ธาตุและอายตนะมีความสอดคล้องกันหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ

 
papon
วันที่  6 มิ.ย. 2557
หมายเลข  24952
อ่าน  1,840

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ธาตุและอายตนะมีความสอดคล้องกันหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ในอรรถาธิบายด้วยครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอกล่าว คำว่า ธาตุ ตามที่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนี้ ครับ

สภาพธรรมที่ชื่อว่า ธาตุ มีหลายความหมายดังนี้ ครับ

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่สัตว์ทั้งหลาย ยึดถือไว้

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ตั้งไว้

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่จัดแจง จัดสรร

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่เป็นไปตามอำนาจ เพราะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสภาพธรรม

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน

ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

ชื่อว่าธาตุ [วิสุทธิมรรคแปล]

ดังนั้น ความหมายของ ธาตุ จึงหลายอย่าง แต่ธาตุทั้งหลาย ก็เพียงให้เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม ทั้งที่เป็นจิต เจตสิก รูป และนิพพาน ต่างก็ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลง มีลักษณะเฉพาะ เช่น ได้ยิน จะรู้สีก็ไม่ได้ ก็ต้องรู้เฉพาะเสียง เป็นต้น และ ธาตุ เป็นอนัตตา หาสัตว์บุคคลไม่ได้เลย และ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเป็นแต่เพียงธาตุ ไม่มีเราอยู่ในธาตุใด ครับ

และ ธาตุ ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ก็ทรงไว้ซึ่งทุกข์ คือ ทรงไว้ในลักษณะที่ทุกข์ คือเกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ เป็น ธาตุที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ครับ

การศึกษาเรื่องธาตุ ประโยชน์ คือ เข้าใจความเป็นธรรม ว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรมที่เป็นธาตุแต่ละอย่างเพื่อประโยชน์ในการไถ่ถอนความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล อันเป็นหนทางการละกิเลส ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม เมื่อได้ยินชื่ออะไรในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ไม่พ้นจากความเป็นธาตุ แม้ใช้ชื่อต่างกัน เช่น ขันธ์ ๕ ธรรม อายตนะ ธาตุ ก็ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความจริงที่เหมือนกัน คือ เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา การศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง เพื่อเข้าใจความเป็นธรรม เป็นธาตุ ย่อมจะทำให้ถึงการละกิเลสได้ โดยละเป็นลำดับ คือ ความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลก่อน เพราะ รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียง ธาตุ ธรรม ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

ธาตุ คือ สภาวะของตน ซึ่งทรงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

วีระ ธาตุหมายถึงความบริสุทธิ์หรือครับ ตอนที่ผมเรียนตอนเด็กๆ ธาตุ เช่น ยูเรเนียมออกซิเจน ไฮโดรเจน คือความบริสุทธิ์ของอันนั้นใช่ไหมครับถึงเรียกว่าธาตุ

สุ. คืออันนั้น เป็นธาตุทางวิทยาศาสตร์ แต่ธาตุทางธรรม ถ้ามาจากภาษาบาลีก็คือสภาพซึ่งทรงไว้ ที่มีลักษณะเฉพาะๆ ของตนๆ แต่ละธาตุๆ ซึ่งอาจจะใช้สำหรับรูปธาตุหรือนามธาตุ หรือทางวิทยาศาสตร์ก็อาจจะมีอีกหลายธาตุ ก็หมายความถึงสภาพซึ่งทรงไว้ ซึ่งสภาวะที่มีจริงของตนๆ อย่างเห็น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เป็นธาตุชนิดหนึ่ง

อายตนะ

ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจก่อนครับว่า อายตนะ ซึ่งคำว่า อายตนะ หมายถึง ที่ต่อ บ่อเกิด ที่ประชุม เหตุ อายตนะภายใน ๖ และ อายตนะภายนอก ๖ มีดังนี้

อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖

๑. จักขวายตนะ (จักขปสาทรูป)

๒. รูปายตนะ (รูปสี)

๓. โสตายตนะ (โสตปสาทรูป)

๔. สัททายตนะ (รูปเสียง)

๕. ฆานายตนะ (ฆานปสาทรูป)

๖. คันธายนะ (รูปกลิ่น)

๗. ชิวหายตนะ (ชิวหาปสาทรูป)

๘. รสายตนะ (รูปรส)

๙. กายายตนะ (กายปสาทรูป)

๑๐. โผฏฐัพพายตนะ (ดิน ไฟ ลม)

๑๑. มนายตนะ (จิต ๘๙)

๑๒. ธัมมายตนะ (สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ นิพพาน)

เช่น ขณะเห็น ก็มี จักขวายตนะ (จักขปสาทรูป) ที่เป็นที่เกิดของจิตเห็น และมี รูปายตนะ (รูปสี) ที่เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ครับ

สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ยินคำว่า อายตนะ ก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้ เพราะแต่ละขณะ ที่ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่ละขณะๆ นั้น มีสภาพธรรม ประชุมกันอยู่ มีอยู่ ณ ขณะนั้นมากทีเดียว ยกตัวอย่าง ขณะที่เห็นขณะเดียว ขณะนั้นมีจิตเห็นเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วม ด้วย มีที่เกิดของจิตเห็น และมีสีปรากฏ เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ซึ่ง แต่ละอย่างๆ ก็ เป็นแต่ละอายตนะ แต่ละอายตนะ ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่ง ธาตุและอายตนะ สอดคล้องกัน คือ ต่างเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ครับ

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมะ ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้มีชื่อ หรือ มีพยัญชนะมาเป็นเครื่องกั้น ขอเพียงเข้าใจในคำนั้นๆ ให้ชัดเจน ไม่สับสน และที่สำคัญ ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน จะฟังมาก ฟังน้อย ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เพราะประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ปัญญาเจริญขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมเพิ่มขึ้นก็ย่อมจะเป็นเหตุ ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริง ในขณะนั้นได้ ซึ่งสภาพธรรมที่กําลังมี กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นอายตนะ แต่ละอายตนะ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของธาตุ ก็ดี อายตนะ ก็ดี ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ว่าพระธรรม เป็นวาจาสัจจะ เป็นคำที่อนุเคราะห์เกื้อกูลอย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้นจริงๆ

อายตนะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ประชุมกันในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะ แม้ว่าจะทรงแสดงอายตนะมี ๑๒ ก็ไม่ใช่ให้ไปติดที่จำนวน แต่ทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ โดยไม่ปะปนกันเลย ยกตัวอย่าง ขณะที่ได้ยิน มีสภาพธรรมอะไรบ้างในขณะนั้น? มีได้ยิน มีเสียงซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน มีเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตได้ยิน พร้อมทั้งมีที่เกิดของจิตได้ยิน นั่นก็คือ ต้องมีโสตปสาทะ (หู) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ ซึ่งเมื่อได้ฟังได้ศึกษาก็ยิ่งจะเพิ่มพูน ความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ได้

และถ้าแสดงโดยความเป็นธาตุ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทรงไว้ซึงลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนเป็นอย่งอื่น เช่น ได้ยิน เป็นธาตุ คือ เป็นโสตวิญญาณธาตุ เสียง เป็นสัททธาตุ เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตได้ยิน เป็นธัมมธาตุ โสตปสาทะอันเป็นที่เกิดของจิตได้ยิน ก็เป็นโสตธาตุ ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ