สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนา
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
เรียนขอ คำอธิบายโดยละเอียด ดังนี้ค่ะ
๑. คำว่า “สาธุ” เป็นธัมมะอย่างไร มาจากบาลีคำใด แปลว่าอะไร
# ใครบ้างเป็นผู้ใช้ และ ใช้ในกรณีใดบ้าง
# กรุณา ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก
# ประมวลตัวอย่างที่ใช้ในปัจจุบันอย่างถูกต้องสมควร
๒. คำว่า “อนุโมทนา อนุโมทามิ อนุโมเทติ”
# หากสะกดคำไม่ถูกต้อง ช่วยแก้ไขให้ด้วยค่ะ
# เป็นธัมมะอย่างไร มาจากบาลีคำใด แปลว่าอะไร
# ใครบ้างเป็นผู้ใช้ และ ใช้ในกรณีใดบ้าง
# กรุณา ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก
# ประมวลตัวอย่างที่ใช้ในปัจจุบันอย่างถูกต้องสมควร
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ
ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)
สำหรับประกอบการศึกษาพิจารณา ทีละ “คำ”
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
สาธุ ว. ดีแล้ว ชอบแล้ว (เป็นคําที่พระสงฆ์เปล่งวาจาเพื่อยืนยันหรือรับรองพิธีทางศาสนาที่กระทําไป) ก. เปล่งวาจา แสดงความเห็นว่า ชอบแล้ว หรือ อนุโมทนาด้วย, มักใช้เข้าคู่กับ คำ โมทนา เป็น โมทนาสาธุ
ไหว้ เป็นคําบอกให้เด็กแสดงความเคารพตามธรรมเนียม กร่อนเสียง เป็น ธุ ก็มี
โมทนา ๑ [โมทะนา] ก. บันเทิง, ยินดี, พลอยยินดี
โมทนา ๒ [โมทะนา] ก. พลอยบันเทิง, พลอยยินดี. . (ตัดมาจาก อนุโมทนา)
อนุโมทนา ก. ยินดีตาม ยินดีด้วย พลอยยินดี เรียก คําให้ศีลให้พร ของ พระ ว่า คําอนุโมทนา อนุ คําประกอบหน้าศัพท์บาลีหรือสันสกฤต มีความหมายว่า น้อย เช่น อนุทิศ = ทิศน้อย ภายหลัง รุ่นหลัง เช่น อนุชน = ชนรุ่นหลัง ตาม เช่น อนุวัต = เป็นไปตาม เนืองๆ เช่น อนุศาสน์ สอนเนืองๆ คือ พรํ่าสอน
สาธุการ น. การเปล่งวาจาว่า ชอบแล้ว เมื่อเวลา เห็นควร หรือ ยกย่องสรรเสริญ เช่น แซ่ซ้องสาธุการ กล่าวสาธุการขึ้นพร้อมๆ กัน
ชื่อเพลงหน้าพาทย์ที่สําคัญยิ่ง ใช้บรรเลงในพิธีกรรมเมื่อบูชาหรืออัญเชิญ พระรัตนตรัย เทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และใช้เพื่อแสดงกิริยาน้อมไหว้ เป็นเพลงอันดับแรกของชุดโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สาธุ นี้ มีหลายความหมาย ดังนี้
1. วอนขอ
2. รับ
3. ปลอบใจ
4. ดี
อนุโมทนา หมายถึง ยินดีในกุศลที่ผู้อื่นกระทำ
ดังนั้น สาธุกับอนุโมทนา บางนัยมีความหมายเหมือนกัน บางนัยมีความหมายต่างกันครับ สาธุ กับ อนุโมทนา มีความหมายเหมือนกัน ในความหมายของสาธุ ที่แปลว่า รับ คือ รับด้วย ความยินดีในสิ่งนั้น (กุศล) รับว่าดีแล้วนั่นเอง
[เล่มที่ 73] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 1
สาธุ ใช้ในอรรถ รับ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สาธุ ภนฺเต ติ โข โส ภิกฺขุ ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทิตฺวา อนุโมทิตฺวา
ภิกษุรูปนั้น ยินดี อนุโมทนา ภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
อนุโมทนา หมายถึง พลอยยินดีชื่นชมตาม เมื่อผู้อื่นทำความดี หรือ ยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ ดังนั้น ก็คือสภาพจิตนั่นเองที่ยินดีชื่นชมในกุศลของผู้อื่น หากไม่มีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก ก็จะไม่มีสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรม ที่มีลักษณะพลอยยินดีในกุศลของผู้อื่น ดังนั้น ขณะใดที่ชื่นชมยินดีในกุศลของผู้อื่นด้วยจิตที่เป็นกุศลก็กล่าวคำว่าอนุโมทนา หรือ สาธุ หรือ โมทนา สาธุ ก็ได้ ซึ่งในความหมาย แม้คำว่า สาธุ บางนัยก็มีความหมายเหมือนกับอนุโมทนาครับ
การอนุโมทนา เป็นการชื่นชมยินดี ในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ การอนุโมทนา ย่อมเกิดจากจิตที่อ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง ขณะนั้นจึงเป็นกุศลจิต โดยที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวคำว่า อนุโมทนา ก็ได้ครับ การอนุโมทนาในกุศลจิตของผู้อื่นนั้น เป็นความประพฤติของคนดี ครับ
อีกนัยหนึ่ง การอนุโมทนา ยังหมายความรวมถึงการรับรองด้วย เช่น ในประโยคที่ว่า "ภิกษุทั้งหลายต่างอนุโมทนาสุภาษิต ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้คงที่ตรัสดีแล้ว รับรองด้วยเศียรเกล้าว่า สาธุ สาธุ (ดีล่ะ ดีล่ะ) ดังนี้แล
"ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราไม่กล่าวคำว่า อนุโมทนา หรือ กล่าวคำนั้นที่ไม่ใช่คำว่าอนุโมทนา แต่กล่าวคำว่า โมทนา หรือ สาธุ แต่สภาพธรรม คือ จิตนั้นที่ยินดีชื่นชมในกุศลของผู้อื่นนั้นไม่เปลี่ยน หรือแม้ไม่กล่าว แต่ก็มีจิตพลอยยินดีในกุศลของผู้อื่น ด้วยกุศลจิตครับ ดังนั้น ธรรมจึงเป็นสัจจะความจริง มีลักษณะและไม่เปลี่ยนแปลง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ครับ แม้กล่าวคำว่า อนุโมทนา หรือ โมทนา สาธุ หรือ สาธุ ธรรมก็ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะ ครับ จึงกลับมาที่ความเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังเกิด ครับ
- นอกจากจะใช้คำว่า อนุโมทนา แล้ว คำอื่นๆ ก็มีความหมายเหมือนกันกับคำว่าอนุโมทนา เช่น สาธุ โมทนา ขออนุโมทนา หรือ จะกล่าวเป็นคำไทยก็ได้ว่า ดีแล้วๆ ก็ได้ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน แสดงถึงความเป็นผู้ชื่นชมยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ ไม่ได้จำกัดตายตัวว่า จะต้องใช้คำใด สำคัญอยู่ที่สภาพจิตเป็นสำคัญ
-ขณะที่ อนุโมทนา เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นไป ในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่สมควรทั้งนั้น มีค่าอย่างยิ่ง เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของ การเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม และประการที่สำคัญ การอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่น ได้กระทำนั้นเป็นความประพฤติของ คนดีทั้งหลาย เป็นการสะสมกุศล ในชีวิตประจำวัน แสดงถึงความเป็นผู้ชื่นชม นิยมในความดี ขณะที่กุศลเกิดขึ้น จึงเป็นขณะที่มีค่าอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อขัดเกลาอกุศลธรรม
-ไม่ได้สำคัญที่คำพูด แต่สำคัญที่สภาพจิต ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ไม่รู้สึกชื่นชมยินดี ในกุศลของผู้อื่น ขณะนั้น ก็ไม่ใช่กุศล แม้จะกล่าวคำว่า ขออนุโมทนาก็ตาม ก็เป็นเพียงการกล่าวคำ โดยไม่ใช่สภาพจิตที่ดีงามเลย ในขณะนั้น จึงสำคัญที่สภาพจิต เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าไม่รู้จักความดี ก็จะไม่ชื่นชมในความดี แต่เพราะรู้จักความดี จึงชื่นชมในความดี ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
ขออนุโมทนา สาธุ ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สาธุ แปลว่า ดี ซึ่งกว้างขวางมาก หมายรวมถึง การเป็นคนดี ความดี สิ่งที่ดี ก็ใช้คำว่า สาธุ เช่น
[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๙
ข้อความตอนหนึ่งจาก...
"คนพาลย่อมแนะนำสิ่งไม่ควรแนะนำ ย่อมขวนขวายในกิจอันไม่ใช่ธุระ คนพาลแนะนำให้ดีได้ยาก พูดดีหวังจะให้เขาเป็นคนประเสริฐกลับโกรธ คนพาลนั้นไม่รู้วินัย การไม่เห็นคนพาลได้เป็นความดี
"นักปราชญ์แนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ไม่ขวนขวายในกิจที่มิใช่ธุระ นักปราชญ์แนะนำ ได้ง่าย พูดหวังจะให้ดีก็ไม่โกรธ นักปราชญ์ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมกับนักปราชญ์ เป็นความดี"
[เล่มที่ 62] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 43
"พระราชาผู้ชอบใจธรรม จึงจะดีงาม นรชนผู้มีเป็นปัญญา เป็นคนดี การไม่ประทุษร้ายต่อมิตร เป็นความดี การไม่ทำบาป เป็นสุข"
-“อนุโมทนา อนุโมทามิ อนุโมเทติ”
ทั้ง ๓ คำ ความหมายเหมือนกันทั้งหมด แสดงถึงสภาพจิตที่ดีงาม พลอยยินดีชื่นชมในความดีของคนอื่น
-อนุโมทนา (การอนุโมทนา)
-อนุโมทามิ (ข้าพเจ้า ขออนุโมทนา)
-อนุโมเทติ (บุคคล นั้น ย่อมอนุโมทนา)
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...