ปุริสสูตร และ อัปปกสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
ในวันเสาร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗ คือ
ปุริสสูตร และ อัปปกสูตร
...จาก...
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๔๒๐, ๔๓๑
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๔๒๐
๒. ปุริสสูตร
[๓๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ที่ประทับ ครั้นแล้วจึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมกี่อย่าง เมื่อบังเกิดขึ้น ในภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย.
[๓๒๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูกร มหาบพิตร ธรรม ๓ อย่าง เมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน? ธรรม ๓ อย่าง คือ
โลภะ
โทสะ
โมหะ
ดูกร มหาบพิตร ธรรม ๓ อย่างนี้แล เมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้น เพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ สบาย.
[๓๓๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า
โลภะ โทสะ และโมหะ ที่เกิดขึ้น ในตน ย่อมฆ่าบุคคลผู้ใจบาป เหมือนขุยไผ่ ย่อมฆ่าต้นไผ่ ฉะนั้น.
อรรถกถาปุริสสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปุริสสูตรที่ ๒ ต่อไป :-
บทว่า อภิวาเทตฺวา ความว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงอภิวาทในสูตรนี้ ก็เพราะทรงถึงสรณะแล้วในสูตรก่อน.
บทว่า อชฺฌตฺตํ ได้แก่ ภายในตัวเอง อธิบายว่า เกิดขึ้นในสันดานของตน. บรรดาอกุศลมูล ๓ มีโลภะเป็นต้น โลภะ มีลักษณะละโมบ โทสะมีลักษณะขัดเคือง โมหะมีลักษณะลุ่มหลง.
บทว่า หึสนฺติ ได้แก่ เบียดเบียน ทำให้เสียหาย ทำให้พินาศ.
บทว่า อตฺตสมฺภูตา แปลว่า เกิดแล้วในตน. บทว่า ตจสารํ ว สมฺผลํ ความว่า ผลของตัวเอง ย่อมเบียดเบียน คือ ทำต้นไม้ที่มีเปลือกเป็นแก่น ไม่ว่าจะเป็นต้นไผ่หรือต้นอ้อ ให้พินาศ ฉันใด อกุศลมูลทั้งหลาย ก็เบียดเบียน คือทำให้พินาศ ฉันนั้น.
จบ อรรถกถาปริสสูตรที่ ๒
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๔๓๑
๖. อัปปกสูตร *
[๓๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง.
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญวันนี้ หม่อมฉันได้เข้าห้องส่วนตัวพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่าใด ได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ แล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ติดอยู่ในกามคุณ และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น มีจำนวนน้อยในโลก ส่วนว่าสัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ แล้ว ย่อมมัวเมา ประมาท ติดอยู่ใน กามคุณและประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นแล มีจำนวนมากมายในโลก.
[๓๔๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ถูกแล้วๆ มหาบพิตร สัตว์เหล่าใด ได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ แล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ติดอยู่ในกามคุณ และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น มีจำนวนน้อยในโลก ส่วนว่าสัตว์เหล่าใด ได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ แล้ว ย่อมมัวเมา ประมาท ติดอยู่ในกามคุณ และประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น มีจำนวนมากมายในโลก.
[๓๔๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อย แก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้กำหนัดกล้าใน โภคทรัพย์ที่น่าใคร่ มักมาก หมกมุ่นใน กามคุณ ย่อมไม่รู้สึกตัวว่าละเมิด (ประพฤติ ผิดในสัตว์พวกอื่น) เหมือนพวกเนื้อ ไม่รู้ สึกตัวว่ามีแร้วโก่งดักไว้ ฉะนั้น ผลเผ็ด ร้อน ย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้น ในภายหลัง เพราะว่ากรรมนั้น มีวิบากเลวทราม.
อรรถกถาอัปปกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอัปปกสูตรที่ ๖ ต่อไป :-
บทว่า อุฬาเร อุฬาเร ได้แก่อันประณีตและมาก.
บทว่า มชฺชนฺติ ได้แก่ เมาด้วยความเมาด้วยมานะ. บทว่า อติสารํ ได้แก่ล่วงเข้าไป.
บทว่า กูฏํ ได้แก่บ่วง.
บทว่า ปจฺฉาสํ แยกออกว่า ปจฺฉา เตสํ
จบอรรถกถาอัปปกสูตรที่ ๖
หมายเหตุ คำว่า อัปปกะ แปลว่า น้อย มีเป็นส่วนน้อย
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ปุริสสูตร
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศล เข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลถามว่า ธรรมอะไรบ้าง ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นไป เพื่อประโยชน์ แต่เป็นไปเพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า ได้แก่ ธรรมเหล่านี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ.
ข้อความโดยสรุป
อัปปกสูตร
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระเจ้าปเสนทิ โกศลเข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลถึงความดำริของตน ว่า สัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ ยิ่งๆ แล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ติดอยู่ในกามคุณ และไม่ประพฤติ ผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น มีจำนวนน้อยในโลกมีจำนวนน้อยกว่า ผู้ที่มัวเมาประมาท
พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสรับรองตามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูล ว่า เป็นความจริงอย่างนั้น.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
โลภะ ไม่รู้จักพอ [ขุททกนิกาย กามชาดก]
โลภะ ไม่เป็นประโยชน์ [ติกนิบาต เกสปุตตสูตร]
[ตอนเป็นเด็ก อยู่ไม่สุข ก็เพียงเพราะเล่นซุกซน แต่พอโตมา อยู่ไม่สุขเป็น อย่างมาก มากกว่าเด็กเสียอีก ปัญหาสารพัด เพราะกิเลสที่เกิดขึ้น
อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๕ ]
[ขณะที่อกุศลเกิด นั้น อยู่ไม่สุข แต่ที่จะอยู่เย็นเป็นสุขได้ ก็ด้วยกุศลธรรม
อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๒]
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ แล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ติดอยู่ในกามคุณ และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนน้อยในโลก มีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่มัวเมาประมาท มากจริงๆ
ขอบพระคุณและอนุโมทนา