นรชน พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปนิพพาน

 
natural
วันที่  3 พ.ค. 2557
หมายเลข  24799
อ่าน  1,686

ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕ ข้อ ๘๒๖ มีข้อความว่า คำว่า "นรชน พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปนิพพาน" ความว่านรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งการปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสังสาระ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อม โน้ม โอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่า "นรชน พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปนิพพาน" ขอรบกวนเรียนถามความหมายของคำและข้อความที่ขีดเส้นใต้ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รักษาอุโบสถกรรม คือ การรักษาศีล 8 ในวันพระ เป็นต้น

ไตรธาตุ คือ กุศลที่เป็นไปใน กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล (ฌาน) และอรูปาวจรกุศล

เราหรือธรรมปฏิบัติ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมปฏิบัติ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งการปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสังสาระ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ

หมายถึง การเจริญกุศล เป็นไปเพื่อละกิเลส ไม่เกิดอีก ไม่ได้เป็นไปเพื่อลาภสักการะ ไม่ใช่เพื่อการได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ ไม่ใช่เพื่อ รูป รส กลิ่น เสียงที่ดี ไม่เป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นของสภาพธรรม คือ สังสาระ ไม่เป็นไปเพื่อการเกิดตาย คือ การเกิดของสภาพธรรมไม่มีที่สิ้นสุด ที่เรียกว่า วัฏฏะ ครับ แต่ เจริญกุศลเพื่อสละกิเลส ละกิเลสจนหมดสิ้น เพื่อถึงพระนิพพาน ครับ

เชิญอ่านข้อความบรรยายจากท่านอาจารย์สุจินต์ ดังนี้ ครับ

สำหรับการทำกุศลของแต่ละท่าน ไม่ทราบว่าทุกครั้งที่ทำมีเจตนา หรือมีความหวัง หรือมีความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด ในบางครั้งบางขณะ หรือเปล่า หรือว่ากุศลทั้งหมดที่ทำนี้ เพื่อมุ่งอย่างเดียว ที่จะดับกิเลส เพื่อที่จะหมดกิเลส ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงเตือนไว้ในขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทส ที่ ๑๕ ข้อ ๘๒๕ มีข้อความว่า

ผู้มีปัญญาทำกุศลเพื่ออะไร

ต่างกันแล้วระหว่างผู้มีปัญญากับคนที่ไม่มีปัญญา

คำว่า นรชน พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

นิพพานนี้ยากที่ใครจะน้อมไปได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่ดับทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มจากดับกิเลส จึงดับทุกข์และดับขันธ์ได้ ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ทุกข์ก็ยังดับไม่ได้ ขันธ์ก็หมดไปไม่ได้ ยังต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการเกิด เมื่อเกิดมาแล้วก็ดับ และจะต้องประสบกับทุกข์อย่างหนึ่งอย่างใด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ทันทีที่เกิดก็เป็นทุกข์ เพราะดับทั้งจิต เจตสิก รูป สภาพธรรมที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มีเลย แต่เนื่องจากปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ก็ทำให้แม้เห็น ก็กลับยินดีพอใจ แม้ได้ยินก็ยินดีพอใจ ทั้งในการเห็น และสิ่งที่เห็น ทั้งในการได้ยินและในเสียงที่ได้ยิน จนกระทั่งอวิชชาปิดบังสภาพของธรรม ไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง พอที่ต้องการที่จะดับกิเลสและดับขันธ์ คือไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย

เพราะฉะนั้น เรื่องของนิพพานนี้เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจถูกว่า เป็นเรื่องของการดับกิเลสอย่างเดียว

คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่า นรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

"นรชนพึงปราบความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน"

ขณะนี้ทุกคนพอที่จะรู้จักตนเองว่า มีจิตน้อมไปในนิพพานแค่ไหน หรือว่ายัง แต่ว่าเริ่มที่จะเข้าใจคุณประโยชน์ของพระนิพพานได้

ถาม เจริญสติมาถึงขณะนี้ ยังไม่เคยน้อมใจไปถึงนิพพานเลยครับ

สุ. เพราะอะไร ทราบไหมครับ

ผู้ถาม ปัญญายังไม่แก่กล้า

สุ. นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องค่ะ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาค จึงทรงเตือนอยู่เรื่อยๆ ว่าแม้แต่การที่จะให้ทาน หรือการที่จะรักษาศีล ก็ไม่ควรที่จะเป็นไปโดยการหวังคติ โดยหวังภพ หรือโดยหวังสังสารวัฏฏ์ หวังสุข ซึ่งเป็นวิบาก แต่ควรที่จะเห็นโทษของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น และรู้ว่าถึงแม้ว่าจะมีสุขเป็นวิบากสักเท่าไร ก็ไม่เที่ยง ไม่เหมือนกับการที่จะดับสนิท ไม่มีการเกิดของขันธ์เลย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประพฤติปฏิบัติหนทางใดๆ ด้วยความไม่รู้ หนทางนั้นไม่ใช่หนทางของปัญญา เป็นหนทางแห่งความเห็นผิด คือ มิจฉาทิฏฐิ

ฝั่งนี้เป็นฝั่งของความไม่รู้และความติดข้อง แต่ฝั่งโน้นเป็นฝั่งแห่งความรู้และความไม่ติดข้อง

ฝั่งโน้นมีแน่ จะถึงฝั่งโน้นได้ ก็ต้องมีการอบรมเจริญปัญญา

ในเมื่อยังอยู่ในฝั่งนี้ คือ ฝั่งของกิเลส ภาระหน้าที่ที่สำคัญ ก็คือ เมื่อยังไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็จะได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๕

ชีวิตประจำวันก็มีทั้งอกุศลและกุศล และอกุศลก็เกิดมากด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ เป็นการยากมากที่จะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลไปได้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายอกุศล มีทางเดียว เท่านั้น คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมในชีวิตประจำวันนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีแต่จะเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนอกุศลให้มีมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจถูกเห็นถูก เห็นคุณประโยชน์ของคุณความดี เห็นโทษภัยของกิเลสอกุศลธรรม จะไม่ละเลยโอกาสแห่งการเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรักษาอุโบสถ คือ ศีล ๘ ที่รักษาในวันพระ เป็นศีลที่มีมากกว่าศีล ๕ ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น โดยไม่ได้มุ่งหวังอย่างอื่น ไม่ได้หวังการเกิดในภพภูมิที่ดี แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ควบคู่ไปกับการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น จนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งจะต้องอาศัย ทั้งสัจจะ ความจริงใจ ในการที่จะฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่จริงใจ ทั้งการกระทำและคำพูด และ ทั้งอธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม ไม่มีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนที่น้อมไป แต่เป็นธรรมคือจิต เจตสิก เกิดขึ้น น้อมไปในทางที่เป็นกุศล ยิ่งขึ้น ข้อสำคัญควรค่าแก่การพิจารณา คือ การเจริญกุศลทุกประการตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อละอกุศล ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีของตนเอง เท่านั้น ไม่ใช่ปรารถนาสิ่งอื่นใดที่เป็นวิบากในวัฏฏะ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 3 พ.ค. 2557

เจริญกุศล เพื่อละกิเลส เพื่อดับกิเลส ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 3 พ.ค. 2557

จากข้อความ ..แต่เนื่องจากปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ก็ทำให้แม้เห็น ก็กลับยินดีพอใจ แม้ได้ยินก็ยินดีพอใจ ทั้งในการเห็น และสิ่งที่เห็น ทั้งในการได้ยินและในเสียงที่ได้ยิน... เรียนถามเพิ่มเติมว่า ความยินดีพอใจในการเห็นและความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น แยกส่วนกันหรือคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

แยกกันครับ ขณะที่ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น ขณะนั้น พอใจในรูป สี สิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ได้พอใจในสภาพที่เห็น แต่ เมื่อเห็นดับไปแล้ว วิถีจิตอื่นๆ เกิดขึ้น ก็สามารถเกิดความยินดีพอใจ ในสภาพที่เห็นที่เป็นจิตเห็นได้ ยังอยากที่จะเห็นอยู่ เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
natural
วันที่ 3 พ.ค. 2557

แยกเป็นปัญจทวารวิถีจิตหมายถึงครั้งแรกที่เห็น กับมโนทวารวิถีจิตหมายถึงคิดถึงสิ่งที่เห็นเคยเห็นแล้วจากครั้งแรก ใช่หรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natural
วันที่ 3 พ.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jran
วันที่ 4 พ.ค. 2557

ขออนุโมทนาในคำถามและคำตอบครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ