อเนสนากรรม มีความหมายว่าอย่างไรครับ

 
chatchai.k
วันที่  31 ก.ค. 2557
หมายเลข  25192
อ่าน  7,858

ขออนุญาตตั้งเป็นกระทู้ใหม่ เพื่อสะดวกในการสืบค้น สำหรับท่านที่สนใจศึกษาพระธรรม เกี่ยวเนื่องกับกระทู้ วิบาก หรือ ผล ของการคอรัปชั่น (corruption) หรือ อทินนาทาน ท่านวิทยากรได้นำเสนอข้อความจากพระไตรปิฎก ซึ่งข้อความบางตอน ดังนี้

จาก ..อรรถกถาภุสเปตวัตถุที่ ๔

ได้ยินว่า ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลแต่กรุงสาวัตถี มีพ่อค้าโกงคนหนึ่งเลี้ยงชีพด้วยอเนสนากรรมมีการโกงด้วยตราชั่งเป็นต้น. เขาถือเอาฟ่อนข้าวสาลีเคล้าด้วยดินแดง ทำให้หนักกว่าเดิม ปนกับข้าวสาลีแดงแล้วขาย.

ขอเรียนถามความหมายของคำว่า อเนสนากรรม มีความหมายกว้างแค่ไหนครับ

การทุจริตปลอมปนข้าวมีมานานแล้ว ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยในยุคนี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อเนสนากรรม หมายถึง กรรม คือ การกระทำทีเป็นการแสวงหาที่ไม่ควร ที่เป็นไปทางทุจริต เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นพระภิกษุ ก็จะใช้ศัพท์ว่า เลี้ยงตนเองด้วยอเนสนากรรม นั่นคือ การแสวงหาที่ไม่ประเสรฺฐ เช่น พระภิกษุที่เป็นหมอดู ปรุงยา ทำแบบคฤหัสถ์ ก็ชื่อว่าเป็นกรรม การกระทำ ที่เป็นการแสวงหาที่ไม่ควร ซึ่งการแสวงหาที่สมควรของพระภิกษุ ใน ปัจจัย ๔ คือ การบิณฑบาต ครับ

ส่วนของคฤหัสถ์ อเนสนากรรม คือ การแสวงหาที่ไม่สมควร ที่เป็นการประกอบอาชีพที่ทุจริต มีการคดโกง เป็นต้นนั่นเอง ครับ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของกิเลส ซึ่งเป็นอกุศลธรรมนั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมากทีเดียว เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงกิเลสของตนเอง เพื่อการขัดเกลาได้เลย ถึงแม้ว่าพระองค์ จะทรงแสดงไว้อย่างนี้ หรือ มากยิ่งกว่านี้ แต่ผู้ที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้ ก็ไม่สามารถขัดเกลาละคลายให้เบาบางลงได้ เป็นผู้ไม่เห็นโทษ เห็นภัยของสิ่งที่ไม่ดี ก็ทำให้สะสมในสิ่งที่ไม่ดีมากยิ่งขึ้น

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆ นั้น ก็เพราะว่าไม่ได้คล้อยตามพระพุทธพจน์ ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมนั่นเอง แม้แต่ในเรื่องการแสวงหาที่ไม่สมควร ที่เป็นอเนสนา (การแสวงหาในทางที่ผิด) ประการต่างๆ เกิดขึ้นด้วยอำนาจของกิเลสไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ ก็ตาม

บรรพชิต เลี้ยงชีพในทางที่ผิด ด้วยการรับส่งข่าวสาร ทำตัวเป็นคนรับใช้คฤหัสถ์ เป็นต้น ก็เป็นอเนสนาของบรรพชิต ถ้าเป็นการแสวงหาในทางที่ผิดของคฤหัสถ์ก็เห็นได้ชัดในเรื่องของการคดโกง หลอกลวงผู้อื่น เป็นต้น แต่ถ้าเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ความประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา จนกระทั่งเมื่อปัญญาถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมแล้ว ก็จะสามารถละกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายได้ในที่สุด เพราะกิเลสทั้งหลายจะหมดไปได้นั้น ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา แต่การละกิเลสจนหมดสิ้นนั้นเป็นเรื่องที่ไกลมากก็จะต้องอาศัยการสะสมปัญญาต่อไปอีกเป็นระยะเวลาที่ยาวนานทีเดียว

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 ก.ค. 2557

การแสวงหามี 2 อย่าง คือ การแสวงหาทรัพย์ และ การแสวงหาปัญญา

การแสวงหาปัญญาประเสริฐที่สุดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 1 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 1 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ด้วยความเคารพ จาก ใหญ่ราชบุรี - ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 3 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ