กิเลสในระหว่างฝันจะสะสมเป็นอนุสัยหรือไม่

 
สิริพรรณ
วันที่  22 ก.พ. 2557
หมายเลข  24511
อ่าน  2,515

เรียนถามท่านผู้รู้ว่า

1. เหตุที่ฝันไม่ดีเพราะสะสมอกุศลจิตไว้เรื่องนั้นๆ ใช่ไหมคะ ทั้งที่ตอนไม่นอนหลับก็คิดว่าเลิกโกรธแล้ว ทำใจได้แล้ว ทำไมตอนฝันยังโกรธเรื่องนั้น จนฝันว่าเถียงกันใหญ่โต แสดงว่าความจริงยังมีความไม่ชอบเรื่องนั้นค้างคาอยู่ และหากได้พบสถานการณ์นั้นก็ต้องโกรธอีกใช่ไหมคะ

2.อกุศลจิต หรือกิเลสทั้งหลายในความฝัน จะสะสมเป็นอนุสัยได้หรือไม่

3.ผู้ที่ไม่มีกิเลสจึงไม่ฝันร้ายเพราะอะไรคะ

ขอบพระคุณค่ะ


Tag  ฝัน  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สิริพรรณ
วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอถามเพิ่มเติมว่า ถ้าจุติจิตตอนฝันจะไปตามเรื่องที่ฝันหรือเปล่าคะ เช่นมีโทสะในฝันก็ไปนรกหรือไม่คะ หรือฝันเห็นคนที่รักก็ไปอยู่ที่มีราคะหรือไม่

รบกวนให้ความกระจ่างด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. เหตุที่ฝันไม่ดีเพราะสะสมอกุศลจิตไว้เรื่องนั้นๆ ใช่ไหมคะ ทั้งที่ตอนไม่นอนหลับก็คิดว่าเลิกโกรธแล้ว ทำใจได้แล้ว ทำไมตอนฝันยังโกรธเรื่องนั้น จนฝันว่าเถียงกันใหญ่โต แสดงว่าความจริงยังมีความไม่ชอบเรื่องนั้นค้างคาอยู่ และหากได้พบสถานการณ์นั้นก็ต้องโกรธอีกใช่ไหมคะ

➢ ขณะที่กำลังฝัน ไม่พ้นไปจากนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ที่ฝัน และขณะที่ฝันต้องไม่ใช่ขณะที่หลับสนิท เพราะถ้าเป็นขณะที่หลับสนิท จิตเป็นภวังค์ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใดทางหนึ่งใน ๖ ทาง จึงไม่ฝัน เพราะในขณะที่ฝัน ต้องเป็นวิถีจิต (จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทาง) แต่ไม่ใช่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เป็นวิถีจิตทางใจ เท่านั้น ที่ฝัน เป็นกุศล บ้าง เป็นอกุศล บ้าง ตามการสะสม ซึ่งขณะที่กำลังฝันนั้น เป็นการคิดนึกถึงเรื่องบัญญัติของสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เป็นต้น นั่นเอง ในขณะที่ฝัน จิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่มีเราที่ฝัน ซึ่งเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น ส่วนเรื่องราวที่ฝัน ไม่มีจริง

การฝันไม่ดี ฝันด้วยอกุศลจิต เพราะ ยังมีกิเลส ที่มีอยู่ และ จำเรื่องราวต่างๆ ไว้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้คิดนึกด้วยกิเลส ที่เป้นความฝันทางใจได้ เป็นธรรมดา ครับ ดังนั้น ฝันว่ายังโกรธได้ เพราะ ยังมีโทสะ ที่ยังละไม่ได้ และ เคยโกรธในเรื่องนั้น ทำให้มาฝันต่อ อันมีอกุศลจิต กิเลสเป็นเหตุ ครับ และ หากได้พบเหตุการณ์นั้น หรือ เหตุการณ์อื่นก็ตามก็มีปัจจัยให้เกิดความโกรธได้อีก ครับ

2.อกุศลจิต หรือกิเลสทั้งหลายในความฝัน จะสะสมเป็นอนุสัยได้หรือไม่

อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยปัญญาระดับมรรคจิตครับ

อนุสัย มี 7 ประการคือ

๑.กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม

๒.ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ

๓.ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด

๔.วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย

๕.มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว

๖.ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ

๗.อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้

ซึ่งขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ก็สะสมเป็นกิเลสที่นอนเนื่อง ต่อไป เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝันด้วยอกุศลจิต ขณะนั้น ก็สะสมอนุสัยในอกุศลประเภทนั้น ครับ เช่น ฝันด้วยอกุศลที่เป็นความโกรธ ก็สะสม อนุสัย คือ ปฏิฆานุสัย ครับ

3.ผู้ที่ไม่มีกิเลสจึงไม่ฝันร้ายเพราะอะไรคะ

➢ ผู้ที่ไม่มีกิเลส ไม่ฝันร้าย และ ไม่ฝันดี คือ ไม่ฝันเลย เพราะ ความฝันเกิดจากการที่ยังมีกิเลส ยังมีความวิปลาส ความฝันจึงเกิดจากการปรุงแต่งของผู้ที่มีกิเลสอยู่ทำให้เกิดความฝันที่เป็นกุศล และ อกุศลครับ ส่วนพระอรหันต์ท่านดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ท่านละวิปลาสได้ คือ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่เป็นอกุศลจิต จึงไม่มีความฝันที่เป็นความวิปลาสได้ เมื่อความฝันนั้นเป็นอกุศลครับ และท่านก็ละความยินดี พอใจติดข้องในสิ่งต่างๆ และอวิชชาความไม่รู้ และกิเลสประการต่างๆ ทั้งสิ้น จิตของท่านจึงมีเพียงชาติวิบากและกิริยา ไม่เป็นกุศล หรือ อกุศลเลยครับ เพราะฉะนั้น ในเมื่อความฝัน เป็นจิตชาติกุศล หรือ อกุศล พระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต หรือ อกุศลจิตเกิดแล้ว จึงไม่ฝันนั่นเองครับ

เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ละวิปลาสได้ทั้งหมด คือ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนตามความเป็นจริงและอกุศลได้หมดสิ้น จึงไม่ฝันอีกต่อไปครับ

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 102

ข้อความบางตอนจากอรรถกถาพระวินัย

...... ก็แลความฝันทั้ง ๔ อย่างนี้นั้น พระเสขะและปุถุชนเท่านั้น ย่อมฝันเพราะยังละวิปลาสไม่ได้. พระอเสขะทั้งหลาย ย่อมไม่ฝันเพราะท่านละวิปลาสได้แล้ว.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

@ ถ้าจุติจิตตอนฝันจะไปตามเรื่องที่ฝันหรือเปล่าคะ เช่นมีโทสะในฝัน ก็ไปนรกหรือไม่คะ หรือฝันเห็นคนที่รักก็ไปอยู่ที่มีราคะหรือไม่

➢ หากจุติเกิดในขณะที่ฝัน ด้วยอกุศลจิต ชวนจิตสุดท้าย 5 ขณะ เป็นอกุศล ก็ไปอบายภูมิ ครับ แต่ ถ้า ขณะที่ฝัน แล้วเกิดจุติจิตต่อ ชวนสุดท้าย 5 ขณะ ก่อนจุติ เป็นกุศลจิต ก็เกิดในสุคติภูมิ ซึ่งก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สิริพรรณ
วันที่ 22 ก.พ. 2557

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ เป็นคำตอบที่ได้ประโยชน์มาก

ขออนุโมทนาในกุศลจิตแห่งการให้ธรรมทาน อันเป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรมของท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง และเป็นจริงในชีวิตประจำวันด้วย ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริงเลย แม้แต่ ฝัน ก็ไม่พ้นไปจากธรรม เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เราเลย เป็นเรื่องของบุคคลผู้มีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่สามารถมีความเข้าใจถูกเห็นถูกได้เลย และชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ยากที่จะพ้นไปจากอกุศล อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน ทุกครั้งที่อกุศลเกิดขึ้น ก็สะสมสืบต่อไป และจะมีกำลังขึ้น ด้วย ซึ่งจะประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลย เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแม้ในขณะต่อไป เพราะธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ที่สำคัญและเป็นประโยชน์ที่สุด ก็คือ สะสมคุณความดี เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะสภาพธรรมฝ่ายดีเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องขัดเกลาละคลายสิ่งที่ไม่ดี ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 22 ก.พ. 2557

ฝันเป็นอกุศลจิต เพราะ เห็น สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นอกุศล และ มีกิเลสด้วย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 24 ก.พ. 2557

กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยชี้แจงให้หายสงสัย และชัดเจนว่า อกุศลมีมากมายในชีวิตประจำวัน จึงต้องฟังพระธรรมให้มากกว่าฟังสิ่งอื่น

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ