคะ เพื่อยังประโยชน์ กล่าวคือ นำจิตที่ตั้งมั่น เนื่องจากสภาวะไร้นิวรณ์ และราคะ (กามฉันท์ ข้อ ๑ ในนิวรณ์ ๕) มารบกวนจากการสอดส่ายฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง หรือสภาพที่ถูกยึดมั่นไว้ด้วยอุปาทาน จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนปัญญาในการคิดพิจารณาธรรมให้เห็นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง กล่าวคือ พึงยังให้เกิดปัญญาวิมุตติขึ้นนั่นเอง จึงเป็นปัจจัยให้ละอวิชชาเป็นที่สุด.

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมถะ ที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้วย่อมเสวย ประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญา ที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้ ฯ

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชาได้จึงชื่อว่าปัญญาวิมุตติ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 16 ม.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
thilda
วันที่ 24 ม.ค. 2559
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ