กิมัตถิยสูตร อานิสังสวรรคที่ ๑ ปฐมปัณณาสก์

 
WS202398
วันที่  6 ก.พ. 2557
หมายเลข  24428
อ่าน  2,012

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต หน้าที่ ๓บัญชีเรื่อง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
เล่ม ๑๖
ปฐมปัณณาสก์
อานิสังสวรรคที่ ๑
กิมัตถิยสูตร
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศีลที่เป็นกุศลมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ ฯ

? อวิปปฏิสาร แปลว่าอะไรครับ


อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อวิปปฏิสารมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ฯ

? ปราโมทย์ แปลว่าอะไรครับ ต่างจากปีติอย่างไร


อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปราโมทย์มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปีติมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัสสัทธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

? ปัสสัทธิ แปลว่าอะไรครับ


พ. ดูกรอานนท์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สุขมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

? สุขในที่นี้คือโสมมนัสเวทนาใช่หรือไม่ครับ


พ. ดูกรอานนท์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ยถาภูตญาณทัสสนะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

? ยถาภูตญาณทัสสนะ คืออะไรครับ


พ. ดูกรอานนท์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาวิราคะเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นิพพิทาวิราคะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ

? นิพพิทา และวิราคะ แปลว่าอะไรครับ


พ. ดูกรอานนท์ นิพพิทาวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็น
อานิสงส์

? วิมุตติญาณทัสสนะ คืออะไรครับ

ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ความปราโมทย์มีปีติเป็นผล มี
ปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาวิราคะเป็นอานิสงส์ นิพพิทาวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตโดยลำดับด้วยประการดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนจะถึง คำว่า วิมุตติญาณทัสสนะ ขออธิบายคำว่า วิมุตติก่อนครับ

คำว่า วิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้น ซึ่ง ความหลุดพ้นก็มีหลายระดับ มี 5 อย่างดังนี้ครับ

1.วิกขัมภนวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส นิวรณ์ ด้วยการข่มไว้ ด้วยกำลังของฌาน คือ สมถภาวนา

2.ตทังควิมุตติ คือ หลุดพ้นจาก ธรรมที่เป็นข้าศึกในขณะนั้น เช่น การได้วิปัสสนาญาณ บางวิปัสสนา สามารถละ หลุดพ้นจากความสำคัญว่าเที่ยง เป็นต้น

3.สมุจเฉทวิมุตติ คือ หลุดพ้นจากกิเลสที่ตัดขาดแล้ว อันหมายถึง ขณะที่เป็นมรรคจิต

4.ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ หลุดพ้นแล้วสงบ ด้วยอำนาจที่กิเลสสงบแล้ว หลังจากการละกิเลส คือ ขณะที่เป็นสามัญญผล 4 เช่น โสดาปัตติผล เป็นต้น

5.นิสสรณวิมุตติ หมายถึง พระนิพพาน หลุดพ้นคือเพราะปราศจากคือ เพราะตั้งอยู่ไกลจากกิเลสทั้งปวง

ส่วนคำว่า วิมุตติญาณทัสสนะ คือ ปัญญาที่รู้แจ้งว่าหลุดพ้นแล้วจากกิเลส โดยตรง คือปัจจเวกขณญาณ ของพระอริยบุคคล เป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑๖ เป็นวิปัสสนาญาณสุดท้ายซึ่งเป็นโลกิยะ เกิดขึ้นหลังจากมรรคจิตผลจิตในมัคควิถีดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น แล้วปัจจเวกขณญาณ เกิดต่อ คือ วิมุตติญาณทัสสะนั่นเอง อันเป็นปัญญาที่พิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว และ กิเลสที่ยังเหลืออยู่ ของพระอริยบุคคล ทั้ง 3 ขั้น (พระโสดาบัน พระสกทาคามี และ พระอนาคามี) แต่ ถ้าเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นปัญญาที่พิจารณากิเลสที่ละได้หมดสิ้นแล้ว หมดสิ้น แต่ ไม่ต้องพิจารณากิเลสที่ยังเหลือ ครับ ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มที่ วิปัสสนาญาณที่ ๑๖ -- ปัจจเวกขณญาณ

ปัจจเวกขณญาณ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของผู้รู้ คือ เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนทุกข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ควรที่พุทธศาสนิกชนจะศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง ทั้งเรื่อง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อริยสัจจ์ ๔ และพระสูตรทั้งหลายที่แสดงถึงความจริง เพราะพระอริยสาวกเมื่อรู้ความจริง ย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัด และหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงได้ทรงแสดงพระธรรมก็เพื่อให้พุทธบริษัทเกิดปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละความไม่รู้ สูงสุด คือ วิมุตติ

วิมุตติ การหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงถึงความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ขั้นรองลงมา ก็คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระโสดาบันบุคคล ตามลำดับ สำหรับกัลยาณปุถุชนทั้งหลายก็สามารถเข้าถึงแก่นแท้ได้ระดับหนึ่ง คือ การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ มีปัญญารู้หนทางที่ถูกต้อง เพื่อเป็นปัจจัยแห่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในอนาคตข้างหน้าต่อไป ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 6 ก.พ. 2557

วิมุตติเป็นปัญญาที่หลุดพ้นจากกิเลส ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
WS202398
วันที่ 7 ก.พ. 2557

( * * อวิปปฏิสาร น่าจะหมายถึง ไม่ขุ่นมัว ไม่กังวล ไม่รู้สึกผิด หรือ guilty ไม่ตำหนิตัวเอง ไม่เดือนเนื้อร้อนใจเพราะไม่ได้ทำอกุศลเพราะมีศีล * * )

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑
วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๕

พระสุทินน์เกิดวิปฏิสาร

[๑๙] ครั้งนั้น ความรำคาญ ความเดือดร้อน ได้เกิดแก่ท่านพระสุทินน์ว่า มิใช่ลาภ
ของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญนั้นแหละ เพราะความเดือดร้อนนั้นแหละ ท่านได้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจมีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาแล้ว.

จึงบรรดาภิกษุที่เป็นสหายของท่านพระสุทินน์ ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า อาวุโส
สุทินน์ เมื่อก่อนคุณเป็นผู้มีผิวพรรณ มีอินทรีย์สมบูรณ์ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง
มีน้ำมีนวล บัดนี้ ดูคุณซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาอยู่ คุณจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมังหนอ?
อาวุโสทั้งหลาย ความจริง มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระสุทินน์ค้าน
แล้วแถลงความจริงว่า เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่ ผมได้เสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกาผมจึงได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต ดังนี้.
อาวุโส สุทินน์ จริง การที่คุณบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้
แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตนั้น พอที่คุณจะรำคาญ พอที่คุณจะเดือดร้อน. อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น มิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจักคิดเพื่อความประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่ง
ราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อนิพพานมิใช่หรือ? ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
WS202398
วันที่ 7 ก.พ. 2557

( * * อวิปปฏิสาร น่าจะหมายถึง ไม่ขุ่นมัว ไม่กังวล ไม่รู้สึกผิด หรือ guilty ไม่ตำหนิตัวเอง ไม่เดือนเนื้อร้อนใจเพราะไม่ได้ทำอกุศลเพราะมีศีล * * )

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑
วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๕

พระสุทินน์เกิดวิปฏิสาร

[๑๙] ครั้งนั้น ความรำคาญ ความเดือดร้อน ได้เกิดแก่ท่านพระสุทินน์ว่า มิใช่ลาภ
ของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญนั้นแหละ เพราะความเดือดร้อนนั้นแหละ ท่านได้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจมีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาแล้ว.

จึงบรรดาภิกษุที่เป็นสหายของท่านพระสุทินน์ ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า อาวุโส
สุทินน์ เมื่อก่อนคุณเป็นผู้มีผิวพรรณ มีอินทรีย์สมบูรณ์ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง
มีน้ำมีนวล บัดนี้ ดูคุณซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาอยู่ คุณจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมังหนอ?
อาวุโสทั้งหลาย ความจริง มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระสุทินน์ค้าน
แล้วแถลงความจริงว่า เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่ ผมได้เสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกาผมจึงได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต ดังนี้.
อาวุโส สุทินน์ จริง การที่คุณบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้
แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตนั้น พอที่คุณจะรำคาญ พอที่คุณจะเดือดร้อน. อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น มิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจักคิดเพื่อความประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่ง
ราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อนิพพานมิใช่หรือ? ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
WS202398
วันที่ 7 ก.พ. 2557

นัยของ ปราโมทย์

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๙
สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้าที่ ๖๙

สันโดษ

[๑๒๔] ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ? ดูกรมหาบพิตร ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้องเธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรมหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เองดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.
[๑๒๕] ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษอัน
เป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาทมีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ละอุทธัจจะกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
อุปมานิวรณ์
[๑๒๖] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงาน
ของเขาจะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะพึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้และมีกำลังกาย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนักบริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจาก
เรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหน
ตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่นเป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาสพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ พึงเดินทางไกลกันดาร
หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

ดูกรมหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้
เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ