ไม่มี มี แล้วหามีไม่ กับ ภวังคจิต วิถีจิต และภวังคจิต

 
papon
วันที่  14 พ.ค. 2557
หมายเลข  24857
อ่าน  1,194

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"ไม่มี มี แล้วหามีไม่ กับ ภวังคจิต วิถีจิต และภวังคจิต" กระผมฟังท่านอาจารย์บรรยายในพระอภิธรรมพื้นฐานตอนที่ 373-387 มีข้อความวลีที่สัมพันธ์กันอยู่ 2 ข้อความดังกล่าว ขอความอนุเคราะห์อาจารย์กรุณาให้คำอธิบายเพื่ออบรมปัญญาต่อไปด้วยครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภวังคจิต คือจิตที่ทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติ ทำให้สภาพที่บัญญัติว่า สัตว์มีชีวิตอยู่ได้ ภวังคจิตเป็นวิบากจิต เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต จุติจิต ภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ ในชีวิตประจำวัน มีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สลับกับภวังคจิต (ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ เลย)

-วิถีจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร ในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ก็ต้องหมายรวมเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ด้วย ดังนั้น วิถีจิต ต้องหมายถึงจิตแต่ละขณะๆ ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เพราะจิตเมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ วิถีจิต (ตามที่ได้กล่าวแล้ว) และ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้อาศัยทวารใดๆ เลย มีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิดเท่านั้น คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต


“ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่” แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยและเมื่อเกิดแล้ว ก็จะต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เช่น ก่อนเห็นเกิดขึ้น ไม่มีเห็น แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น และเมื่อเห็นเกิดขึ้น ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นตั้งอยู่เพียงขณะสั้นๆ เท่านั้น ตามข้อจาก

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้า ๑๐๓ ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขารแม้ทั้งปวงในภพทั้งหลาย มีกามภพเป็นต้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเลย เพราะอรรถว่า มีแล้วไม่มี”


ควรเข้าใจความจริงว่า มีแต่ธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้นคำว่าไม่มี ก็ไม่ได้หมายถึง เรื่องราว ไม่ได้หมายถึง พระนิพพาน แต่กำลังหมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่ยังไม่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ขณะนี้หากไม่มีปัจจัยให้ การเห็นเกิดขึ้น เห็นก็ไม่เกิด เช่น เพราะ ไม่มีจักขุปสาทรูป คือ ไม่มีตา ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็น จึงชื่อว่าไม่มี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม คือ สภาพธรรมหลายๆ อย่าง ประชุมรวมกัน ทั้งมีตา มีแสงสว่าง มีรูปที่ปรากฏทางตา ที่เป็นสีและ มีกรรมที่จะให้ผล ก็ทำให้เกิด จักขุวิญญาณ คือ การเห็น เกิดขึ้น เรียกว่า มีแล้ว จากไม่มีการเห็น ก็เกิดจากการเห็น เกิดขึ้น ไม่มีแล้ว มี คือ จากไม่มีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจึงมีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง มีจักขุวิญญาณ การเห็น เป็นต้นเกิดขึ้น และเมื่อการเห็นเกิดขึ้นที่เป็นจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไป เมื่อดับไปแล้ว จึงกล่าวได้ว่า หามีไม่

ความหมายของคำว่า หามีไม่ หมายถึง ไม่มีสภาพธรรมนั้นอีกเลย คือ ดับไปแล้วก็หมดไปอย่างสิ้นเชิง ไม่กลับมาอีก และ ก็ไม่ได้ไปอยู่ที่ไหน ครับ

เพราะฉะนั้น คำว่า ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ จึงมุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นสังขารธรรม เท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูปที่มีการเกิดขึ้นและดับไป จึงสามารถกล่าวได้ว่า ไม่มี คือ ยังไม่เกิด แล้ว มี คือ สภาพธรรมนั้นเกิด แล้ว หามีไม่ คือ ดับไปไม่เหลือเลย

ซึ่งคำว่าไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ แสดงถึงสภาพธรรม กฎธรรมชาติที่เป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา อย่างไร คือ เพราะมีแล้วก็หามีไม่ คือ ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ไม่ได้ คือ ไม่สามารถที่จะเกิดแล้ว ไม่ดับไป และเป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลย คือ ไม่สามารถบังคับให้ ไม่ให้มีเกิดขึ้น จากสภาพธรรมนั้นจะเกิดก็ต้องเกิด และ ไม่สามารถให้สภาพธรรมนั้นตั้งอยู่ตลอดไป ก็ต้องดับไป ไมเหลือเลย และไม่มีสัตว์ บุคคล เป็นอนัตตา เพราะเป็นแต่จิตเจตสิก รูปที่เกิดขึ้น และ ดับไปเท่านั้น ครับ

การเข้าใจคำว่า ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ ประโยชน์ เพื่อละคลายความยึดถือ ว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม และบังคับบัญชาไม่ได้ เพื่อละคลายความเห็นผิด ว่ามีเรา มีใครอยู่ในนั้น และ ที่สำคัญ เข้าใจว่า จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครไปบังคับได้เลย หากไม่มีเหตุปัจจัย สภาพธรรมนั้นก็ไม่เกิด คือ ไม่มี และ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็มี เกิดขึ้น และ ก็ต้องดับไป เพราะ หมดเหตุปัจจัยที่จะดำรงอยู่ ครับ

ดังนั้น ภวังคจิต จากที่ไม่ได้เกิดก็เกิดมีขึ้น และ ก็ดับไป ไม่มีแล้วมี แล้วหามีไม่ เช่นเดียวกับ วิถีจิต ที่เป็น จิตประเภทต่างๆ ก็จากไม่มี แล้ว มี แล้วหามีไม่ ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ไม่มี...แล้วมี...แล้วหามีไม่...?

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง เป็นปรมัตถธรรม ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เพราะเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น

จิต มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป ไม่ว่าจะเป็นวิถีจิต หือไม่ใช่วิถีจิตก็ตาม เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ต้องดับไป เจตสิก มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิตอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เกิดแล้วก็ดับไป รูป รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่สภาพธรรมเกิดแล้ว มีแล้วในขณะนี้ จากที่ไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ มุ่งถึงสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม เท่านั้น เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง (เพราะเกิดดับ) เมื่อไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ (เพราะทนอยู่ไม่ได้ คือเกิดแล้วก็ต้องดับไป) และ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตนไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) สภาพธรรม เป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง เพราะเป็นชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นของจริง และสิ่งที่มีจริงทั้งหลายเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้ง บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสทั้งหลายได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 14 พ.ค. 2557

สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไป ภวังคจิตก็เกิดขึ้นและดับไป ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 14 พ.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

เมื่อมี ภวังคจิต คือ ไม่มี ต่อจากนั้นก็เป็นวิถีจิต คือมี จากนั้นก็เป็นภวังคจิตอีกคือหามีไม่ เป็นการสอดคล้องกับกระทู้หรือไม่อย่างไรครับ?

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 14 พ.ค. 2557

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

ถ้าเข้าใจตั้งแต่ต้น ว่า จิต เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ไม่มีจิตเกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะนั้น เพราะฉะนั้น แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภวังคจิต หรือ เป็นวิถีจิต ก็ตาม ก็คือ จากที่ไม่เกิด แล้วเกิดมีขึ้น และเมื่อเกิดมีขึ้นแล้วก็ดับไป และไม่ได้หมายถึงเพียงจิตเท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ หมายรวมถึงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมดทั้งจิต เจตสิก และ รูป ดังนั้น จึงสำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 18 พ.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ