ทิฏฐิ
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
"ทิฏฐิ" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายในคำนี้ด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทิฏฐิ โดยทั่วไปเป็นคำกลางๆ หมายถึง ความเห็น ขึ้นอยู่กับว่าจะเห็นถูก หรือเห็นผิด ถ้าเห็นถูก ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญา แต่ถ้าเป็นความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิ ที่เป็นอกุศล เป็นอันตรายมากทีเดียว
ถ้าได้ฟังพระธรรม โดยเฉพาะในส่วนของอภิธรรม จะได้ยินว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ทิฏฐิ ในที่นี้ หมายถึง ความเห็นผิด เท่านั้น ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ
ถ้าความเห็นของแต่ละบุคคลคลาดเคลื่อนไป ผิดไป ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทุกอย่างก็จะผิดไปด้วย โดยที่สิ่งที่ผิดก็จะเห็นว่าถูก สิ่งที่ถูกก็จะเห็นว่าผิด นี่แหละคือความเห็นผิดซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมาย เป็นไปเพื่อความเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ เลยทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ความเห็นผิดก็เป็นความเห็นผิด ความเห็นถูกก็ต้องเป็นความเห็นถูก
หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลาความเห็นผิดและความไม่รู้นั้น ก็คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
ทิฏฐิเกิดกับโลภะทุกครั้งเลยหรือครับ? ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
สัมมาทิฏฐิสำคัญมาก ถ้าเห็นผิด เดินทางผิด เป็นไปตามแนวทางที่ผิดๆ เสียเวลาไปอีกหนึ่งชาติ
ความเห็นผิดที่ดิ่งมีความร้ายแรงมากกว่าอนันตริยกรรม..
สาธุขออนุโมทนาทุกท่านคะ
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
ทิฏฐิเกิดกับโลภะทุกครั้งเลยหรือครับ? ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ทุกครั้งที่ทิฏฐิซึ่งเป็นความเห็นผิดเกิดขึ้นจะเกิดพร้อมกับโลภะความติดข้อง เสมอ แต่โลภะเมื่อเกิดขึ้น จะไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็มี เช่นติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่มีความเห็นผิดว่าเที่ยง ยั่งยืน หรือเป็นตัวตน ครับ