สังฆาฏิสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗

 
มศพ.
วันที่  8 มิ.ย. 2557
หมายเลข  24959
อ่าน  1,441

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

สังฆาฏิสูตร

(ว่าด้วยผู้ประพฤติธรรมอยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้พระองค์)

จาก...พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ หน้า ๕๘๑

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๕๗)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๗ เม.ย. ๒๕๕๗)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ หน้า ๕๘๑

๓. สังฆาฏิสูตร

(ว่าด้วยผู้ประพฤติธรรมอยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้พระองค์)

[๒๗๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุ จับชายสังฆาฏิแล้วพึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมเชื่อว่าไม่เห็นเรา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? พราะภิกษุนั้น ย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา.

บุคคลผู้มักมาก มีความคับแค้น ยังเป็นไปตามตัณหา

ดับความเร่าร้อนไม่ได้ แม้หากว่าพึงเป็นผู้ติดตามพระสัมมาสัม-

พุทธเจ้าผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ผู้ดับความเร่าร้อนได้แล้วไซร้

บุคคลนั้น ผู้กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี เพียงในที่ไกลเท่านั้น

ส่วนบุคคลใด เป็นบัณฑิต รู้ธรรมด้วยปัญญา เป็นเครื่องรู้

ธรรมอันยิ่ง เป็นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ สงบระงับ

เปรียบเหมือนห้วงน้ำที่ไม่มีลม ฉะนั้น บุคคลนั้น ผู้หาความหวั่น

ไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ผู้ไม่กำหนัดยินดี

ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หาความหวั่นไหวมิได้

ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ปราศจากความกำหนัดยินดี ในที่ใกล้แท้.

จบสังฆาฏิสูตรที่ ๓.

อรรถกถาสังฆาฏิสูตร

ในสังฆาฏิสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยต่อไป.

บทว่า สงฺฆาฏิกณฺเณ ได้แก่ ที่ชายจีวร. บทว่า คเหตฺวา ความว่าเกาะ. บทว่า อนุพนฺโธ อสฺส ความว่า พึงติดตามไป. มีพุทธาธิบายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นเสมือนใช้มือของตนเกาะชายสุคตมหาจีวร ที่เราตถาคตห่มแล้ว ติดตามเราตถาคตไป คือ เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดเราตถาคตอย่างนี้.

บทว่า ปาเท ปาทํ นิกฺขิปนฺโต ความว่า ทอดเท้าของตนลงที่รอยเท้าของเราตถาคต ผู้กำลังเดินไป คือในที่ๆ เราตถาคตวางเท้าลง ถัดจากการยกเท้าขึ้นแล้ว. ด้วยคำทั้ง ๒ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผิว่า เธอจะไม่ละทิ้ง (ไม่ห่างเหิน) ที่ยืน ที่เดิน (ของเราตถาคต) อยู่ใกล้เราตถาคตตลอดทุกเวลาไซร้.

บทว่า โส อารกาว มยฺหํ อหญฺจ ตสฺส ความว่า ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคตกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่า เป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคต ก็ชื่อว่า อยู่ไกลเธอเหมือนกัน. ด้วยคำนี้ พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้า ด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกาย ก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วยธรรมกายต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้) . ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมก็ไม่เห็นเราตถาคต. ในคำว่า ธมฺมํ นปสฺสติ นั้น มีอธิบายว่า โลกุตรธรรม ๙ อย่าง ชื่อว่า ธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตรธรรมนั้นได้ ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้น เธอจึงชื่อว่า ไม่เห็นธรรมกาย สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนวักกลิ เธอจะมีประโยชน์อะไร ด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ที่เธอได้เห็นแล้ว ดูกร วักกลิ ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้น ก็เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้น ก็เห็นธรรม ดังนี้ และว่า เราตถาคตเป็นพระธรรม เราตถาคตเป็นพระพรหมดังนี้ และว่า เป็นธรรมกายบ้าง เป็นพรหมกายบ้าง ดังนี้ เป็นต้น.

บทว่า โยชนสเต ความว่า ในพื้นที่มีประมาณร้อยโยชน์ อธิบายว่า ในที่มีร้อยโยชน์เป็นที่สุด. คำที่เหลือ พึงทราบ โดยบรรยายที่ตรงกันข้ามจากที่กล่าวมาแล้ว. และพึงทราบความที่ท่านเป็นผู้ไม่มีการเพ็งเล็งเป็นปกติ ด้วยสามารถแห่งการบรรลุอริยมรรค.

พึงทราบวินิจฉัยคาถาทั้งหลาย ดังต่อไปนี้ บทว่า มหิจฺโฉ ความว่า ชื่อว่า ผู้มีความมักมาก เพราะมีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย. บทว่า วิฆาตวา ความว่า ชื่อว่าผู้มีความคับแค้น เพราะมีความดำริด้วยใจ ที่ถูกความอยากประทุษร้ายแล้ว เพราะเป็นผู้มีความมักมาก ด้วยอำนาจแห่งการอาฆาตในสัตว์ทั้งหลาย และเพราะไม่ได้ตามที่ต้องการ. บทว่า เอชานุโค ความว่า เมื่อติดตามตัณหานั้นไป เหมือนเป็นทาสของตัณหา กล่าวคือความหวั่นไหวยังไม่ดับ เพราะถูกความกระวนกระวายเกิดแต่กิเลส มีราคะเป็นต้นครอบงำแล้ว คือติดอยู่แล้ว ด้วยความจำนงอารมณ์มีรูปเป็นต้น. บทว่า ปสฺสยาวญฺจ อารกา มีอธิบายว่า ผู้มีความมักมาก ถึงอยู่ แม้ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ดับ (ทุกข์) ได้แล้ว ผู้ปราศจากความกำหนัดแล้วตามอำนาจแห่งโอกาส แต่ยังเป็นผู้คับแค้น ติดตามกิเลสชื่อตัณหาไป ยังดับทุกข์ไม่ได้ ยังกำหนัดคือยังเป็นพาลปุถุชนตามสภาวธรรม ชื่อว่า เห็นพระองค์ได้ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในที่ไกล แม้การจะกราบทูล ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย. สมจริงตามที่ตรัสไว้ว่า

นักปราชญ์กล่าวว่า ท้องฟ้ากับแผ่นดินอยู่ไกลกัน ฝั่งมหาสมุทรก็อยู่ไกลกัน เหมือนกัน แต่ท่านกล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษไกลกัน ยิ่งกว่านั้น.

บทว่า ธมฺมมภิญฺญาย ความว่า เพราะรู้ยิ่ง คือเข้าใจได้แก่ทราบ สัจจธรรมทั้งสี่ในตอนต้น ด้วยญาตปริญญา และตีรณปริญญาตามสมควร.บทว่า ธมฺมมญฺญาย ความว่า รู้ธรรมนั้นนั่นแหละ ในตอนต่อมาด้วยมรรคญาณตามขอบเขต ด้วยอำนาจปริญญาเป็นต้น. บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ผู้เป็นบัณฑิต เพราะเป็นพหูสูตในทางปฏิเวธ. บทว่า รหโทว นิวาเต จ ความว่า เป็นผู้ไม่หวั่นไหว คือเว้น จากการหวั่นไหว เพราะกิเลสเงียบสงบอยู่เหมือนห้วงน้ำในที่สงัดลมฉะนั้น. (อธิบายว่า) ห้วงน้ำนั้นในที่สงัดลม ไม่ถูก ลมพัด จะเรียบราบอยู่ (ไม่มีคลื่น) ฉันใด แม้ภิกษุนี้ผู้มีกิเลสสงบแล้วเว้นจากความหวั่นไหว เพราะกิเลสจะสงบอยู่ด้วยสมาธิที่สัมปยุตด้วยอรหัตตผลในที่ทุกแห่ง คือ จะเป็นผู้มีสภาพสงบทีเดียวตลอดกาลทุกเมื่อ. บทว่า อเนโช ความว่า ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ มีสภาพไม่หวั่นไหวเป็นต้น โดยโอกาสถึงจะอยู่ไกลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีสภาพไม่หวั่นไหว ก็เหมือนกับอยู่ไม่ไกลคือในที่ใกล้นั่งเอง ตามสภาวธรรม ดังนี้.

จบอรรถกถาสังฆาฏิสูตรที่ ๓.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

สังฆาฏิสูตร

(ว่าด้วยผู้ประพฤติธรรมอยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้พระองค์)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความต่างระหว่างผู้อยู่ไกล และ อยู่ใกล้พระองค์

ดังนี้ คือ

ภิกษุ แม้จะจับชายจีวร เดินตามรอยพระบาทของพระองค์ แต่เป็นผู้มีอภิชฌา

มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริ

แห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่มีความรู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด

ไม่สำรวมอินทรีย์ ภิกษุนั้น ชื่อว่าอยู่ไกลพระองค์ เพราะไม่เห็นธรรมตาม

ความเป็นจริง

ส่วน ภิกษุ ผู้แม้อยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้ (๑,๖๐๐ กม.) แต่เป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริ

แห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว

สำรวมอินทรีย์ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าอยู่ใกล้ชิดพระองค์ เพราะเห็นธรรมตามความเป็นจริง.

(ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มได้ที่นี่ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว

อภิชฌา,พยาบาท [ธรรมสังคณี]

ความกำหนัดรู้สึกตัวทั่วพร้อม

ความหมายของคำว่า...หลงลืมสติ

จิตตั้งมั่น

สงสัยสำรวมอินทรีย์

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 9 มิ.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 13 มิ.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 13 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ