ขณะเกิดอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นสัญญาวิปลาส
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
"ขณะเกิดอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นสัญญาวิปลาส" เป็นพจนาท่านอาจารย์ในพระอภิธรรมพื้นฐานตอน 478 ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายความละเอียดด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วิปลาส หรือ วิปัลลาส หมายถึง การเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ได้แก่ ขณะที่จำผิด เห็นผิด และ คิดผิด ขณะที่มีการคลาดเคลื่อนจากความจริง ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต
วิปลาส ซึ่งการเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นั้น โดยสภาพธรรมแล้วเป็นอกุศลธรรม ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นวิปลาส ซึ่งเป็นการเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ เห็นว่าเที่ยงในสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เห็นว่าเป็นสุขในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เห็นว่างามในสภาพธรรมที่ไม่งาม บุคคลผู้ที่จะละวิปลาสทั้งหมดได้อย่างเด็ดขาดต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น จึงยังไม่พ้นไปจากวิปลาส ซึ่งขณะที่เกิดอกุศล เกิดความติดข้อง สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ขณะนั้น เป็นสัญญาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ขณะนั้น จึงเป็นสัญญาวิปลาสด้วย ซึ่งในความเป็นจริงเกิดอกุศลจิตในขณะนี้โดยไม่รู้ตัว ขณะนั้น ก็เป็นสัญญาวิปลาส แม้ในขณะนี้แล้ว ครับ
ในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส ย่อมเป็นผู้ถูกกิเลสกลุ้มรุมจิตใจทำให้จิตใจเศร้าหมองอยู่เป็นประจำ ยังไม่พ้นไปจากวิปลาส ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวันนี้ชาตินี้เท่านั้น เคยเป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว การที่จะดับกิเลสให้หมดไปนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงต้องเริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรม เพื่อสะสมปัญญาต่อไป เพราะเหตุว่ากิเลสที่มีมาก ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น จึงจะดับได้ และปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟัง การศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยนั่นเอง ที่สำคัญ จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียวครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
วิปัลลาสสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วิปลาส ต้องเป็นเฉพาะในขณะที่จิตเป็นอกุศลเท่านั้น ขณะที่เป็นอกุศล สัญญาก็เกิดร่วมด้วยเพราะสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ แต่เมื่อเป็นอกุศล สัญญาก็จำผิด เป็นไปตามอกุศลและขณะนั้น จิตก็วิปลาส เพราะเป็นอกุศลจิต ประกอบด้วยอกุศลเจตสิกประการต่างๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นมีความเห็นผิดที่เห็นว่าเที่ยง ยั่งยืน เป็นตัวตนหรือไม่ ถ้ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็เป็นทิฏฐิวิปลาส แต่ถ้าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็เป็นเพียงจิตวิปลาสและสัญญาวิปลาส เท่านั้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...