ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๘๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๘๓
# ถ้าพิจารณาถึงเหตุที่จะนำมาซึ่งทุกข์ ก็คือทุกข์ของการเกิดขึ้น ทุกข์ของภพชาติ ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นเลย ทุกข์ทั้งหลายในชาตินี้ย่อมมีไม่ได้ หรือในชาติก่อนๆ ก็เหมือนกัน ถ้าชาติก่อนๆ ไม่มีการเกิดเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ทุกข์ทั้งหลายในชาติก่อนๆ ก็มีไม่ได้ หรือในชาติต่อไปก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะไม่มีการเกิดอีกเลย ทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้เลย
# ทุกข์ของชาติก่อนๆ ผ่านไปหมด จำไม่ได้ ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม หรือใครยังเป็นทุกข์อยู่ว่า ชาติก่อนๆ โน้นเป็นทุกข์มากมายอย่างนั้นอย่างนี้ เคยเป็นเปรต เคยตกนรก นั่นก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทุกข์ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้
# ตัวเองก็ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ได้ ถ้ามีความเห็นผิด ก็ทรมานตัวให้ลำบากด้วยประการต่างๆ หรือว่าอาจจะถึงกับฆ่าตัวตายก็เป็นได้
# ในขณะนี้ไม่มีสัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่ละขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งไม่เหมือนกันเลยในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสังขารขันธ์ของใครก็ตาม การคิดนึกของแต่ละคนในขณะนี้ ย่อมเป็นไปตามการปรุงแต่งของการสะสมของแต่ละบุคคล
# ขณะที่ตื่นมาแล้วก็ขุ่นข้องหมองใจ เดือดร้อน กังวล ความรู้สึกเป็นอย่างไร? ไม่สบาย เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ไม่ต้องถามใคร หรือไม่ต้องให้ใครบอกว่า นี่เป็นโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) หรือนี่โทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) แต่สามารถจะพิจารณาจากความรู้สึก ซึ่งเป็นเวทนาเจตสิกได้ว่า ถ้าขณะใดไม่สบายใจ ไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต
# การฟังพระธรรม แล้วก็เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง
# โกรธใครแล้วไม่หมด แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ยังโกรธบุคคลนั้นต่อไป อันนั้นก็เป็นความผูกโกรธ
# การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นเรื่องที่ค่อยๆ ละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏเพียงอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นปะปนด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่า ปัญญาและสติมีกำลังที่มั่นคง
# อัตภาพของคนชราแล้ว ย่อมทุรพลดุจเกวียนคร่ำคร่า เมื่อพยายามจะยืน จะเดิน หรือจะนั่ง ย่อมเกิดทุกข์ทางกายอย่างเหลือเกิน
# การที่จะคิดถึงคนอื่น คิดถึงการกระทำของคนอื่น หรือว่าพิจารณาการกระทำของคนอื่น ถ้าเป็นไปในทางที่จะให้กุศลจิตเกิด แทนที่จะพิจารณาในทางที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด ย่อมเป็นประโยชน์กว่า เพราะเหตุว่าทุกคนมีจิตใจต่างๆ กันมีความประพฤติทางกาย ทางวาจาต่างๆ กัน
# “ปุถุ” ความหนาแน่นด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น จะชวนกันให้ละกิเลสจะเป็นเรื่องยาก แต่ว่าชักชวนให้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ให้ศึกษาและเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่ต้องมีใครชักชวน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายต้องมีเหตุปัจจัยที่จะเกิด จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้ามีญาติพี่น้องที่กำลังมีชีวิตเพลิดเพลินในทางโลก แล้วจะบอกให้เขาไปนิพพาน หรือจะบอกให้เขาดับกิเลส เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าชักชวนให้ฟังธรรม ให้เข้าใจเสียก่อน แล้วก็แล้วแต่ว่าใครจะมีปัจจัยที่จะเจริญหนทางข้อปฏิบัติที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะเหตุว่าไม่ใช่ต้องถึงนิพพาน เพียงให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มีฉันทะ มีความพอใจหรือยัง ที่จะเป็นผู้ที่รู้ ดีกว่าไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏแล้วรู้ ย่อมดีกว่าไม่รู้ เพียงเท่านี้ก็ยาก ถ้าผู้นั้นไม่ได้ฟังพระธรรม ย่อมไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์
# เหตุของความทุกข์ย่อมมาจากความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ผู้ที่ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแล้ว จะดับโทสมูลจิตได้ แต่ถ้ายังเป็นผู้ที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ย่อมหนีทุกข์ไม่พ้น เพราะเหตุว่าความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุทำให้โทสมูลจิตเกิด ถ้าไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา
# ความพินาศซึ่งเกิดแต่ศีล คือ ความทุศีลย่อมทำให้ศีลสิ้นไป เวลาที่มีทุจริตกรรม คือ การล่วงศีลเกิดขึ้น ย่อมได้รับทุกข์ด้วยประการต่างๆ ตั้งแต่เสื่อมเสียชื่อเสียง และไม่มีใครคบหาสมาคม แล้วก็ยังได้รับผลของอกุศลกรรมในการล่วงศีลนั้นๆ ตามควรแก่กาลเวลา และความหนักเบาของทุจริตกรรมนั้นๆ ด้วย
# ความเสื่อมหรือความพินาศซึ่งเกิดจากความเห็นผิด อันนี้ก็เป็นอันตรายมาก เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะทำให้เกิดการคิด การพิจารณาที่ถูกต้องในเหตุผลของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมนำโทษภัยอย่างใหญ่หลวงมาให้ตลอดในสังสารวัฏฏ์ฏ์ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังไม่พ้นจากความเห็นผิด สังสารวัฏฏ์ฏ์ก็ไม่สามารถที่จะจบสิ้นได้
# หน้าตาของคนที่กำลังเสียใจก็เป็นอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะมองเห็นได้ว่า ขณะนี้ต้องไม่สบายใจแน่ๆ หรือว่าต้องมีความทุกข์อย่างมากทีเดียว
# พระธรรมมีไว้สำหรับให้พิจารณา แล้วก็ใคร่ครวญ แล้วก็น้อมประพฤติปฏิบัติตามตามความสามารถ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ฟังแล้วก็ผ่านไป
# เป็นคนดี โดยไม่ต้องบวช ก็ได้
# ทาน การให้วัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็เป็นพรหมจรรย์ เพราะเป็นการสละสิ่งซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นของของเรา
# ประโยชน์ของการฟังพระธรรม คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก
# พรหมจรรย์ทั้งหมด คือ ความดี และ ดีที่สุด ก็คือ ได้สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ไม่ใช่คิดเอง
# คำพูดเกิดจากจิต ถ้าเข้าใจผิด ก็พูดผิด ถ้าจะเข้าใจถูก ก็พูดถูก
# ในเมื่อยังไม่เข้าใจธรรม ก็จะต้องฟังพระธรรมจนกว่าจะเข้าใจ
# เมื่อไม่เข้าใจ ก็จะไปทำอะไรด้วยความไม่เข้าใจอย่างแน่นอน
# กิเลสจะค่อยๆ หมดไปได้ เมื่อมีปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น
# ปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เรื่องความติดข้อง
# ผู้ที่มีความเห็นผิด แล้วไม่กล้าหรือไม่ยอมที่จะสละความเห็นผิด มาสู่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะความไม่รู้ ความติดข้อง และ ความเห็นผิด.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๘๒
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากรและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน