ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ราชบุรี ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คณะวิทยากร อ.ธีรพันธ์ ครองยุทธ อ.ธิดารัตน์ หอมจันทร์ อ.วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ ได้รับเชิญจาก พันตรีหญิงศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี คุณพ่ออุดมและคุณแม่นวลศรี มิ่งโมฬี เพื่อไปสนทนาธรรม ณ บ้านมิ่งโมฬี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นการไปสนทนาธรรมประจำปี ที่ท่านเจ้าภาพได้จัดขึ้นทุกปี เป็นเวลานานหลายปีมาแล้ว
แต่เดิม ข้าพเจ้าตั้งใจว่าปีนี้จะขับรถไปคนเดียว ในวันที่สองของการสนทนาธรรมเช่นเคย โดยตั้งใจว่า จะไปขออาศัยพักที่บ้านไม้สักแสนสวยหลังใหญ่บนเนิน อีกสักครั้งหนึ่ง เพราะได้เคยพักค้างคืนแล้วเมื่อครั้งแรกที่ได้มาสนทนาธรรมที่นี่ แล้วรู้สึกมีความสุขมาก ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นในครั้งนั้น และ ได้นอนฟังธรรม ร่วมกันกับท่านอื่นๆ ตลอดคืน แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ เนื่องจากคุณพรทิพย์ ถูกจิตร ภรรยาของพี่หมอทวีป ถูกจิตร ซึ่งท่านเป็นอาสาสมัครน้ำใจงาม ที่อาสาเป็นตากล้องถ่ายวีดีโอ เพื่อออกรายการบ้านธัมมะ ต้องไปช่วยงานในวันแรกและวันที่สอง ของการสนทนาธรรม เนื่องจากท่านอื่นติดภารกิจ คุณพรทิพย์จึงชวนอาจารย์ธิดารัตน์ไปด้วย ส่วนข้าพเจ้าก็ขันอาสาขับรถไปด้วย ซึ่งต่อมา คุณพรทิพย์แจ้งว่า ได้จองห้องพัก (บ้านพัก) ที่ ลาทอสคาน่าไว้ให้แล้ว ที่คิดว่าจะไปคนเดียว และวาดฝันว่าจะไปนอนรำลึกความหลังที่บ้านไม้หลังใหญ่ก็ต้องล้มเลิก พร้อมกับที่ขอร้องแกมบังคับคุณภรรยา ที่คิดว่าจะอยู่ดูแลร้าน (เสียบ้าง) ให้ไปด้วยกัน เนื่องจากระยะนี้ เราสองคนเดินทางไปธรรมสัญจรบ่อย จึงเกรงใจลูกที่ต้องอยู่โยงเฝ้าร้าน
เมื่อไปถึง ปรากฏว่าเราสองคนได้บ้านพักหลังเดิม ที่เคยพักเมื่อปีที่แล้ว เป็นบ้านหลังน้อยแสนสวย มีห้องน้ำที่ใหญ่โตกว่าห้องนอนเสียอีก อันที่จริง บ้านมิ่งโมฬี ก็เป็นสถานที่ที่ให้บริการบ้านพัก และ ที่กางเต้นท์ สำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการมาเที่ยวและพักค้างคืนที่สวนผึ้ง โดยมีบ้านพักไว้บริการถึง สามหลัง ด้วยกัน ซึ่งก็คือ บ้านไม้สักหลังใหญ่บนเนิน ที่ใหญ่โต กว้างขวาง (ที่ใช้เป็นที่สนทนาธรรมทุกครั้ง) พักได้ถึง ๑๕ ท่าน เป็นอย่างต่ำ มีอุปรณ์เครื่องใช้ไว้บริการครบครัน และสะดวกสบายมาก เหมาะสำหรับหมู่คณะ ที่ต้องการมาท่องเที่ยวและทำกิจกรรมร่วมกันมากๆ ครับ นอกจากนั้นก็มีบ้านริมน้ำในสวน ที่ดูร่มรื่น สบายๆ เหมาแก่การพักผ่อนอย่างยิ่ง และ หลังสุดท้าย อยู่บนเนิน ใกล้กับบ้านไม้หลังใหญ่ ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ เป็นบ้านหลังน้อย ที่ออกแบบและตกแต่งได้น่ารักแสนโรแมนติคมากๆ โดยสถาปนิกชื่อดัง ท่านที่สนใจ สามารถติดต่อได้จากลิงค์นี้ ครับ
เนื่องจากเรามีเวลาอยู่ร่วมการสนทนาธรรมเพียงสองวัน และต้องเดินทางกลับก่อน เนื่องจากคุณพรทิพย์ ติดภารกิจ ที่ต้องกลับมาเตรียมการต้อนรับท่านอาจารย์ และกลุ่มสนทนาธรรมของคุณบรรยงค์ จงจิตรนันท์ ซึ่งปรกติได้รับโอกาสรับประทานอาหารกลางวันและสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ เดือนละครั้ง แต่ครั้งนี้ เป็นวาระพิเศษ มารับประทานอาหารและสนทนาธรรม ที่บ้านของพี่หมอทวีป และ คุณพรทิพย์ ถูกจิตร ในวันศุกร์ ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เราจึงอยู่ร่วมการสนทนาธรรมได้เพียงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ และเดินทางกลับในตอนเย็น ซึ่งในตอนบ่ายของวันที่สอง ท่านอาจารย์ได้เมตตากล่าวถึง พรมวิหารธรรม โดยละเอียด เป็นที่จับใจของหลายๆ ท่าน ในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตนำมาแบ่งปันให้ทุกๆ ท่าน ได้พิจารณาด้วย ดังนี้ ...
เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ธรรมะที่ฝ่ายดี ขณะนั้นเกิด ไม่ทำให้เดือดร้อนเลย แม้ในขณะนั้น และ ในขณะไหน ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมตตา คือ อะไร? นั่งท่องหรือเปล่าคะ? ไม่ใช่ไหม?
"เมตตา" มีจริง "เมตตา" มาจากคำว่า "มิตต" ภาษาไทยใช้คำว่า "มิตร" ตรงกันข้ามกับ ศัตรู ถ้าใครเป็นมิตร หรือว่า เป็นมิตรกับใคร หมายความว่า เป็นเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูล และ หวังดี จะแข่งดีกับเพื่อน ได้ไหม? โกรธเพื่อน ได้ไหม? เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เป็นสภาพที่เป็นมิตรจริงๆ คือ หวังดี ขณะนั้น พร้อมที่จะเกื้อกูล ถ้าเกื้อกูลแล้ว เขาอาจจะแสดงกิริยาอาการ หรือคำพูดที่ไม่ดีกลับมา เมตตา หรือเปล่า?
สภาพของจิต ละเอียดมาก และ ต้องรู้ว่า ขณะที่เป็นมิตร กับใครก็ได้ รูปร่างหน้าตา น่ากลัวอย่างไรก็เป็นมิตรได้ แขนขาด ขาขาด ก็เป็นมิตรได้ โจร ผู้ร้าย เป็นมิตรกับเขา ได้ไหม? เป็นมิตร แล้วเราใช้คำว่า แผ่เมตตานี่ แสนกว้าง คิดดู คำนี้ แล้วก็ชอบจะแผ่กันเสียจริงๆ โดยไม่รู้ว่า เมตตา คือ อะไร?
แผ่เมตตา แล้วโกรธ แล้วจะเป็นแผ่เมตตาได้อย่างไร? ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ก่อนจะแผ่ มีเมตตาหรือเปล่า? ไม่มี แล้วไปแผ่ได้อย่างไร? แบบปัญญาเนี่ยค่ะ ใช้สติ ใช้ปัญญา ก็ไม่มีทั้งสติ ทั้งปัญญา แล้วจะเอาอะไรไปใช้ ถึงอย่างไรก็ใช้ไม่ได้ ใช้อะไรก็ไม่ได้!!! เพราะเหตุว่า ธรรมะ ไม่ใช่ของใคร ที่จะให้เอาไปใช้ แต่คำที่ได้ยินบ่อยๆ "ฟัง" เพื่อจะนำไปใช้ ไม่ได้เข้าใจธรรมะ ว่า ไม่ใช่ของใคร ธรรมะ เป็น ธรรมะ
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ จึงต้องละเอียด ตราบใดที่ไม่ละเอียด คือ ฟังแล้วไม่เข้าใจ เข้าใจไม่ถูก เข้าใจแต่ชื่อ เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่สามารถที่จะรู้สภาพที่เป็นเมตตา จริงๆ ในขณะนั้น ไม่รู้ว่า แผ่เมตตาเป็นแบบไหน พอท่องเสร็จ ก็โกรธคนนั้น คนนั้นไม่ดี แล้ว เมตตา คือ อะไร? และ เมตตา ต้องไม่ใช่กรุณา ด้วย ต่างกันแล้ว
ถ้าไม่สามารถที่จะเห็นความต่างกันของ "เมตตา" กับ "กรุณา" ก็เลยปะปนกันไปเลย คิดว่า เราเป็นคนมีกรุณา แต่ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น "เมตตา" ไม่จำเป็นต้องคนนั้นเดือดร้อนเลย แต่สามารถเป็นมิตร หวังดี เขาทำของหล่น เก็บให้เลย ใช่ไหม? เขาต้องการความช่วยเหลือ แนะนำได้ทันที เป็นมิตร หวังดี พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ว่าใคร หมายความว่า เมตตาเพิ่มขึ้น ก่อนจะมาก
ส่วนแผ่ ต้องถึงอัปนาสมาธิฌานจิต ก็คิดดูก็แล้วกัน ความสงบแค่ไหน? แล้วก็มีเมตตาเป็นอารมณ์ด้วย เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ต้องศึกษาธรรมะ ไม่ใช่ตามใครไป แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมจริงๆ ไม่ต้องเชื่อใครเลย พระธรรม ทรงแสดงไว้แล้ว ทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง
เพราะฉะนั้น "เมตตา" พอเข้าใจใช่ไหม? กำลังโกรธคนนี้ เมตตาหรือเปล่า? ขณะนั้น ไม่ใช่แล้ว ใช่ไหม? ถ้าโกรธ ขณะนั้น ไม่ใช่เมตตา ตราบใดที่ยังมีเมตตา จะไม่โกรธ ดีไหม? เป็นเพื่อนแท้หรือเปล่า? หวังดีจริงๆ หรือเปล่า?
ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไร? เรื่องของเขา แต่เราหวังดี ที่จะให้เขา เป็นคนดี หวังดี ที่จะให้เขาทำดี เขาไม่ดีอย่างที่เราหวัง ก็เรื่องของเขา แต่ว่า เราพร้อมที่จะช่วยเหลือ เกื้อกูล โดยเราไม่ต้องโกรธ หรือเดือดร้อน โกรธ หรือ เดือดร้อนเมื่อไหร่ ขณะนั้น ไม่ใช่เมตตา จะบอกว่าเมตตาไม่ได้
แต่สำหรับ "กรุณา" เมื่อคนนั้นเป็นทุกข์ หรือ มีทุกข์ ต่างกันแล้ว เพราะเหตุว่า จริงๆ แล้ว "เมตตา" ก็คือ ขณะที่พบปะธรรมดา ยังไม่มีอะไรที่เดือดร้อน ที่จะต้องให้ช่วยเหลืออะไร แต่เวลาที่ ใครก็ตาม เดือดร้อน เป็นทุกข์ ทางกาย กรือ ทางใจก็ตามแต่ จะ "กรุณา" อย่างไร?
จริงๆ แล้ว "กรุณา" คือ ความเห็นใจ ในความทุกข์ ในความเดือดร้อน ไม่ใช่เขาเดือดร้อน ก็เดือดร้อนไป เรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว ขณะนั้น ไม่ใช่กรุณา เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้คำว่า ทรงพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก เพราะว่า แม้เป็นเศรษฐี มั่งมี แม้มีความสุขสำราญ ก็น่าสงสาร น่าเห็นใจ ใน "ความไม่รู้" ในความ "ไม่มีปัญญา"
เพราะเหตุว่า เงินทอง ทรัพย์สมบัติ ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริง หรือว่า ไม่สามารถที่จะทำให้พ้นความทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจธรรมะจริงๆ ก็จะมีความเห็นใจ ในความไม่รู้ ของคนอื่น เพราะไม่รู้ เพราะรู้ว่าคนอื่นไม่รู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงแสดงพระธรรม ทั้งๆ ที่เขาก็สบายดี แต่เขาไม่รู้ เขาเป็นทุกข์ เพราะ "ความไม่รู้" เพราะฉะนั้น จึงทรงมี "พระมหากรุณา"
และ ขณะที่ใครก็ตาม เข้าใจธรรมะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทรงยินดีด้วย "มุฑิตา" ในการที่คนนั้น สามารถที่จะ "พ้นจากความไม่รู้" สามารถที่จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ สามารถที่จะพ้นจาก การที่ตลอดชีวิตไม่รู้ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้
เพราะฉะนั้น เมื่อท่านอัญญาโกณทัญญะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นสาวกรูปแรก พระผู้มีพระภาคทรงมี "มุฑิตา" ยินดีที่ท่านพระโกณทัญญะ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ จิตถึงจะเป็นไป ตามความเข้าใจได้
ถ้ามีคนที่ลำบากแสนสาหัส เราร้องไห้ ขณะนั้น สงสาร หรือว่า กรุณา หรือเปล่า? ไม่ใช่เลย!!! แต่ เห็นใจในความเดือดร้อน จีงสามารถที่จะช่วยเขา ให้พ้นจากความเดือดร้อนได้ เพราะ เข้าใจสภาพของจิต ที่กำลังเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเราเรื่องที่ ไม่ใช่เพียงการช่วยเหลือ เพราะ บางคนช่วย เพื่ออะไร? เราจะเห็นได้ว่า มีองค์กรต่างๆ ที่ช่วย แต่ว่า ช่วย เพื่ออะไร? ขณะนั้น จะบอกได้ไหม? ว่า "กรุณา" หรือ "เพื่อตนเองจะมีชื่อเสียง?" จะเป็นองค์กรที่มีคนมาร่วมด้วย หรือว่า เผยแผ่อะไรก็ตามแต่ ที่ต้องการให้คนนั้น เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ช่วยให้เขาเข้าใจถูกให้เห็นถูก ให้พ้นจากความเข้าใจผิด เห็นผิด
แต่ถ้าช่วยเท่าไหร่ ก็ไม่สำเร็จ เดือดร้อนไหม? ถ้าเดือดร้อน ไม่ใช่ "อุเบกขา" เพราะว่า "อุเบกขา" ต้องเป็น "ปัญญา" ไม่ใช่ "ความไม่รู้ แล้วเฉยๆ " คนกำลังจะจมน้ำตาย เราก็ว่ายน้ำไม่เป็น จะทำอย่างไรดี? แล้วแต่สภาพจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม ที่มีปัญญา แม้ช่วยไม่ได้ ก็ไม่เดือดร้อน ขณะนั้น จิตไม่หวั่นไหวเลย เพราะขณะนั้น เห็นกรรม และ ผลของกรรม แต่ ทำดีที่สุด ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ทำดีที่สุด ช่วยได้ ก็คือ ไม่หวั่นไหว แต่ถ้าช่วยไม่ได้ ก็ไม่หวั่นไหว
เพราะเหตุว่า ใครจะช่วยใครให้พ้นจากความทุกข์ ซึ่งเกิดจากกรรม เป็นสมุฏฐาน ใครจะช่วยใคร ให้พ้นจากความตาย เมื่อถึงเวลาของกรรม ที่จะทำให้สิ้นสุด ความเป็นบุคคลนั้น ใคร ก็ทำอะไร ไม่ได้!!!
เพราะฉะนั้น ธรรมะ เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ ตามๆ กัน แล้วไปนั่งแผ่ โดยที่ว่า ไม่เข้าใจเลย เห็นงู ตกใจไหม? รีบแผ่เมตตา งูจะไม่กัด เมตตา หรือ อะไรคะ? หรือ หวังผล?
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริง ของธรรมะ แต่ละหนึ่ง แล้วถ้าไม่เข้าใจ จะอบรมให้เจริญขึ้น ได้ไหม? ก็ยังมีความ "เป็นเรา" เพราะฉะนั้น "ความเป็นเรา" ลึกซึ้งมาก นำมาซึ่ง กาย วาจา ต่างๆ ทั้งกุศล และ อกุศล ด้วย "ความเป็นเรา"
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของพันตรีหญิงศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี คุณพ่ออุดม และ คุณแม่นวลศรี มิ่งโมฬี
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอเชิญคลิกชมตอนที่ผ่านมาทั้งหมด ได้ที่นี่ ... ..
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ๒๒ - ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ๓๐ ต.ค. - ๑ พ.ย. ๒๕๕๕
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ราชบุรี ๒๖ - ๒๘ พ.ย. ๒๕๕๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของพันตรีหญิงศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี
คุณลุงอุดม และ คุณป้านวลศรี มิ่งโมฬี
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
กราบเท้าบูชาท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขออนุโมทนา ในกุศลจิตของคุณพ่อ คุณแม่ ของพันตรีหญิง ศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี และ ทุกท่านที่ได้มีโอกาสได้ไปฟังสนทนาธรรม บรรยากาศที่ดี ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก เนื้อหาสาระที่ท่านอาจารย์ และ คณะ ก็ทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ทีละน้อย ทีละน้อย ทุกอย่างเป็นธัมมะ ไม่ใช่เรา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ คุณวันชัย ภู่งาม ที่นำภาพ และเนื้อหาสาระ พรหมวิหารสี่ มาถ่ายทอดได้อย่างดีครับ
ปริญญา