อย่าปล่อยให้จิตคิดฟุ้งซ่าน พยายามควบคุมความคิด

 
chatchai.k
วันที่  2 ส.ค. 2557
หมายเลข  25202
อ่าน  1,711

มักได้รับคำแนะนำจากบรรดาเพื่อนฝูงผู้ปรารถนาดีทั้งหลาย เมื่อเห็นเราเป็นทุกข์เดือดร้อนใจ หรือคิดวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ ก็มักได้รับคำแนะนำตามหัวข้อกระทู้โดยผู้แนะนำเข้าใจว่าถ้าควบคุมความคิดได้ จะทำให้เรามีจิตใจที่ สงบ พอสงบก็ไม่คิดฟุ้งซ่าน จากกระทู้ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ทำให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า สงบ แล้ว

ประเด็นที่จะเรียนถามท่านวิทยากรและท่านผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์มีว่า ถ้าเรามีเพื่อนฝูงที่กำลังเป็นทุกข์ เดือดร้อนใจ หรือ คิดวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ ท่านจะให้คำแนะนำอย่างไร จะแนะนำให้ ควบคุมความคิด อย่าปล่อยให้จิตคิดฟุ้งซ่านหรืออย่างไรครับ ตามความเป็นจริงทำได้ไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แม้แต่เรื่องการจะบังคับควบคุม เพราะในความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมเป็นอนัตตาไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลยแม้แต่ความคิด จะคิด เกิดอกุศล เกิดกุศล ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกิดแล้วเป็นไป แม้เห็นขณะนี้ก็เกิดแล้วเป็นปกติ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลย ที่จะให้เห็น หรือ ไม่ให้เห็น เช่นเดียวกับจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปขณะนี้ เมื่อสะสมอกุศล และ มีเหตุปัจจัยที่สะสมมา ที่ยังมีอกุศลที่สะสมมามากมาย ก็ทำให้เกิดอกุศลได้เป็นธรรมดา เกิดแล้วเป็นไปตามปกติเพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่การบังคับ ให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะเป็นเรื่องของการทำ แต่ไม่ใช่ความเข้าใจความเป็นเหตุปัจจัย และเป็นธรรม ที่ไม่ใช่เราจะทำ จะห้ามไม่ให้ทำ แต่พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของปัญญา คือเป็นเรื่องของความเข้าใจความจริง เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้วเป็นไป ว่าคืออะไร ซึ่งจะเป็นหนทางการละ เพราะเข้าใจ นั่นคือ เข้าใจความจริง ว่าเป็นธรรมและเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลย แม้แต่คิดอกุศล ความฟุ้งซ่าน ก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา การเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ก็จะไม่มีเราที่จะไปเดือดร้อนว่าเรามีอกุศล แต่เป็นธรรมทั้งนั้น ไม่มีเรา เพราะเกิดขึ้นและดับไป ตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nasansurat
วันที่ 2 ส.ค. 2557

จะเห็นได้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามการสะสมจริงๆ ธรรม เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงส่องให้เข้าใจถึงสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ทุกๆ ขณะ แม้แต่ในขณะที่ทุกข์ใจ, ทุกข์ใจ เป็นธรรมที่มีจริง จะมีทุกข์ใจมาก หรือ มีทุกข์ใจน้อย ก็เป็นกุศล กล่าวคือ เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยโทสะ ประกอบด้วยเวทนาอย่างหนึ่ง คือ โทมนัสเวทนา จึงมีความไม่สบายใจเกิดขึ้น นี้คือ ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

ทุกข์ใจมี เพราะยังมีกิเลสอยู่นั่นเอง เมื่อสะสมกิเลสมามาก กิเลสจึงเกิดมากเป็นธรรมดา ซึ่งจะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวัน แม้จะได้ฟังพระธรรมมาบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ไหลไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มากมาย โสภณธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี อันได้แก่ ปัญญา จึงมีน้อย และเจริญช้ามาก เมื่อปัญญายังน้อย จึงไม่มีกำลังที่ดับกิเลสได้ กิเลสจึงเกิดบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงเฉพาะในขณะที่เกิดความทุกข์ใจ ไม่สบายใจเท่านั้น ยังมีอกุศลธรรมประการอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งโลภะ ความติดข้องต้องการ โมหะความหลงความไม่รู้ เป็นต้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธทรงแสดงเท่านั้น ที่จะเป็นหนทางเพื่อการดับกิเลสทั้งหลาย เป็นหนทางที่จะได้ยาดี คือ ปัญญาที่สามารถรักษาโรคทางใจ คือ กิเลสได้ทุกชนิดจริงๆ เป็นยาที่พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ท่านได้ใช้ และหายจากโรคดังกล่าวได้ ทำให้เป็นผู้ไกลจากกิเลสตามระดับขั้นของปัญญา ดังนั้นจึงต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจตลอดจนถึงขณะที่เป็นกุศลนั้น อกุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในขณะนั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 2 ส.ค. 2557

ไม่ให้จิตฟุ้งซ่านก็ต้องตั้งใจฟังธรรม ขณะที่กุศลจิตเกิดก็ไม่ฟุ้งซ่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Chalee
วันที่ 2 ส.ค. 2557

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 3 ส.ค. 2557

แนะนำให้ฟังพระธรรมครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 3 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
bsomsuda
วันที่ 3 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 4 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ