กาสาวชาดก ... ความโหดร้ายของอดีตชาติพระเทวทัต

 
khampan.a
วันที่  6 ม.ค. 2558
หมายเลข  26013
อ่าน  2,229

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้าที่ ๓๘๓

๑. กาสาวชาดก

ว่าด้วยผู้ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ

[๒๙๑] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาดยังคายออกไม่ได้ ปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ผู้นั้นย่อมไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดเลย.

[๒๙๒] ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาดแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมสมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดได้.

จบ กาสาวชาดกที่ ๑

อรรถกถาสาวชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อนิกฺกสาโว กาสาวํ ดังนี้. แต่เรื่องเกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์.

สมัยหนึ่งพระธรรมเสนาบดีอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ครั้งนั้นพระเทวทัตห้อมล้อมไปด้วยบริษัทผู้ทุศีลสมควรแก่ตนอยู่ ณ คยาสีสประเทศ สมัยนั้นชาวกรุงราชคฤห์เรี่ยไรกันจัดเตรียมทาน ครั้งนั้นมีพ่อค้าผู้มาเพื่อทำการค้าขายผู้หนึ่งได้ให้ผ้ากาสาวะมีกลิ่นหอม มีค่ามาก ว่าท่านทั้งหลายจงจำหน่ายผ้าสาฎกนี้แล้วให้เรามีส่วนบุญร่วมด้วยเถิด ชาวพระนคร ถวายทานกันมากมาย วัตถุทานทุกอย่างที่ร่วมใจกันรวบรวมจัดครบเรียบร้อยแล้วด้วยกหาปณะทั้งนั้น ผ้าสาฎกผืนนั้นจึงได้เหลือ มหาชนประชุมกันว่าผ้าสาฎกมีกลิ่นหอมผืนนี้เป็นของเกิน เราจะถวายผ้าผืนนั้นแก่รูปไหนเราจักถวายแก่พระสารีบุตรหรือแก่พระเทวทัต ในมนุษย์เหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า จักถวายแก่พระสารีบุตรเถระ อีกพวกหนึ่งกล่าวว่าพระสารีบุตรเถระอยู่ชั่ว ๒-๓ วันแล้วก็จะหลีกไปตามชอบใจ ส่วนพระเทวทัตอยู่อาศัยเมืองของเราแห่งเดียวเป็นประจำ ท่านองค์นี้แหละได้เป็นที่พึ่งของเราทั้งในงานมงคลและอวมงคล พวกเราจักถวายแก่พระเทวทัต แม้พวกที่กล่าวกันไปหลายอย่างนั้น พวกที่กล่าวว่าเราจักถวายแก่พระเทวทัตมีมากกว่า มหาชนจึงได้ถวายผ้านั้นแก่พระเทวทัต พระเทวทัตให้ช่างตัดผ้ากาสาวะมีกลิ่นหอมนั้นออก แล้วให้เย็บเป็นสองชั้น ให้ย้อมจนมีสีดังแผ่นทองคำห่ม

ในกาลนั้น ภิกษุประมาณ ๓๐๐ รูป ออกจากกรุงราชคฤห์ไปยังกรุงสาวัตถี ถวายบังคมพระศาสดา พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารแล้วได้ทูลให้ทรงทราบเรื่องราว แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระเทวทัตห่มผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์อันไม่สมควรแก่ตนอย่างนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตนุ่งห่มผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์อันไม่สมควรแก่ตนในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้เมื่อก่อนเทวทัตก็นุ่งห่มแล้วเหมือนกัน ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัส

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลช้างที่ป่าหิมพานต์ ครั้นเติบใหญ่แล้วได้เป็นหัวหน้าโขลงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือกเป็นบริวาร อาศัยอยู่ในราวป่า ครั้งนั้นมีมนุษย์เข็ญใจผู้หนึ่งอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เห็นช่างกลึงงาที่ถนนช่างทำเครื่องงา กำลังทำเครื่องงาต่างๆ มีกำไลงาเป็นต้น จึงถามว่า ท่านได้งาช้างแล้วจักรับซื้อไหม พวกช่างงาตอบว่าเรารับซื้อซิ มนุษย์เข็ญใจนั้นรับว่าตกลง จึงถืออาวุธ นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด คลุมศีรษะยืนคอยอยู่ที่ทางช้างผ่าน ใช้อาวุธฆ่าช้างแล้วเอางามาขายที่เมืองพาราณสีเลี้ยงชีพ. ต่อมาคนเข็ญใจนั้นได้เริ่มฆ่าช้างบริวารของพระโพธิสัตว์ที่เดินล้าหลังช้างทั้งหมด เมื่อช้างขาดหายไปทุกวันๆ พวกช้างจึงแจ้งแก่พระโพธิสัตว์ว่า ช้างขาดหายไปด้วยเหตุอะไรหนอ

พระโพธิสัตว์คอยสังเกตดู ก็รู้ว่า บุรุษคนหนึ่งถือเพศอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้ายืนอยู่ที่ริมทางช้างผ่าน เจ้าคนนี้กระมังฆ่าช้าง เราจักคอยจับมัน วันหนึ่งจึงให้พวกช้างเดินไปข้างหน้าตน ตนเองเดินไปข้างหลัง มนุษย์เข็ญใจ เห็นพระโพธิสัตว์จึงถืออาวุธตรงเข้าไป. พระโพธิสัตว์ถอยหลังกลับมายืนอยู่ คิดว่า จักจับฟาดดินให้ตาย จึงยื่นงวงออกเห็นผ้ากาสายะที่มนุษย์นั้นนุ่งห่มอยู่คิดว่า ผ้ากาสายะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์นี้เราควรทำความเคารพ จึงม้วนงวงหดกลับแล้วกล่าวว่า นี่แน่ะเจ้าบุรุษ ผ้ากาสายะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์นี้ไม่สมควรแก่เจ้ามิใช่หรือ ไฉนเจ้าจึงห่มผ้าผืนนั้นเล่า ได้กล่าวคาถานี้ว่า

ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาด ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ผู้นั้นย่อมไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดเลย. ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาดแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้งหลายประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมสมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดได้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อนิกฺกสาโว ความว่า ท่านเรียก กิเลสเพียงดังว่าน้ำฝาดนั้นได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ตีเสมอท่าน) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) มายา (เจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ความถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มทะ (ความมัวเมา) ปมาทะ (ความเลินเล่อ) อกุศลธรรมทั้งหมด ทุจริตทั้งหมด กรรมที่นำไปสู่ภพทั้งหมด กิเลส ๑๕๐๐ นี่ชื่อว่า กสาวะ กิเลสเพียงดังว่าน้ำฝาด กิเลสเพียงดังว่าน้ำฝาดนั้น บุคคลใดยังละไม่ได้ ยังอาศัยอยู่ ยังไม่ออกจากสันดานของบุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่ามีกิเลสเพียงดังว่าน้ำฝาดอันยังไม่คายออก.

บทว่า กาสาวํ ได้แก่มีสีเหลืองอันเป็นรสของน้ำฝาด เป็นธงชัยของพระอรหันต์.

บทว่า โย วตฺถํ ปริทหิสฺสิ ความว่า ผู้ใดเป็นอย่างนี้จักใช้สอยคือนุ่งและห่มผ้าชนิดนี้.

บทว่า อเปโต ทมสจฺเจน ความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ปราศจากคือ ห่างไกลจากทมะอันได้แก่การฝึกอินทรีย์และปรมัตถสัจจะอันได้แก่ พระนิพพาน.

บทว่า น โส กาสาวมรหติ ความว่า บุคคลนั้นไม่คู่ควรผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ เพราะยังมีกิเลสเพียงดังว่าน้ำฝาด ยังคายออกไม่ได้ จึงไม่สมควรแก่ผ้ากาสาวะนั้น.

บทว่า โย จ วนฺตกสาวสฺส ความว่า ส่วนบุคคลใดชื่อว่าเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังน้ำฝาดคายออกแล้ว เพราะกิเลสเพียงดังน้ำฝาดตามที่กล่าวแล้วนั่น คายออกหมดแล้ว.

บทว่า สีเลสุ สุสมาหิโต คือเป็นผู้มั่นคงด้วยศีลในมรรคศีลและผลศีล คือตั้งมั่นในมรรคศีลและผลศีลเหล่านั้น ดุจนำมาตั้งไว้.

บทว่า อุเปโต ได้แก่ถึงพร้อมคือ ประกอบพร้อม.

บทว่า ทมสจฺเจน คือ ด้วยทมะและสัจจะมีประการดังกล่าวแล้ว.

บทว่า ส เว กาสาวมรหติ ความว่า บุคคลเห็นปานนี้นั้น ย่อมคู่ควรผ้ากาสาวะ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์นี้.

พระโพธิสัตว์กล่าวเหตุนี้แก่บุรุษนั้นอย่างนี้แล้ว ขู่ว่าตั้งแต่นี้ไป เจ้าอย่ามาที่นี่อีกเป็นอันขาด หากเจ้ามา เจ้าจะต้องตาย แล้วปล่อยให้หนีไป

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก บุรุษผู้ฆ่าช้างในครั้งนั้น ได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้ ส่วนช้างผู้เป็นหัวหน้าโขลง คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถากาสาวชาดกที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pichet
วันที่ 16 มิ.ย. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ