การแต่งกายเพื่อการปฏิบัติธรรม

 
tmangkon
วันที่  15 ก.ค. 2557
หมายเลข  25107
อ่าน  2,304

จากที่ทราบว่า เดี๋ยวนี้ ศูนย์ปฏิบัติธรรมหลายแห่ง เน้นให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติ ไม่แต่งหน้า ต้องนุ่งขาวห่มขาว อยากขอรบกวนทราบการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อเป็นแนวทางว่า จริงๆ แล้วการปฏิบัติธรรม คืออย่างไรค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะความติดข้องต้องการ และความเห็นผิด ให้เพิ่มขึน แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรม และ รูปธรรม ตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริงโดยที่ไม่เลือกสถานที่กาลเวลาและไม่มีการเจาะจง ที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เครื่องแต่งกาย ไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่า เป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกในธรรมตามความจริง ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม

ปฏิบัติธรรม เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีชีวิตเป็นไปปกติ ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติ สิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันนี้แหละ ถ้าได้สะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็สามารถเข้าใจถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้ ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแต่ปางก่อน เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไปจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด เพราะการที่ปัญญาจะมีมากได้ จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สี เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นสภาพธรรมที่ปรากฎทางตา เป็นสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม แต่สี จะรู้ว่าสีอะไร เพราะมีสภาพธรรมที่เป็นจิต คือ สภาพธรรมที่รู้ นั่นคือ มีการเห็น เมื่อมีการเห็น เห็นสี แต่ เพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็ว เมื่อเห็นสีแล้ว ก็คิดนึก ในสีที่ตัดกันไปมา หลายๆ สี เป็นรูปร่าง สัณฐาน เป็นสิ่งต่างๆ ที่สมมติว่าเป็นคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้น สิ่งนี้ แท้ที่จริงก็คือคิดนึก จากสิ่งที่ได้เห็นแล้ว

สีนั้นสำคัญไฉน? การจะได้รับสิ่งที่ดี หรือ สิ่งที่ไม่ดี ในสัจจะความจริงขึ้นอยู่กับกรรม และ ผลของกรรมที่ได้ทำมา ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีเสื้อที่ใส่ ว่าจะทำให้ได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี และ สีเสื้อ ก็ไม่สามารถจะทำให้คนอื่นได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี เพราะแต่ละคนก็มีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่มีใครทำให้ใครได้ กรรมของแต่ละบุคคลนั้น จะเป็นตัวกำหนด ให้ได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดีเอง ดังนั้น ตามที่เกิดมงคล ที่เป็นความเข้าใจผิด ในเรื่องการแก้เคล็ดของคนอื่น โดยการใส่สีเสื้อต่างๆ ก็เป็นความเข้าใจผิด ที่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม และ ไม่เข้าใจว่า ทุกคน มีกรรมเป็นของๆ ตน สีเสื้อ และ สิ่งอื่นๆ ที่คิดว่าเป็นมงคล จึงไม่สำคัญ ไม่เป็นประมาณเลย

แต่ละบุคคลที่เกิดมานั้น จะบริสุทธิ์ หรือ ไม่บริสุทธิ์ คือ จะเป็นคนดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่งกาย แต่อยู่ที่จิต เพราะเหตุว่าเมื่อจิตดี คือ เป็นกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ชื่อว่าบริสุทธิ์ (แต่เป็นการบริสุทธิ์ชั่วขณะที่จิตเป็นกุศลเพราะว่าผู้ที่จะมีจิตบริสุทธิ์จริงๆ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นเลยนั้นต้องเป็นพระอรหันต์) แต่เมื่อจิตไม่ดี คือ เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามเช่นเดียวกัน ก็ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์ จะถือเอาเครื่องแต่งกายเป็นประมาณไม่ได้เลย ครับ

ดังนั้น จิต จึงมีความสำคัญมาก ขึ้นอยู่กับว่า จะเป็นจิตที่ดี หรือ ไม่ดี เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคลจริงๆ ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่บุคคลทำกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรือ อกุศล ก็สำเร็จแล้วด้วยจิต ทั้งนั้น กล่าวคือ เมื่อจิตดี (เป็นกุศล) ก็สำเร็จเป็นกรรมดี ทำในสิ่งที่ดีงาม และเมื่อกรรมดีให้ผล ก็ให้ผลที่ดี น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตไม่ดี (เป็นอกุศล) ก็สำเร็จเป็นกรรมไม่ดีและให้ผลเป็นทุกข์ นำมาซึ่งความเดือดร้อนนานาประการ

จะเห็นได้ว่า ความดี และ การได้รับสิ่งที่ดี ไม่ได้อยู่ที่ สี และ เครื่องแต่งกาย ที่เป็นสีเสื้อ สีส้ม สีขาว สีแดง สีเหลือง สีฟ้า สีอะไรก็ตาม แต่สำคัญที่คุณความดีที่ใจของตนเองและกรรมที่เคยได้ทำมาเป็นสำคัญ จะเป็นเครื่องตัดสิน ครับ

จะใส่เครื่องแต่งกายแบบใด ถ้ากรรมให้ผล ก็ไม่พ้นจากกรรม จะใส่สีเสื้อ หรือ เครื่องแต่งกายแบบใด หากทำทุจริต ทางกาย วาจา สีเสื้อ เครื่องแต่งกาย ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย พิธีกรรม ต่างๆ ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ผู้ที่ทำกรรมดีก็ได้รับสิ่งที่ดีและผู้ที่ทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับกรรมชั่ว นี่คือสัจจธรรมความจริง

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

สีขาวกับอริยมรรค [พราหมณสูตร]

สีขาวของเครื่องนุ่งห่มจะนำไปสู่การดับกิเลสได้ไหม

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tmangkon
วันที่ 15 ก.ค. 2557

กราบขอบพระคุณสำหรับทุกคำตอบค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tmangkon
วันที่ 15 ก.ค. 2557

ขอเรียนถามเพิ่มเติมว่า จากศีลข้อ 7 ในอุโบสถศีล แต่นางวิสาขา ที่เป็นพระโสดาบันและเป็นมหาอุบาสิกา ก็แต่งตัวตามฐานะ และมีมหาลดาปสาธน์ประดับ เลยจะเรียนถามว่าศีลข้อนี้ มีประโยชน์อย่างไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

อุโบสถศีล ข้อที่ 7 ที่เว้นจากการประดับตกแต่งของหอม เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึง จะต้องรักษาทุกวัน ก็เป็นเฉพาะวันพระตามโอกาสเหมาะสม ซึ่ง พระโสดาบัน ท่านก็ยังมีโลภะ เป็นปกติ ก็รักความสวยงามเป็นธรรมดา แต่เมื่อถึงวันพระ ท่านก็ขัดเกลากิเลส เพิ่มขึ้นในวันนั้น ที่งดเว้นจากการประดับตกแต่งของหอม เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของศีลข้อนี้ จึงเป็น การขัดเกลากิเลสทีละน้อย ตามอัธยาศัย ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tmangkon
วันที่ 16 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ