ทุติยอัปปมาทสูตร ... วันเสาร์ที่๑๙ กรกฎาคม๒๕๕๗

 
มศพ.
วันที่  13 ก.ค. 2557
หมายเลข  25092
อ่าน  1,424

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ทุติยอัปปมาทสูตร

(ว่าด้วยความไม่ประมาท)

จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๗๙

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

(ภาพการสนทนาธรรม ที่ มศพ. ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗)

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๗๙

ทุติยอัปปมาทสูตร

(ว่าด้วยความไม่ประมาท)

[๓๘๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปริวิตกแห่งใจบังเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ อย่างนี้ว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วนั่นแหละ สำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูกร มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกร มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ธรรมที่อาตมาภาพกล่าวดีแล้วนั่นแหละสำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว.

[๓๘๒] ดูกร มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมของหมู่เจ้าศากยะ ชื่อว่านครกะ สักกชนบท ครั้งนั้น ภิกษุอานนท์ เข้าไปหาอาตมภาพอภิวาท แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ดูกร มหาบพิตร ภิกษุอานนท์ ได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี เป็นคุณกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์ ดูกร มหาบพิตร เมื่อภิกษุอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวกะภิกษุอานนท์ว่า ดูกร อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ดูกร อานนท์ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดีมีจิตน้อมไปในคนที่ดีนี้ เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดเลย ดูกร อานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี จักเจริญอริยมรรคมีองค์แปด จักกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้

[๓๘๓] ดูกร อานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้อย่างไร

ดูกร อานนท์ ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน, ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ...ย่อมเจริญสัมมาวาจา. . . ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ. . . ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ... ย่อมเจริญสัมมาวายามะ. . . ย่อมเจริญสัมมาสติ. . . ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ดูกร อานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้อย่างนี้แล

ดูกร อานนท์ โดยปริยายแม้นี้ พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว.

ดูกร อานนท์ ด้วยว่าอาศัยเราเป็นมิตรดี สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเกิดได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความแก่ได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเจ็บป่วยได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความตายได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความโศก ความร่ำไรความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจได้

ดูกร อานนท์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดีมีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดีนี้ เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด.

[๓๘๔] ดูกรมหาบพิตร เพราะเหตุนั้นแหละ พระองค์พึงทรงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ดูกร มหาบพิตร พระองค์พึงทรงสำเหนียกอย่างนี้แล.

ดูกร มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งนี้ คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย พระองค์ผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี พึงทรงอาศัยอยู่เถิด.

ดูกร มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท หมู่นางสนมผู้ตามเสด็จ จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาทอาศัยความไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท.

ดูกร มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทแม้กษัตริย์ทั้งหลายผู้ตามเสด็จ จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาทอาศัยความไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท.

ดูกร มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้กองทัพ (ข้าราชการฝ่ายทหาร) ก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท.

ดูกร มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาทอาศัยความไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท.

ดูกร มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทแม้พระองค์เองก็จักเป็นผู้ได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว แม้หมู่นางสนมก็จักเป็นผู้ได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว แม้เรือนคลังก็จักเป็นอันได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว.

[๓๘๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า

บุคคลผู้ปรารถนาโภคะอันโอฬารต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาทบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ ในภพหน้า เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ นั้น ผู้มีปัญญาท่านจึงเรียกว่า "บัณฑิต"

จบ ทุติยอัปปมาทสูตร

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากอรรถกถาได้ที่นี่

อรรถกถาทุติยอัปปมาทสูตร...สังยุตตนิกาย สคาถวรรค


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ทุติยอัปปมาทสูตร (ว่าด้วยความไม่ประมาท)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระองค์ กราบทูลถึงความดำริของตนเองให้พระองค์ทรงทราบว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วนั่นแหละ สำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว

พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสว่าเป็นเช่นนั้น แล้วทรงยกคำที่ท่านพระอานนท์กราบทูลว่ากัลยาณมิตร เป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ ซึ่งพระองค์ตรัสว่าไม่ควรกล่าวอย่างนั้น เพราะเหตุว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ ผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมเจริญอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ให้บริบูรณ์ได้ สัตว์โลกผู้มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นธรรมดา อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ก็พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศกเสียใจ ได้ มาแสดงกับพระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งทรงแสดงให้พระองค์ผู้ทรงมีกัลยาณมิตรให้ทรงอาศัยความไม่ประมาท ถ้าหากพระองค์ไม่ประมาท แล้ว นางสนม กษัตริย์ผู้ติดตาม กองทัพ ชาวบ้านและชาวนิคม ก็จะเป็นผู้ไม่ประมาทคล้อยตามพระองค์ เมื่อพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเป็นอันได้รับการรักษาคุ้มครอง นางสนม ตลอดจนถึงเรือนคลังก็เป็นอันได้รับการรักษาคุ้มครองด้วย

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่่

ลักษณะกัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร หมายถึงเพื่อนที่ดี ไม่เกี่ยวกับทางธรรมได้หรือไม่

ใช้ชีวิตอย่างไรชื่อว่าไม่ประมาท

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ประสาน
วันที่ 15 ก.ค. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ "อ่านข้อความเพิ่มเติม เปิดไม่ได้ครับ"

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 19 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 19 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 19 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 19 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chamaikorn
วันที่ 19 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ