บุญ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
บุญ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม ขณะใดที่จิตปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจากกิเลสทั้งหลาย ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยเครื่องเศร้าหมองของจิต คือกิเลสประการต่างๆ มากมาย) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวันซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตและเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศล เป็นบุญ ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศล ย่อมไม่ใช่บุญเลยแม้แต่น้อย
บุญ ย่อมเกิดขึ้น เจริญขึ้นในขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลหรือตรึกไปด้วยอกุศลวิตกประการต่างๆ เป็นไปกับความติดข้องต้องการหรือเป็นไปกับความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ รวมไปถึงในขณะที่นอนหลับ ขณะนั้นบุญไม่เจริญและไม่ใช่บุญด้วย (ในขณะที่นอนหลับ ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล เกิดขึ้น โลกนี้ไม่ปรากฏ เพียงแต่เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นทำกิจรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้เท่านั้น บุญจึงไม่เจริญในขณะที่นอนหลับ) แต่เมื่อใดที่สติเกิดระลึกได้เป็นไปในความดีประการต่างๆ ทั้งในเรื่องของทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ในเรื่องของศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตกรรมและการน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ในเรื่องความสงบของจิตคือสงบจากอกุศลและในการอบรมเจริญปัญญา เมื่อนั้นบุญย่อมเจริญ ซึ่งไม่จำกัดเลย เพราะการกระทำบุญไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีถึง ๑๐ ประการด้วยกัน คือ
๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น
๒. ศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน
๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบจากอกุศล (สมถภาวนา) และการอบรมให้เกิดปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก (วิปัสสนาภาวนา)
๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แสดงถึงความอ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง
๕. เวยยาวัจจะ การขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนาด้วย
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาพลอยชื่นชมยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแม้ตนเองจะไม่ได้กระทำบุญนั้นก็ตาม เป็นการชื่นชมในความดี เป็นความจริงที่ว่าผู้ชื่นชมในความดี จึงทำดี
๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรม กล่าวธรรม กล่าวในสิ่งที่มีจริงตามคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่ผู้ต้องการฟัง
๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงที่เป็นวาจาสัจจะ (คำจริง) ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ
ดังนั้น การทำบุญ หรือการเจริญกุศลนั้น ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องไปที่วัดหรือจะต้องทำกับพระภิกษุเท่านั้น เพราะได้เข้าใจแล้วว่า บุญ คือ อะไร ขณะไหน สำหรับบุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์บุญ ซึ่งเป็นความดีประการต่างๆ อันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเองนั้น ก็จะไม่ละเลยโอกาสในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ และควรที่จะได้พิจารณาว่า เกิดมาแล้ว ทุกคนต้องละจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน แต่จะจากไปพร้อมกับกิเลสที่มีมากๆ หรือจะจากไปพร้อมกับกุศลและปัญญาที่ได้อบรมเจริญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่
คำว่า บุญ และ กุศล เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน
การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ทุกวันนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจคำว่า "บุญ" ไม่ถูกต้องตามหลักของศาสนาพุทธ เมื่อผมได้ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ผมก็เริ่มมีความเข้าใจในการทำบุญมากยิ่งขึ้น และเมื่อได้เปิดเจอเว็บไซต์บ้านธัมมะ มศพ. ยิ่งมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นไปอีกในคำสอนของพระพุทธเจ้า และจะพยายามเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่นักเรียนของผมต่อไปครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ