ปฏิบัติบูชา

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  9 ก.พ. 2557
หมายเลข  24444
อ่าน  7,324

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ปฏิบัติบูชา [อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร]

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 421

อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร

ท่านอธิบายไว้ อย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ เรา ตถาคต หมอบอยู่ แทบบาทมูล ของ พระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร ประชุม ธรรม ๘ ประการ เมื่อจะกระทำอภินิหาร มิใช่กระทำอภินิหาร เพื่อประโยชน์แก่ พวงมาลัย ของหอม และ ดุริยางค์สังคีต มิใช่บำเพ็ญบารมีทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่ สิ่งเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น เรา ตถาคต ไม่ชื่อว่า เขาบูชาแล้ว ด้วยการบูชาอันนี้เลย.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสรรเสริญ “วิบาก” ที่แม้ พระพุทธญาณ ก็กำหนดไม่ได้ ของการบูชาที่บุคคล ถือเพียง ดอกฝ้าย ดอกเดียว ระลึกถึงพระพุทธคุณบูชา แล้วไว้ในที่อื่น ในที่นี้ กลับ ทรงคัดค้าน การบูชาใหญ่อย่างนี้.

ตอบว่า เพราะ

(๑) เพื่อจะทรงอนุเคราะห์บริษัท อย่างหนึ่ง

(๒) เพื่อประสงค์ จะให้พระศาสนาดำรงยั่งยืน อย่างหนึ่ง.

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่พึงคัดค้านอย่างนั้นไซร้ ต่อไปในอนาคต พุทธบริษัท ก็ไม่ต้องบำเพ็ญศีล ในฐานะที่ศีลมาถึง จักไม่ให้สมาธิบริบูรณ์ ในฐานะที่สมาธิมาถึง ไม่ให้ถือห้อง คือ วิปัสสนา ในฐานะที่วิปัสสนามาถึง ชักชวนแล้ว ชักชวนอีก ซึ่งอุปัฏฐาก กระทำการบูชาอย่างเดียวอยู่.

จริงอยู่ ชื่อว่า “อามิสบูชา” นั้น ไม่สามารถจะดำรงพระศาสนา แม้ในวันหนึ่งบ้าง แม้ชั่วดื่มข้าวยาคูครั้งหนึ่งบ้าง.

จริงอยู่ วิหารพันแห่ง เช่น มหาวิหาร เจดีย์พันเจดีย์ เช่น มหาเจดีย์ ก็ดำรงพระศาสนาไว้ไม่ได้

บุญูผู้ใด ทำไว้ ก็เป็นของผู้นั้น ผู้เดียว

ส่วน “สัมมาปฏิบัติ” ชื่อว่า เป็นบูชา ที่สมควรแก่พระตถาคต เป็น ความจริง “ปฏิบัติบูชา” นั้น ชื่อว่า ดำรงอยู่แล้ว สามารถ ดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วย

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดง”ปฏิบัติบูชา” นั้น จึงตรัสว่า โย โข อานนฺท เป็นต้น


ขอความอนุเคราะห์ แปลจาก ภาษาธรรม เป็นภาษาไทย แต่ละวรรค แต่ละบรรทัด แต่ละคำ (ยิ่งละเอียด ก็ยิ่งดีค่ะ) และก็โดยสรุปด้วยนะคะ แม้ว่า ไม่อยู่ในฐานะ ที่จะ รู้หรือเข้าใจ แต่คิดว่า รสพระธรรม ก็จะมี ก็จะปรากฏ โดยอรรถาธิบายต่างๆ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ย่อมจะเป็นผู้รู้คุณ ของ ผู้อื่น ไม่ว่ามาก หรือ น้อย จึงทำการบูชา ในประการต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดว่า จะเป็นการบูชาด้วยสิ่งใด ซึ่ง การบูชา มี 2 อย่าง คือ อามิสบูชา และ ธรรมบูชา หรือ ปฏิบัติบูชา

-อามิส บูชา คือ การบูชา ด้วยวัตถุสิ่งของต่างๆ

-ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยคุณความดี

ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ย่อมบูชา ผู้มีพระคุณสูงสุด คือ ผู้ที่ให้ความเข้าใจพระธรรม มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวกทั้งหลาย มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขาอุบาสิกา เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็ยังบูชาพระพุทธเจ้า ทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา คือ ตอนเย็น ย่อมถือดอกไม้ ของหอม ไปบูชาพระพุทธเจ้า ที่กุฏิของพระพุทธเจ้า ดังเช่น ที่ พระวิหารเชตวัน กุฏิของพระพุทธเจ้า เรียกว่า คันธกุฎี คือกุฎีที่มีกลิ่นหอม เพราะ อาศัย ผู้มีศรัทธา ในพระพุทธเจ้า ย่อมบูชา พระพุทธองค์ด้วยดอกไม้ ของหอมประการต่างๆ หากไม่มีศรัทธา กุศลจิต ย่อมจะไม่มีการบูชาด้วยอามิสเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ย่อมไม่ละเลย และ บูชาพระพุทธเจ้าทั้งอามิส และ ปฏิบัติบูชา และ หลังจากบูชาด้วยดอกไม้ ของหอมแล้ว ท่านเหล่านั้นก็ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า ที่พระวิหารเชตวัน อันเป็นบูชา ด้วย ปฏิบัติบูชา ครับ

ดังเช่นที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวว่า

พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เลิศประเสริฐสูงสุด ควรไหมที่จะบูชาพระพุทธองค์ แม้อามิสบูชา ก็ควรเลิศที่สุด และ หากไม่มีศรัทธาแล้ว ก็คงไม่มีดอกไม้สักเพียงช่อเดียว แต่เพราะมีศรัทธา มีกุศลจิต จึงมีการจัดดอกไม้ให้ บูชาพระพุทธเจ้าให้สมควรกับบุคคลที่เลิศที่สุด

อย่างไรก็ดี การบูชาด้วยคุณความดี โดยเฉพาะความเข้าใจพระธรรม เป็นการบูชาที่เลิศ เพราะ นำมาซึ่งการดับกิเลส และ เป็นพุทธประสงค์ของพระองค์ ในการที่พระองค์บำเพ็ญบารมีมา เพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ก็เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจธรรม บรรลุธรรม อันจะเป็นการหมดทุกข์ดังเช่นพระพุทธองค์

บูชาด้วยปัญญา ปัญญา ก็จะทำให้เจริญกุศลประการต่างๆ ในการบูชาทั้งอามิส และธรรม ครับ ปฏิบัติบูชา หรือ ธรรมบูชา นี้ เป็นบูชาสูงสุดด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ท่านจะบูชา...พระรัตนตรัย...ด้วยอะไร

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์หรือสาระสำคัญของการมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่สามารถเข้าใจพระธรรมโดยตลอดทั้งหมด แต่เมื่อศึกษาในส่วนใด แล้ว ประมวลสาระสำคัญ เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกได้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่จะ เป็นไปได้ ตามกำลังปัญญาของแต่ละคน แม้ในเรื่องของการบูชา ๒ อย่าง ที่เป็นอามิสบูชา กับ ธรรมบูชา (หรือปฏิบัติบูชา สัมมาปฏิบัติ)

พระบารมีทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสะสมอบรมมา ตั้งแต่เริ่มตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพื่อที่จะได้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งยากแสนยากที่จะรู้ได้ แล้ว ทรงแสดงความจริงให้สัตว์โลกได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามพระองค์ด้วย จากที่มากไปด้วยกิเลส มากไปด้วยความไม่รู้ ก็สามารถมีความเข้าใจถูกเห็นถูกจนกระทั่งดับกิเลสตามลำดับขั้น เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงพระธรรมประกาศความจริง เป็นระยะเวลานานถึง ๔๕ พรรษา นับคำไม่ถ้วน ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรม ตามความเป็นจริงของผู้ที่เป็นสาวกหรือพุทธบริษัท จึงกล่าวได้ว่าพระบารมีทั้งหมด ที่พระองค์ทรงสะสมอบรมมา ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง พุทธประสงค์ คือ ทรงแสดงพระธรรม เกื้อกูลสัตว์โลกให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ตามความเป็นจริง

สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ก็จะไม่ละเลยโอกาสของกุศลในชีวิตประจำวัน แม้การบูชา ก็เป็นกุศล เป็นความดี ไม่ได้มีข้อบังคับว่า ไม่ให้บูชาด้วยอามิส เพราะสามารถที่่จะกระทำได้ เป็นกุศล เพราะสำหรับผู้ที่เข้าใจธรรมแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่บูชาด้วยอามิส แต่ก็มีการฟังพระธรรม มีการศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ยิ่งขึ้น ด้วย

ความเข้าใจถูกเห็นถูก ของแต่ละคนเท่านั้นที่จะรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาคือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดำรงมั่นคงสืบต่อไป ได้ ดังนั้น จึงสำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงอย่างแท้จริง และ ผู้ที่เป็นสาวกนั้น ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตามกำลังปัญญาของตนเอง สูงสุด คือ เป็นอรหันต์ รองลงมาก็เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่เป็นพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน หรือ แม้ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล แต่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมก็ไม่ไร้ผล ก็สะสมสืบต่อเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้าได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขณะที่สติปัฏฐานเกิดเป็นปฏิบัติบูชา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอเรียนถามต่อเนื่องนะคะ

๑. ประชุม ธรรม ๘ ประการ เมื่อจะกระทำอภินิหาร หมายถึงอะไร อย่างไร

๒. ข้อความต่อไปนี้ หมายความว่าอย่างไร

มิใช่กระทำอภินิหาร เพื่อประโยชน์แก่ พวงมาลัย ของหอม และ ดุริยางค์สังคีต มิใช่บำเพ็ญบารมีทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่ สิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เรา ตถาคต ไม่ชื่อว่า เขาบูชาแล้ว ด้วยการบูชาอันนี้เลย

๓. ข้อความต่อไปนี้ หมายความว่าอย่างไร

[ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสรรเสริญ “วิบาก” ที่แม้ พระพุทธญาณ ก็กำหนดไม่ได้ ของการบูชาที่บุคคล ถือเพียง ดอกฝ้าย ดอกเดียว ระลึกถึงพระพุทธคุณบูชา แล้วไว้ในที่อื่น]

๔. ข้อความต่อไปนี้ มีที่มาและรายละเอียดอย่างไร (ในที่นี้ กลับ ทรงคัดค้าน การบูชาใหญ่อย่างนี้)

๕. ข้อความต่อไปนี้ หมายความว่าอย่างไร

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่พึงคัดค้านอย่างนั้นไซร้ ต่อไปในอนาคต พุทธบริษัท ก็ไม่ต้องบำเพ็ญศีล ในฐานะที่ศีลมาถึง จักไม่ให้สมาธิบริบูรณ์ ในฐานะที่สมาธิมาถึง ไม่ให้ถือห้อง คือ วิปัสสนา ในฐานะที่วิปัสสนามาถึง ชักชวนแล้ว ชักชวนอีก ซึ่งอุปัฏฐาก กระทำการบูชาอย่างเดียวอยู่

๖. หมายความว่าอย่างไรคะ และ สัมพันธ์กับ ข้อความสีน้ำเงิน อย่างไร สำหรับข้อความที่ว่า “บุญูผู้ใด ทำไว้ ก็เป็นของผู้นั้น ผู้เดียว”

[จริงอยู่ วิหารพันแห่ง เช่น มหาวิหาร เจดีย์พันเจดีย์ เช่น มหาเจดีย์ ก็ดำรงพระศาสนาไว้ไม่ได้ บุญูผู้ใด ทำไว้ ก็เป็นของผู้นั้น ผู้เดียว]

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2557

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ธรรมสโมธาน 8 ประการ [วิภังค์]

มิใช่กระทำอภินิหาร หมายถึง ไม่ใช่ บำเพ็ญ คุณธรรม บารมี

มิใช่บำเพ็ญบารมีทั้งหลาย หมายถึง ไม่ใช่เจริญกุศล ที่เป็นบารมี เขาบูชาแล้ว หมายถึง ทำการตอบแทน ระลึกถึงคุณ ที่แม้ พระพุทธญาณ ก็กำหนดไม่ได้ หมายถึง แม้ ปัญญาของพระพุทธเจ้าก็ยากต่อการคำนวณ

ทรงคัดค้าน หมายถึง ทรงปฏิเสธ

ก็ไม่ต้องบำเพ็ญศีล ในฐานะที่ศีลมาถึง

จักไม่ให้สมาธิบริบูรณ์ ในฐานะที่สมาธิมาถึง

ไม่ให้ถือห้อง คือ วิปัสสนา ในฐานะที่วิปัสสนามาถึง

หมายถึง ถ้าให้บูชาด้วยอามิสอย่างเดียว ก็จะไม่ปฏิบัติบูชา มีการเจริญ สมถ วิปัสสนา เป็นต้น


ก็ดำรงพระศาสนาไว้ไม่ได้ หมายถึง ทำให้อายุพระพุทธศาสนา ยืนนาน

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
mon-pat
วันที่ 9 ก.พ. 2557

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประวิทย์พลีไพร
วันที่ 9 ก.พ. 2557

จากประโยคข้างบน ที่แม้ พระพุทธญาณ ก็กำหนดไม่ได้ ของการบูชา หมายความว่าอย่างไรครับ หมายความว่าพระพุทธญาณ กำหนดรู้ไม่ได้อย่างนั้นหรอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2557

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

มุ่งหมายถึง การบูชาด้วยอามิส ต่อพระรัตนตรัย ก็มีผลนับประมาณไม่ได้ แม้แต่พุทธญาณ ที่รู้ด้หมดสิ้น ก็กำหนดได้ยากในผลของบุญ คือ ผลบุญมากจริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ประวิทย์พลีไพร
วันที่ 10 ก.พ. 2557

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 10 ก.พ. 2557

.....[จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่พึงคัดค้านอย่างนั้นไซร้]…..

ต่อไปในอนาคต พุทธบริษัท ก็ไม่ต้องบำเพ็ญศีล ในฐานะที่ศีลมาถึง จักไม่ให้สมาธิบริบูรณ์ ในฐานะที่สมาธิมาถึง ไม่ให้ถือห้อง คือ วิปัสสนา ในฐานะที่วิปัสสนามาถึง

…[ชักชวนแล้ว ชักชวนอีก ซึ่งอุปัฏฐาก กระทำการบูชาอย่างเดียวอยู่.]…

ขอความอนุเคราะห์เรียนถามความละเอียดเพิ่มเติมนะคะว่า ข้อความต่อไปนี้ หมายความว่าอย่างไร

๑. ถือห้อง คือ วิปัสสนา (ห้อง คืออะไร ถือ คืออะไร)

๒. ในฐานะที่ วิปัสสนา มาถึง (จะหมายถึง โอกาสที่ควรเจริญวิปัสสนา มาถึง แต่ก็ละเลยไม่เจริญวิปัสสนา หมายความอย่างนี้หรือเปล่าคะ)

๓. ชักชวนแล้ว ชักชวนอีก ซึ่ง อุปัฏฐาก และ อุปัฏฐาก ในที่นี้ หมายความอย่างไร (จะหมายความว่า ชักชวนกัน กระทำการบูชา ด้วยอามิสบูชา เพียงอย่างเดียวแต่ไม่ ปฏิบัติบูชา ได้แก่ ไม่บำเพ็ญ ศีล สมาธิ วิปัสสนา หมายความอย่างนี้หรือเปล่าคะ)

๔. กระทำการบูชาอย่างเดียวอยู่ (อย่างเดียว หมายถึง อามิสบูชา เป็น ประการเดียวที่กระทำอยู่ แต่ไม่ปฏิบัติบูชา ได้แก่ ไม่บำเพ็ญ ศีล สมาธิ วิปัสสนา หมายความอย่างนี้หรือเปล่าคะ)

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
papon
วันที่ 12 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
lovedhamma
วันที่ 12 ก.พ. 2557

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
สมสัก
วันที่ 28 ก.ค. 2559

การบูชาสาทุๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
peem
วันที่ 15 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ