งานวิจัย และ นักวิจัย
งานวิจัยหลายอย่างเป็นประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษาโรค งานวิจัยเหล่านี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้สัตว์ทดลองต้องสิ้นชีวิต
ขอเรียนถามว่าอาชีพนักวิจัยบางประเภท ที่ต้องฆ่าสัตว์ เป็นอาชีพที่ไม่ควรประกอบ เช่นเดียวกับอาชีพค้าขายเนื้อสัตว์ หรือไม่ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องตรง ขณะใดที่มีเจตนาที่จะให้ยา เพื่อทดลอง และรู้ว่าสัตว์นั้นต้องตาย หากมีเจตนาฆ่า ก็เป็นกรรมไม่ดี เป็นปาณาติบาต ไม่ว่าจะประกอบอาชีพ หรือ ไม่ประกอบอาชีพ แต่เจตนามีแล้ว และกรรมสำเร็จ ก็ต้องเป็นอกุศลกรรม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะสภาพธรรมเป็นสัจจะ และเป็นสภาพที่ตรงตามความเป็นจริง ธรรมไม่ใช่เรื่องบังคับแต่ชี้แจงให้เห็นประโยชน์ ทุกชีวิตก็ย่อมเป็นไป ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ แม้แต่การประกอบอาชีพ เหมือนจะเลือกได้ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามการสะสมมาและกรรมที่บันดาลให้เป็นไปตามนั้น ตัวอย่างเช่นนายพรานผู้ประกอบอาชีพล่าเนื้อและเอาเนื้อมาขาย เมื่อได้พบพระพุทธเจ้าตัวนายพรานเองก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จะเห็นได้ว่าท่านสะสมปัญญามา แม้ท่านจะประกอบอาชีพไม่เหมาะสม เพราะทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยบังคับบัญชาไมไ่ด้ แต่เมื่อสะสมปัญญามา ปัญญาถึงพร้อมไม่ว่าอาชีพใดก็สามารถบรรลุธรรมได้ครับ เพียงแต่ว่าจะต้องเข้าใจเหตุผลในเรื่องของพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในเรื่องการประกอบอาชีพว่า อาชีพใดไม่ควรประกอบเพราะเอื้อต่อการทำอกุศลกรรม แต่เลือกไม่ได้ แต่ค่อยๆ สะสมปัญญาได้ ถ้าเลือกได้ ทุกคนก็อยากทำงานดีๆ เป็นคนดี แต่เลือกไม่ได้เลย เพราะธรรมเป็นอนัตตา แม้จะสะสมปัญญามาดังเช่นนายพราน กรรมก็ยังซัดไปให้ไปประกอบอาชีพไม่ควร แต่ท้ายสุด ท่านก็เป็นพระโสดาบันครับ ประโยชน์คือการฟังพระธรรมต่อไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามธรรม แต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถบังคับได้ แต่ผู้ที่สะมปัญญา ความเห็นถูก ก็สะสมความเข้าใจพระธรรม แม้จะประกอบอาชีพที่ไม่ควร เพราะธรรมจัดสรรให้เป็นอย่างนั้นได้ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เป็นกุศลอยู่ตลอด ไม่ได้เป็นอกุศลอยู่ตลอด ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งหมด ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบากและกิริยา ขณะที่จิตเป็นอกุศลไม่ใช่บุญ จะเห็นได้ว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวัน ถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ก็ล่วงเป็นทุจริตกรรม เป็นอกุศลกรรม เป็นบาปที่จะให้ผล คืออกุศลวิบากในภายหน้า สำหรับผู้ที่เป็นนักทดลองทางวิทยาศาสตร์ค้นคว้าวิชาการใหม่ๆ โดยใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลอง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น สภาพจิตใจคงจะไม่เหมือนกับผู้ที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ เบียดเบียนสัตว์เป็นประจำ แต่การฆ่า การเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็นใครทำ ก็เป็นบาป เป็นสิ่งที่ไม่ดีเหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีการยกเว้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และที่ยังเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ายังมีภพชาติเหลืออยู่ สังสารวัฏฏ์ ยังเป็นไปอยู่อันเนื่องมาจากการมีกิเลส ยังดับกิเลสใดๆ ไม่ได้นั่นเอง บุคคลผู้ที่จะไม่ฆ่าสัตว์ อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล โอกาสที่จะล่วงศีล เบียดเบียนผู้อื่นก็อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทางที่ดีที่สุดคือ ไม่ประมาทกำลังของกิเลส ไม่ประมาทในการเจริญกุศล สะสมความดี และอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
นักศึกษาแพทย์ทำการทดลองกับสัตว์
...ขออนุโมทนาในกุศจิตของทุกๆ ท่านครับ...