การใช้ยาเพื่อเป็นการฆ่ากิเลสนี่ผิดไหม

 
ของสมสุด
วันที่  18 มี.ค. 2557
หมายเลข  24602
อ่าน  1,259

การใช้ยาเพื่อลดความต้องการทางเพศให้ความต้องการทางใจลดหายลงนี่ผิดไหม

ประการแรกความต้องการทางเพศไม่ใช่โรคแต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์

ประการสองจะเป็นการทำร้ายตัวเองไหม เพราะยานั้นอาจมีผลข้างเคียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ประการที่สามจะเป็นการฝืนธรรมชาติไหม

แต่จุดมุ่งหมายทำเพื่อตัดขาดกิเลสทางกามราคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เป็นนามธรรม เป็นอกุศลเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต กิเลสจะเกิดกับจิตชาติอื่นไม่ได้ ต้องเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลเท่านั้น นี้คือ ความเป็นจริงของธรรมที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และประการที่สำคัญ ไม่มีใครสามารถดับกิเลสได้ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่สามารถดับกิเลสได้ด้วยการเป็นตัวตน ด้วยความอยาก ความต้องการ การที่จะเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรม เห็นกิเลสและโทษภัยของกิเลสตามความเป็นจริง ต้องเป็นปัญญา

ชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังเป็นปุถุชน หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมจะมีกิเลส อกุศลเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ ในชาตินี้เท่านั้น แต่ว่าได้เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ เพราะได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน จึงเป็นผู้ไหลไปด้วยอำนาจของกิเลส ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า กิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นศัตรูภายใน เป็นข้าศึกภายใน เป็นมลทินของใจ ไม่นำประโยชน์สุขใดๆ มาให้เลย มีแต่นำมาซึ่งทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ตามที่กล่าวมา แต่วิธีละกิเลสที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริง และเป็นหนทางการละกิเลส คือ สภาพธรรมที่เรียกว่า ปัญญา เมื่อมีความเข้าใจถูกต้อง ย่อมสามารถที่จะละกิเลสได้ ดังนั้น หากเข้าใจความจริงว่า กิเลส เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เป็นนามธรรม คือ เจตสิกประเภทต่างๆ แม้ กามราคะ ก็คือ โลภเจตสิกที่ติดข้อง ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โลภะ หรือ กามราคะ จะละได้ ไม่ใช่ด้วยรูปธรรม ที่สมมติเรียกว่ายา ที่จะลดความต้องการทางเพศ เพราะแท้ที่จริง กามราคะ เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรม มักเข้าใจว่า เป็นความต้องการทางเพศ หากแต่ว่า กามราคะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นต้น เพราะฉะนั้น การที่พอใจในรสอาหาร ในขณะที่ทาน ก็มีกามราคะเกิดแล้ว การเห็นของสวยๆ ต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า ก็เกิดกามราคะแล้ว เพราะฉะนั้น กามราคะจึงมีความหมายกว้างขวาง คือ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เพราะฉะนั้น ยา ที่เป็นรูปธรรมไม่สามารถละกิเลสได้ ที่เป็นนามธรรม แม้จะลดความต้องการ แต่ก็เกิด กามราคะ อย่างอื่นในชีวิตประจำวัน และไม่สามารถละกิเลสได้จริงๆ เลย เพราะไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นปัญญา ครับ

ยารักษาโรคที่ดีและแท้จริง ที่เป็นโรคกิเลส คือ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพราะทำให้เกิดปัญญา จนสามารถค่อยๆ ละกิเลสได้ แต่เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็จะมีตัวตน จะพยายามหาวิธีละกิเลส แต่ลืมความเป็นจริงว่า เมื่อยังไม่รู้จักกิเลส จะละกิเลสได้อย่างไหร่ ไม่รู้จักศัตรู จะป้องกันศัตรูได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การจะรู้จักกิเลส ตามความเป็นจริง ต้องด้วยปัญญา อันอาศัยการฟังศึกษาพะรธรรมต่อไป และต้องไม่ลืมว่า สะสมกิเลสมามากมายนับไม่ถ้วน เพียงแค่ได้ยินได้ฟังพระธรรม จะละกิเลสได้ทันที เป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น หนทางการอบรมปัญญาจะต้องอย่างยาวนาน และจะต้องละกิเลสเป็นลำดับ ดั่งเช่น การจะถึงการบรรลุธรรม ต้อเงป็นไปตามลำดับ คือ เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

เพราะฉะนั้น กามราคะ ผู้ที่เป็นพระอนาคามี จึงละได้ พระโสดาบัน และพระสกทาคามียังละไม่ได้ พระโสดาบัน พระอริยบุคคลขั้นแรก ยังครองเรือน มีบุตรภรรยา มีกามราคะ เป็นปกติ ดังนั้น กิเลสที่ควรละ และเป็นไปตามลำดับ ที่จะสามารถต่อยอด จนถึงการดับกามราคะได้ กิเลสนั้น คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เพราะยึดถือว่าเป็นเราที่มีกิเลส เป็นเราที่มีกามราคะ จึงเดือดร้อน ไม่เข้าใจว่าเป้นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ ค่อยๆ ฟังพระธรรม ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อบรมปัญญาอย่างยาวนาน ย่อมละกิเลสต่างๆ เป็นลำดับได้ในที่สุด ครับ

เพราะฉะนั้น แทนที่จะทานยา ที่จะห้ามกิเลส ก็หันกลับมาทานยา คือ พระธรรม ขณะที่เข้าใจทีละน้อยก็เหมือนค่อยๆ ให้ยารกัษาโรค แต่เพราะเป็นโรคร้าย เรื้อรังก็ต้องฟังพระธรรมให้ยารักษาโรคที่ยาวนานต่อไป ครับ

ละสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดทื่ยึดถือว่าเป็นเรา ก่อนที่จะละกามราคะ

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 123

๑. สัตติสูตร

[๕๖] เทวดานั้น ครั้งยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อการละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก มุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น.

[๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาว่า

ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

สัตติสูตรที่ ๑ - ละสักกายทิฏฐิก่อนที่จะละกามราคะ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่รู้ว่ากิเลสคืออะไร อยู่ที่ไหน หนทางแห่งการดับกิเลสคืออะไร ย่อมไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรๆ ได้เลย กิเลส มีจริงๆ เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส และสะสมมาอย่างมากในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ มี โลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ โมหะความไม่รู้, ความตระหนี่ ความริษยา เป็นต้น กิเลส ไ่ม่ใช่สิ่งที่จะดับได้ด้วยยาขนานต่างๆ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นได้ ทุกคนก็เป็นพระอรหันต์กันหมด แต่หนทางแห่งการดับกิเลสต้องเป็นหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยวิธีอย่างอื่น ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานทีเดียวในการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 19 มี.ค. 2557

ปัญญาละกิเลสได้ แต่ต้องเป็นปัญญาระดับสูง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ของสมสุด
วันที่ 19 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ