นิมิต

 
natural
วันที่  15 เม.ย. 2557
หมายเลข  24718
อ่าน  3,510

จากธรรมนิเทศ ความหมายของคำว่า นิมิตฺต (การกำหนด , เครื่องหมาย) เครื่องหมายให้เกิดกิเลส หมายถึง ส่วนหยาบที่เป็นรูปร่าง สัณฐาน ความหมายที่จิตคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น เห็นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นโต๊ะเก้าอี้ ได้ยินเสียงผู้หญิงหรือผู้ชาย ได้กลิ่นดอกไม้ ลิ้มรสเป็ดไก่ ถูกต้องสัมผัสสำลี คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นไปด้วยอกุศลจิต เป็นการยึดนิมิต ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐาน ความหมายต่างๆ ด้วยกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการยึดนิมิต แต่เป็นบัญญัติอารมณ์ของกุศลจิตเท่านั้น

รบกวนเรียนถามว่า

1. ยึดนิมิต หมายถึงการยึดปรมัตถธรรมเป็นบัญญัติธรรมด้วยอกุศลจิตเท่านั้น แต่การเข้าใจปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง และบัญญัติธรรมตามความเป็นจริงไม่เป็นการยึดนิมิตใช่หรือไม่คะ และพอจะมีตัวอย่างการรู้รูปร่างสัณฐาน ความหมายด้วยกุศลจิตหรือไม่คะ

2. จากอรรถกถาโคตรภูญาณุทเทสว่าด้วย โคตรภูญาณ ข้อความตอนหนึ่งว่า..

บทว่า พหิทฺธา ได้แก่สังขารนิมิต. เพราะว่า สังขารนิมิตนั้น ท่านกล่าวว่า พหิทฺธา - ภายนอก เพราะอาศัยอกุศลขันธ์ในจิตสันดานในภายใน

ภายนอกและภายในหมายความว่าอย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1.ยึดนิมิต หมายถึงการยึดปรมัตถธรรมเป็นบัญญัติธรรมด้วยอกุศลจิตเท่านั้น แต่การเข้าใจปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง และบัญญัติธรรมตามความเป็นจริงไม่เป็นการยึดนิมิตใช่หรือไม่คะ และพอจะมีตัวอย่างการรู้รูปร่างสัณฐาน ความหมายด้วยกุศลจิตหรือไม่คะ

@ นิมิต ก็คือการที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นโต๊ะทั้งตัว เก้าอี้ทั้งตัว เป็นชาย เป็นหญิง เป็นต้น นี้เรียกว่าส่วนหยาบ คือ โดยรวม ส่วนอนุพยัญชนะเป็นส่วนละเอียดจากส่วนหยาบอีกที จริงๆ แล้ว นิมิต กับ อนุพยัญชนะ ก็คือบัญญัติเรื่องราวนั่นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ แต่เพราะมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไป จึงมีนิมิต อนุพยัญชนะ มีบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ครับ

ขณะใดที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ รวมทั้งเห็นส่วนละเอียด เช่น มือและเท้า เป็นต้น แล้วเกิดอกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ขณะใดที่เห็นเป็นสิ่งต่าง เป็นสัตว์ บุคคล หรือเห็นส่วนละเอียด แต่ไม่ติดข้องไม่เป็นอกุศลแต่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ถึงแม้ว่า ไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะในขณะนั้น แต่ ก็ไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะที่ประเสริฐจริงๆ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ไม่ยึดถือด้วยปัญญา ไม่ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีรูปร่างสัณฐานส่วนละเอียด ส่วนหยาบ เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ครับ

ซึ่งตัวอย่าง ของการเห็นเป็นรูปร่าง ด้วยกุศลจิต เช่น เห็นพระพุทธรูปเกิดความเลื่อมใส เป็นต้น ครับ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขณะใดที่ "เห็น" แล้วสนใจ เพลิน ใน "นิมิต" คือ รูปร่าง สัณฐาน และ "อนุพยัญชนะ" คือ ส่วนละเอียด ของสิ่งที่ปรากฏให้ทราบว่าขณะนั้น เพราะ "สี" ปรากฏจึงเป็น "เหตุปัจจัย"ทำให้เกิด "คิดนึก"เป็น รูปร่าง สัณฐาน และ ส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่ "สติ"เกิด ระลึกรู้และ "ปัญญา" เริ่มศึกษา พิจารณาก็จะเริ่มรู้ว่านิมิต และอนุพยัญชนะ ทั้งหลายซึ่งเป็น "สี" ต่างๆ ก็เป็นเพียง "สิ่งที่ปรากฏทางตา" เท่านั้น นี้คือ "ปัญญา"ที่เริ่มเข้าถึง "ลักษณะของสภาพธรรม" ที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เมื่อ "สติ" เกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจ "อรรถ" ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ไม่ติด ในนิมิต อนุพยัญชนะ" (ด้วยการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความจริง) และเริ่ม ละคลาย "อัตตสัญญา" ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามระดับขั้นของ "ปัญญา" ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการอบรม.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อนุพยัญชนะ

(คัดลอกจาก) --- ไม่ใส่ใจ ใน นิมิต และ อนุพยัญชนะ คืออย่างไร ---

-------------------------------------------

2. จากอรรถกถาโคตรภูญาณุทเทสว่าด้วย โคตรภูญาณ ข้อความตอนหนึ่งว่า..

บทว่า พหิทฺธา ได้แก่สังขารนิมิต. เพราะว่า สังขารนิมิตนั้นท่านกล่าวว่า พหิทฺธา - ภายนอก เพราะอาศัยอกุศลขันธ์ในจิตสันดานในภายใน…

ภายนอกและภายในหมายความว่าอย่างไรคะ

@ คำว่า สังขารนิมิต มีความหมายหลายนัย คือ โดยนัยที่เป็นสภาพที่เป็นสังขารธรรมกับวิสังขารธรรม พระนิพพานเป็นวิสังขารธรรม ออกจากสังขารธรรม หรือออกจากสังขารนิมิต ผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนปัญญาแก่กล้า มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ (โคตรภูญาณ) ขณะนั้นออกจากสังขารนิมิต

ในพระไตรปิฎก ปฏิสัมภิทามรรค แสดงถึง สังขารนิมิต นิมิตของสภาพธรรมไว้

น่าพิจารณาครับว่า พระโยคาวจร คือ ผู้ที่อบรมปัญญา พิจารณาเห็นสังขารนิมิตว่ามีภัย คือ สภาพธรรมในขณะนี้ ที่เกิดขึ้น และ ดับไป มีภัย เป็นต้น ส่วน พระนิพพาน ชื่อว่า สภาพธรรมที่ไม่มีนิมิต คือไม่มีลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ดังนั้น นิมิตอีกนัยหนึ่ง ย่อมหมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นนิมิตให้รู้ มีลักษณะให้รู้ หากไม่มีนิมิต ไม่มีลักษณะให้รู้ ปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณ ก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะ ไม่มีนิมิต ลักษณะให้รู้ แต่ เมื่อรู้โดยความเป็นนิมิตของสภาพธรรม ย่อมเห็นว่าเกิดขึ้น และ ดับไป นิมิตนั้น หาสาระไม่ได้เลย จึงเจริญอบรมปัญญา ออกจากนิมิต คือ ประจักษ์พระนิพพาน ออกจากนิมิตที่เป็นสังขารนิมิต ที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ครับ

เพราะฉะนั้น สังขารนิมิต ที่เป็นภายนอก เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เพราะ อาศัย อกุศลที่มีอยู่ที่เป็นภายในทำให้เกิดสภาพธรรมที่เกิดดับ ที่เป็นภายนอก โคตรภูญาณ เป็นสภาพธรรมที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงออกจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ที่เป็นสังขารนิมิต ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
natural
วันที่ 15 เม.ย. 2557

ภายในหมายถึงเหตุ ภายนอกหมายถึงผล ใช่หรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 15 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องเข้าใจว่า ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ ก็จะไม่มีนิมิต จะมีนิมิตโดยไม่มีสภาพธรรม ไม่ได้ นี่คือความเป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่งของธรรม เป็นความจริง ที่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าอะไรก็ตามปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความจริงคืออะไรความจริงต้องมีธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดดับสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน จึงทำให้มีการมีการจำ ในความเป็นกลุ่มก้อนรูปร่างสัณฐานดังกล่าว

เห็นเป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นคนนั้นคนนี้ แล้ว กุศลจิตเกิด ก็ได้ เช่น มีเมตตาความเป็นมิตรเป็นเพื่อนในบุคคลผู้พบเห็น แทนที่จะโกรธกันไม่พอใจกัน

หนทางที่จะทำให้มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยการอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทีละลักษณะ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

-โคตรภู เป็นวิปัสสนาญาณที่จะทำให้ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชน เป็นมหากุศลที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ขณะแรก เมื่อดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเป็นโสตาปัตติมรรคจิต ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ ต่อจากโคตรภู เป็นการข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชน เป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลส มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นการก้าวออกจากสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะขณะนั้น ประจักษ์แจ้งพระนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งที่เป็นจิต เจตสิก และ รูปอย่างสิ้นเชิง และจะเห็นได้ว่า พระธรรมเทศนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น ประโยชน์จริงๆ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก อะไรคือสิ่งที่เป็นภายในที่สุด ก็คือ จิต จิตเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน สะสมสิ่งที่ไม่ดี คือ อกุศล มากมาย จึงทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด ไม่จบสิ้น มีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เกิดขึ้นเป็นไป จนกว่าจะมีการอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ดับกิเลสตามลำดับขั้น กิเลสที่ดับแล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกในสังสารวัฏฏ์และกิเลสทั้งหลายทั้งปวง จะถูกดับได้อย่างหมดสิ้นเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ และเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีสภาพธรรมที่นามธรรมและรูปธรรม เกิดขึ้นเป็นไปอีกเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 15 เม.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

บทว่า พหิทฺธา ได้แก่สังขารนิมิต. เพราะว่า สังขารนิมิตนั้นท่านกล่าวว่า พหิทฺธา - ภายนอก เพราะอาศัยอกุศลขันธ์ในจิตสันดานในภายใน…

ภายใน ไม่ได้หมายถึง เหตุโดยตรง ภายนอก ไม่ได้หมายถึงผลโดยตรง แต่เกี่ยวข้องกัน ตามที่ผู้ถามถามมา ครับ ซึ่ง ภายใน คือสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น เป็นเหตุทำให้เกิด สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ที่เป็นสังขารนิมิต ที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เมื่ออาศัยเหตุ คือ ภายใน ที่เป็นอกุศลจิต เจตสิก ก็เกิดภายนอก คือ สังขารนิมิต ครับ ซึ่งก็เป็นเหตุ และ ผลของกันและกัน ตามที่ผู้ถาม ถามมา ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 15 เม.ย. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโนมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 15 เม.ย. 2557

นิมิต เป็นรูปร่างสัณฐาน ไม่ติดในนิมิต คือ กุศลเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 4 ก.ค. 2567

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก้วยความเคารพอย่างสูง
กราบขอบพระคุณอนุโมทนาท่านผู้ให้ธรรมทุกท่านค่ะ

ศึกษาเพิ่มเติมที่
www.dhammahome.com/webboard/topic/48027

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ