ธรรม ธาตุ ขันธ์

 
papon
วันที่  27 ก.ค. 2557
หมายเลข  25173
อ่าน  7,288

เรียนอาจาร์ทั้งสองท่าน

"ธรรม ธาตุ ขันธ์" ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับคำทั้งสามด้วยครับและคำทั้งสามมีความสอดคล้องกันหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดง ละเอียด ลึกซึ้งครับ แม้แต่คำว่า ธรรม คำว่า ธรรมชาติ พระธรรมที่พระองคทรงแสดง ไม่ได้มีกล่าวไว้ว่า ธรรม คือ ธรรมชาติ พระองค์ทรงแสดง คำว่า ธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด และคำว่า ธรรม ยังมีความหมายกว้าง แม้สิ่งที่ไม่มีจริงที่เป็นบัญญัติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา ก็เป็นธรรมที่เป็นบัญญัติธรรม

ดังนั้น คำว่า ธรรมจึงมีหลายความหมาย และกว้าง รวมที่สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป และสิ่งที่ไม่มีจริงด้วยครับ แต่โดยความมุ่งหมาย เมื่อเรากล่าวถึงคำว่า ธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง ก็มุ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริงนั่นเองครับ

ส่วนคำว่า ธรรมชาติ ตามที่ชาวโลกเข้าใจกัน ก็คือ ต้นไม้ ภูเขา ทุกๆ สิ่งๆ แต่ชาวโลกไม่ได้รู้สัจจะความจริงว่า มีสิ่งที่มีจริงที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมด้วย จึงสำคัญว่าทุกสิ่งเป็นธรรมชาติก็คือบัญญัติต่างๆ ที่เป็นเรื่อราว เช่น บ้าน คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา

ดังนั้น เมื่อได้ยินใครกล่าวว่า ธรรม คือ ธรรมชาติ นั่นก็ไม่ตรง ไม่ถูกต้อง เพราะ ธรรม หมายถึงสิ่งที่มีจริงที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ด้วย ไม่ใช่ ธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็น ต้นไม้ ภูเขา สัตว์ สิ่งของ ที่เป็นบัญญัติเท่านั้น ครับ

คำว่าธาตุ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนี้ ครับ

สภาพธรรม ที่ชื่อว่า ธาตุ มีหลายความหมายดังนี้ ครับ

- ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น

- ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่สัตว์ทั้งหลาย ยึดถือไว้

- ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ตั้งไว้

- ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์

- ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่จัดแจง จัดสรร

- ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่เป็นไปตามอำนาจ เพราะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสภาพธรรม

- ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน

- ธาตุ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

ชื่อว่าธาตุ [วิสุทธิมรรคแปล]

ขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ขันธ์ ทั้งหมด มี ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์ (ได้แก่เจตสิก ๕๐ มี ผัสสะเจตนา เป็นต้น) และวิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตทั้งหมด ดังนั้น ขันธ์ มี ๕ ไม่ขาดและไม่เกิน

เพราะฉะนั้น ทั้งคำว่า ธรรม ธาตุ และ ขันธ์ ก็สอดคล้องกัน คือ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป เพียงแต่ คำว่า ธรรม และ ธาตุ จะกว้างกว่าขันธ์ เพราะขันธ์ ไม่รวมถึงพระนิพพาน ครับ อย่างไรก็ดี ทั้ง ๕ ชื่อนี้ เป็นการแสดงถึงความเป็นจริง ที่แสดงว่าไม่มีเรา เป็นแต่เพียง ธรรม ธาตุ ขันธ์ การศึกษา จึงไม่ใช่เรื่องจำชื่อ ความหมาย แต่ให้เข้าใจถูกว่า ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เพื่อไถ่ถอนความเห็นว่ามีเรา อันเป็นหนทางการดับกิเลส คือ อริยมรรค นั่นเอง ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ โดยพยัญชนะต่างๆ ที่เป็นคำจริงเป็นวาจาสัจจะ แม้แต่ ธรรม ธาตุ ขันธ์ ทั้ง ๓ คำไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี แต่เมื่อแปลในความหมายแล้ว ก็ตรงตามภาษาเดิม ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง อะไรก็ตามที่มีจริงมีลักษณะเฉพาะของตนๆ ชื่อว่า ธรรม เช่น เห็น เป็นธรรม สี เป็นธรรม ได้ยิน เป็นธรรม เสียง เป็นธรรม โกรธ เป็นธรรม แม้ความเข้าใจเป็นธรรม เป็นต้น

สำหรับ ธาตุ ก็มีอรรถเดียวกันกับ ธรรม เพราะกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เห็น เป็นธาตุ ได้ยิน เป็นธาตุ เจตสิกต่างๆ ก็เป็นธาตุ รูปแต่ละรูปก็เป็นธาตุ รวมถึงสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ คือ พระนิพพานก็เป็นธาตุ ดังนั้น ธรรม กับ ธาตุ จึงครอบคลุมสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมด ทั้งรูปธรรม และนามธรรม (จิต เจตสิก และนิพพาน)

ส่วนขันธ์ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคล เกิดแล้วดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ดังนั้น ขันธ์ จึงหมายถึงเฉพาะธรรมที่เกิดดับเท่านั้น ได้แก่ จิต เจตสิก และ รูป ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันเลย ดังนั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้น คือ ได้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 28 ก.ค. 2557

ธาตุ หมายถึง ธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะ ธาตุ กับ ธรรม เหมือนกัน เป็นสิ่งที่มีจริง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jarunee.A
วันที่ 28 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ