ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านไร่มณฑา ราชบุรี ๒๔ ก.พ. ๒๕๕๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันอังคารที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คณะวิทยากร ผศ. อรรณพ หอมจันทร์ อ.สงบ เชื้อทอง อ.ธีรพันธ์ ครองยุทธ อ.ธนิต ชื่นสกุล อ.ธิดารัตน์ หอมจันทร์ และ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ได้รับเชิญจาก พันตำรวจเอก ปรัชญ์ชัย และ คุณสุภัทรา ใจชาญสุขกิจ เพื่อไปสนทนาธรรม ณ บ้านไร่มณฑา ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ท่านเจ้าภาพ กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์และคณะวิทยากรไปสนทนาธรรม ท่านที่สนใจ สามารถคลิกชมภาพและความการสนทนาครั้งที่แล้วได้ที่นี่ครับ...
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ร้านอาหาร Cowboy Cafe ราชบุรี ๕ ก.พ. ๒๕๕๖
การสนทนาธรรมในครั้งนี้ มีผู้สนใจสนทนาสอบถามปัญหาในเรื่องของพระวินัย ที่สังคมกำลังให้ความสนใจในปัญหาการประพฤติปฏิบัติที่เป็นไปของพระภิกษุในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกิจหน้าที่ของพุทธบริษัท ที่ควรที่จะได้มีการศึกษาพระวินัย เท่าที่จะเป็นประโยชน์ เท่าที่จะเข้าใจได้ เพื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และ เป็นไปเพื่อเกื้อกูลกันในระหว่างบรรพชิต กับ คฤหัสถ์ เพื่อประโยชน์ คือ การขัดเกลา ละคลายจากกิเลส อกุศลธรรมทั้งมวล มิใช่เพื่อการประพฤติเป็นไป ในความติดข้อง ต้องการ เพิ่มพูนกิเลส ด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เป็นผู้ตรง และ ไม่จริงใจ ที่จะประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เพื่อเกื้อกูลแก่ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สู่เพศของบรรชิต เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น ในพระธรรมวินัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีแต่จะเป็นโทษต่อบุคคลนั้นเอง หากมิได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย หาใช่ใครอื่น เมื่อเป็นพุทธบริษัท ที่มีการศึกษาและเข้าใจพระธรรมวินัย ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ ในการที่จะช่วยรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนา ให้ดำรงต่อไปได้ มิใช่การทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจ ทั้งมิใช่การพูด การวิจารณ์ ไปต่างๆ ตามความคิดของตนเอง โดยไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ในพระธรรม และ พระวินัย ที่ทรงประทานไว้แล้วเท่านั้น ที่จะดำรงความบริสุทธิ์ของพระศาสนา ให้มั่นคง ยั่งยืนต่อไปได้
ขออนุญาต นำความการสนทนาบางตอนในวันนั้น มาให้ทุกๆ ท่าน ได้พิจารณา ซึ่งเมื่อได้อ่านและทบทวนให้เข้าใจจริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ทุกท่านจะได้รับประโยชน์ และ ได้ข้อคิด จากคำที่ท่านอาจารย์กล่าว ซึ่งจะเห็นถึงความลึกซึ้งของพระธรรมวินัย ที่เป็นเครื่องชี้วัดถึงบุคคล ที่ก้าวเข้าสู่พระธรรมวินัยของพระตถาคต ว่า เป็นผู้ที่ตรงและจริงใจ ที่จะก้าวเข้าสู่พระศาสนา เพื่อการสิ้นกิเลสหรือไม่ประการใด? หรือ เป็นผู้ที่ไม่มีความตรงและจริงใจ ที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นภิกษุผู้ทุศีล ที่รังแต่จะทำร้าย และ บ่อนทำลายพระศาสนา ให้เสื่อมลงโดยลำดับ หาใช่การกล่าวอ้าง ว่าเป็นผู้ที่รักษาพระศาสนาแต่อย่างใดไม่
อ.ธีรพันธ์ เมื่อได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชน คือ เป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่เชื่อง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ที่ได้ยิน ได้ฟังมา ก็ควรที่จะพิจารณาโดยถูกต้อง ก่อนที่จะกล่าวอะไรออกไป ก็ต้องดูว่า มีเหตุผล หรือว่า มีหลักฐานข้อมูลที่แน่ชัด ตรงตามนั้นจริงหรือไม่? เพราะว่า ไม่ใช่ใครกล่าวมา ก็ตามข่าวที่เขาโหมกระพือมา ก็โอนเอียงไปตามนั้น โดยที่ไม่มีการพิจารณาเลย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องมีเหตุผล มีข้อมูล ที่ยอมรับว่าเป็นความจริง และ ไม่ใช่รับฟังแค่นั้น พุทธศาสนิกชน ก็เป็นผู้ที่เห็นคุณค่าของพระศาสนา คงไม่อยู่เฉย ใช่ไหม? ไม่ใช่เรื่องหนึ่งเรื่องใดผ่านมา ก็เหมือนกับไม่มีอะไร เป็นเรื่องของสงฆ์ที่จะจัดการ แต่ความจริงแล้ว เป็นเรื่องของความจริงที่ว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่จะรักษาไว้ ถ้าไม่มีการเห็นว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ ก็เหมือนกับเป็นการให้พระศาสนาเสื่อมลงเร็วขึ้น
เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะศึกษา และ พิจารณา โดยถูกต้อง อันไหนที่เป็นเรื่องจริง หรือว่า ขัดต่อพระธรรมคำสอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่พระภิกษุ ต้องโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะต้องมีมูล มีเหตุ และ ถ้าต้องโทษจริง ก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะมากลับ ทวนคำ หรือว่า มาเพิกถอนในภายหลัง ก็ไม่ถูกต้อง ความจริง เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ในเรื่องนี้ ก็ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็อย่างที่คุณธีรพันธ์ได้กล่าวแล้ว คือ เป็นผู้ที่ตรงต่อพระธรรม เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ ว่าอะไรถูก อะไรผิดอย่างไร? ก็ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาธรรมะให้เข้าใจจริงๆ
อ.ธีรพันธ์ ก็ต้องศึกษาธรรมะให้เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างเช่นพระวินัย ก็ควรที่คฤหัสถ์ ควรจะศึกษาไว้บ้าง เพราะว่า อย่างน้อย ก็เกี่ยวกับ การที่จะอยู่ร่วมกัน ระหว่างพุทธบริษัท เพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือว่าชาวบ้าน ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ชาวบ้าน ก็มีส่วนที่ให้พระศาสนา ดำรงอยู่ หรือว่าเป็นไป อย่างถูกต้อง โดยที่ไม่ใช่ ปล่อยไป ใครว่าอย่างไร ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นคุณค่าของการได้เรียน ได้ศึกษาพระวินัย ด้วย
ถ้าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็คงจะไม่มีอะไร ใช่ไหม? แต่ความจริง ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะตัดสิน ว่าอะไรถูก อะไรผิด ควรที่จะศึกษาวินัย ในส่วนที่คฤหัสถ์ สามารถศึกษาได้ ก็จะเป็นการส่งเสริมพระศาสนา ในทางที่ถูกต้อง ไม่ส่งเสริมคนผิด
คุณหมอทวีป กราบเท้าท่านอาจารย์ที่เคารพ กราบเรียนท่านผู้ฟังทุกท่าน คือ จะขออนุญาต ที่จะไม่กล่าวถึงใครเลย สมมติว่า ตัวกระผมเป็นพระ ถ้าเรามีที่ดิน เราซื้อที่ดินสักแปลง ใช้ในชื่อของเรา และต่อไป เราโอนให้คนอื่น ทั้งที่ถ้าเป็นพระ ก็ไม่ควรจะทำ ทีนี้ ถ้าเราโอนให้คนอื่น ขณะที่อกุศลกรรมบถที่เราทำ ครบ (องค์) แล้ว ต่อมาอีก ๗ วัน ๗ ปี หรือ ๗ เดือน เราไปโอนให้คนอื่น ถือว่า ผิดพระวินัยไหมครับ?
ท่านอาจารย์ ที่จริง "พระธรรม" ไม่ได้สำหรับบุคคลหนึ่ง บุคคลใดโดยเฉพาะ แต่ สำหรับทุกคน โดยเฉพาะ ผู้ที่เป็นพระภิกษุ ก็จะต้องรู้จุดประสงค์ ของการเป็นพระภิกษุ ว่า เพื่ออะไร? แล้วก็ต้องประพฤติ ปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงบัญญัติ ด้วยพระองค์เอง มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่เป็นการเคารพ แล้วก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เคารพในพระรัตนตรัย
เพราะฉะนั้น จึงจำเป็น ที่วัดไหนก็ตาม พระรูปไหนก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะที่หนึ่ง ที่ใด ที่จะต้องมีความจริงใจ ที่จะขัดเกลากิเลส ในเพศบรรพชิต ด้วยการรักษาพระวินัย ด้วย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่คำแรก ที่เอ่ยว่า ซื้อที่ดิน หรือว่า มีผู้ถวาย หรืออะไรทั้งหมด ฟังแล้ว ก็ควรที่จะเข้าใจแต่ละคำ ตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะได้รู้ว่า ผิดตั้งแต่เมื่อไหร่? และ ผิดอย่างไร? มาก น้อย แค่ไหน? ด้วย ไม่ใช่ประมวลมา แล้วก็กล่าวว่า ผิด แต่ว่า สิ่งที่ผิด ต้อง ผิด !!! แม้เพียงเล็กน้อย ก็ต้องผิด !!!
เพราะฉะนั้น พระ สามารถที่จะซื้อที่ดินได้หรือเปล่า? ไม่ทราบ คุณหมอกล่าวถึง พระซื้อที่ดินหรือเปล่าคะ?
คุณหมอทวีป พระซื้อที่ดิน ครับ
ท่านอาจารย์ ต้องถามผู้ที่เข้าใจพระธรรมวินัย ขอเชิญอาจารย์สงบ ค่ะ
อ.สงบ นมัสการพระคุณเจ้า ขออนุญาตท่านอาจารย์ เรื่องของภิกษุจะมีสมบัติอะไรได้ไหม? แบบคฤหัสถ์ ไม่ได้ !!! ถ้าภิกษุจะรับที่ (ดิน) ในนามภิกษุ ก็ไม่ได้ จะโอนที่ ก็ไม่ได้ ถ้าไปโอน ก็คงเป็น โอนในนามของ "นาย" คือ เป็นคฤหัสถ์ อันนี้เป็นหลักการ แล้วก็ ในมัชฌิมศีล ก็ห้ามที่จะต้องรับนา สวน ไร่ รับโค กระบือ รับบุตรสาว บุตรชาย อะไรต่ออะไร ก็ห้ามทั้งนั้น นี่คือ เป็นการบริสุทธิ์ของพระวินัย ที่พระพุทธองค์ ทรงประทานไว้ และ ภิกษุ ผู้สละแล้ว ซึ่งทุกสิ่ง ก็จะต้องประพฤติให้บริสุทธิ์ ตามนั้น ในกรณีซึ่งโอน ก็ไม่ได้เป็นในนามของภิกษุแล้ว และ รับ ก็รับไม่ได้ ก็เป็นอาบัติทุกกฏอยู่แล้ว ทำไม่ได้ ครับ
คุณหมอทวีป ขออนุญาตถามต่ออีกนิด ถ้าที่นั้นเป็นที่มรดก ยกให้ลูกหลาน แต่ลูกหลาน มาเป็นพระ
อ.สงบ แม้จะเป็นที่มรดก ถ้าไปรับโอน ก็รับในนามของ "นาย" เป็นภิกษุไม่ได้ เพราะภิกษุ จะทำนิติกรรมไม่ได้เลย
คุณหมอทวีป แต่ถ้าเกิดโอนไปแล้ว ที่นั้นจะเป็นของสงฆ์หรือไม่?
อ.สงบ ถ้าภิกษุรับมา เป็นของสงฆ์อยู่แล้ว ในกรณีซึ่งบริขารเล็กๆ น้อยๆ จะเป็นของผู้ที่อุปัฏฐาก ส่วนซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย ก็จะต้องเป็นของสงฆ์
คุณหมอทวีป ถึงแม้จะเป็นที่มรดก
อ.สงบ ถ้าโอนมาในนามของ "นาย" ถ้ารับในนามของนาย ก็ไม่เกี่ยวกัน แต่ว่า ท่านรับไม่ได้อยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ สงสัยค่ะ เป็นพระ แล้วไปรับในนามของ "นาย" ได้หรือ?
อ.สงบ ในทางนิติกรรมของบ้านเมือง จะต้องเป็นนาย แต่ในนามของภิกษุ รับไม่ได้ เป็นโมฆะ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ภิกษุ นะคะ
อ.สงบ ไม่ใช่ภิกษุ ถ้าภิกษุ จะรับ โอน ไม่ได้ เพราะ ภิกษุจะไม่มีมรดกอะไร
คุณหมอทวีป แล้วถ้าเกิดพระภิกษุองค์นั้น มรณภาพ ถ้าเป็นนาย ที่ดินนั้น จะตกเป็นของวัด หรือ ของเครือญาติ
อ.สงบ ก็เป็นของเครือญาติ เพราะว่าเป็นนาย
ท่านอาจารย์ แต่ที่จริง ขัดกันมากเลย กับการที่จะเป็นพระภิกษุ ต้องสละหมด "บรรพชา" ไม่เหลือเลย ไม่ว่าจะเป็นเงินในธนาคาร หรือว่า ที่ดิน หรือว่าอะไรทั้งหมด ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น บุคคลนั้น ที่จะเป็นผู้ที่รับที่ดิน สมควรที่จะลาสิกขาบท เป็นนายจริงๆ จึงสมควรที่จะรับ เพราะเหตุว่า จะเป็น "นาย" เวลารับ แล้วจะเป็นภิกษุในเวลาอื่น มีหรือ?
อ.สงบ ส่วนใหญ่ จะเป็นแบบนั้น เป็นนิติกรรมอำพราง ก็คือ ในกรณีที่เป็นภิกษุอยู่ แต่เพื่อที่จะให้การโอน ถูกต้องตามกฏหมาย ก็จะใช้คำว่า "นาย"
ท่านอาจารย์ แต่ก็เป็นผู้ที่สละแล้ว จะรับได้หรือ? ไม่ว่าจะเป็น....
อ.สงบ ตามหลักพระวินัย ก็คือ รับไม่ได้
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ไปเป็นนายได้อย่างไร? ไม่เข้าใจตอนที่ว่า จากภิกษุแล้วไปเป็นนาย เพื่อที่จะทำนิติกรรม
อ.สงบ ในตอนที่โอน ก็คือ เป็นภิกษุ แต่ว่า ในการที่จะทำการโอน ใช้คำว่านาย
ท่านอาจารย์ ก็หมายความว่า ลาสิกขา จึงจะเป็นนาย
อ.สงบ โดยพฤติกรรม เป็นเช่นนั้น แต่โดยนิตินัย ก็จะทำการโอน โดยใช้คำว่า "นาย"
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่สุจริตใจ จริงๆ ในการที่จะดำรงเพศบรรพชิต ก็ต้องไม่รับ เพราะว่าสละแล้ว ใครจะรับก็รับไป บุคคลนั้น ไม่สมควรที่จะมีสิทธิ์
อ.สงบ ท่านอาจารย์พูดนี่ ท่านพูดตามพระวินัย โดยบริสุทธิ์ เป็นเช่นนั้น ก็มีหลายๆ ท่าน ที่จะรับมรดก ท่านลาสิกขาก่อน แล้วก็ไปรับ พอรับเสร็จ ท่านบวชอีก ก็มี
ท่านอาจารย์ ค่ะ หมายความว่า เวลาบวช ต้องสละมรดกนั้นด้วย ถ้าไม่สละ ก็บวชไม่ได้ ถูกต้องไหม? เพราะเหตุว่า ต้องสละ สละทั้งหมด ไม่ใช่ว่า มีเงินอยู่ในธนาคาร หรือว่า เป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน หรือ อะไรอย่างนั้น นั่นยังเป็นเจ้าของอยู่ ยังไม่ได้สละ แต่ถ้าจะบรรพชา อุปสมบทจริงๆ ต้องสละหมด
คุณหมอทวีป แต่ตามนิตินัย ที่ทราบมา กรมที่ดิน จะเปลี่ยนจาก "พระ" เป็น "นาย" เขาจะทำแบบนั้น
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ตรง เพราะเหตุว่า พระ เป็น นาย ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ลาสิกขาบท !!! เพราะฉะนั้น ก็ผิดตั้งแต่ต้น ทั้งหมด !!! ใช่ไหม?
คุณหมอทวีป แล้วอย่างนี้ จะทำในแง่กฏหมายได้ไหม? สมมติว่า เกิดมีลูกหลานคนอื่น แย้งมาว่าเป็นพระ รับอย่างนี้ แต่ว่าใส่เป็น "นาย" ก็ผิด ตามนิตินัย อาจจะไม่ผิด แต่ตามพฤตินัย มันผิด
อ.สงบ ถ้าเราจะแยก ใน ๒ ส่วน ส่วนหนึ่ง ก็คือ เรื่องของนิติกรรม นั้นถูกต้องตามหลักการ คือ เขาเป็นนาย แล้วเขาก็รับการโอน หรือว่า โอน ในกรณีซึ่งเป็นความจริง อย่างที่ท่านอาจารย์พูดถึง เป็นสมณะ ก็รับไม่ได้ ในส่วนนั้น ถ้าจะรับ ก็ต้องลาสิกขาก่อน
แต่ ในกรณีซึ่งไปทำ เพื่อให้ถูกต้องตามกฏหมาย ก็ใช้คำว่า "นาย" ในส่วนนี้ คุณหมอก็แย้งว่า ถ้าอย่างนั้น ญาติเขา สามารถจะรับมรดกในส่วนนั้น ตกทอดได้ไหม? ก็รับได้ เพราะเขาเป็นนาย แต่คราวนี้ ท่านอาจารย์ พูดถึงตามพระวินัยว่า ภิกษุ รับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่แล้ว ก็ขัดกันอย่างนี้ แต่ว่า เขาทำถูกต้องตามกฏหมายอันหนึ่ง ไม่ถูกต้อง ตามพระวินัยอันหนึ่ง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อาบัติ แน่นอน !!! ไม่เคารพ ในพระศาสดา ไม่เคารพ ในพระวินัย ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ไม่เหลือความเป็นพระ ถ้าทำผิดแล้วไม่ปลงอาบัติด้วย
อ.สงบ ผิด แต่ก็ไม่ใช่อาบัติ ที่จะต้องเป็นปาราชิก
ท่านอาจารย์ แต่ต้องปลงอาบัติ แต่ถ้าไม่ปลงอาบัติ
อ.สงบ ก็ ทุศีล !!!
ท่านอาจารย์ ทุศีล ไปอีกนานเท่าไหร่? เพราะว่า ไม่ได้ปลงอาบัติ
อ.สงบ ก็ตราบเท่านที่ไม่ปลงอาบัติ
ท่านอาจารย์ จนถีงสิ้นชีวิต
อ.สงบ ครับผม
ท่านอาจารย์ ค่ะ
คุณปริญญา กราบพระคุณเจ้า กราบท่านอาจารย์สุจินต์และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านที่นี่ครับ ขอต่อคำถามเกี่ยวกับว่า พระภิกษุ ที่ลาสิกขาบท แล้วเป็นนาย ไปรับมรดก ในทำนองนี้
ท่านอาจารย์ ขอโทษนะคะ พระภิกษุรูปนั้น ยังไม่ได้ลาสิกขาบท ในกรณีของคุณหมอ แต่ถ้าคุณปริญญา จะพูดในหลักการที่ถูกต้อง คือ ผู้ที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ไม่ขัดต่อพระวินัย ก็ต้องลาสิกขาบทก่อน แล้วไปเป็นนาย แล้วก็ไปรับมรดก แต่ถ้าภิกษุรูปนั้น ไม่ทำอย่างนั้น ต้องอาบัติ !!!
คุณปริญญา แล้วในกรณีที่ท่านลาสิกขาบท แล้วก็ไปรับมรดก แล้วก็กลับมาบวชอีก แต่ การบวชนี่เพื่อละ เพื่อละสิ่งทั้งหมด แล้วท่านจะยึดถือ สิ่งเหล่านั้น ได้หรือครับ?
ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะบวช ท่านต้องสละสิ่งที่ท่านมีด้วยค่ะ ที่ไปรับมาแล้ว ต้องสละด้วย มิฉะนั้น ก็บวชไม่ได้ !!! ใช่ไหม? คุณสงบ
อ.สงบ ในส่วนของที่เขามีสิทธิ์ ที่เขาเป็นฆราวาสอยู่ ก็มีสิทธิ์ ในส่วนนั้น แต่คราวนี้ พอมาบวปแล้ว ท่านก็ไม่มีแล้ว
ท่านอาจารย์ หมายความว่า เมื่อไปรับที่ดินมาแล้ว เป็นมรดกแล้ว แล้วต้องการที่จะบวชอีกครั้งหนึ่ง บุคคลนั้น ต้องสละทรัพย์ทั้งหมด ที่ดินที่ไปรับมาแล้ว ก็ต้องสละด้วย มิฉะนั้น ก็จะบวชไม่ได้ ใช่ไหม? ถ้ายังมีทรัพย์อยู่
อ.สงบ ในส่วนนั้น ในทางพระวินัย ก็ไม่ได้กำหนดว่าให้ละทั้งหมดหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ บรรพชา หมายความว่า อะไร?
อ.สงบ ก็ละเว้นจากอกุศลทั้งปวง
ท่านอาจารย์ แล้วก็ สละวงศาคณาญาติ บ้านเรือน หรือเปล่า?
อ.สงบ ต้องสละด้วย
ท่านอาจารย์ สละทรัพย์สมบัติ หรือเปล่า?
อ.สงบ โดยหลักการ ต้องสละครับ
ท่านอาจารย์ ถ้ามีจิตยินดีในเงินและทอง เพียงแค่ยินดี ก็อาบัติ ใช่ไหม?
อ.สงบ ก็อาบัติ ใช่ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นพระภิกษุ โดยอาบัติไปเรื่อยๆ
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ ๖๓๐
สัทธรรมปฏิรูปกสูตร
(ว่าด้วยพระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป)
[๕๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระมหากัสสปะ นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เมื่อก่อนสิกขาบทมีน้อยและภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลมีมาก และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้บัดนี้สิกขาบทมีมากและภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลมีน้อย.
[๕๓๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกัสสปะ ข้อนั้นเป็นอย่างนี้คือ เมื่อหมู่สัตว์เลวลง พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป สิกขาบทจึงมีมากขึ้น ภิกษุที่ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลจึงน้อยเข้า สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป แต่สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลื่อนหายไป ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป แต่เมื่อใดที่ทองเทียมเกิดขึ้น เมื่อนั้นทองคำธรรมชาติจึงหายไป ฉันใด พระสัทธรรม ก็ฉันนั้น สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลื่อนหายไป แต่เมื่อใดที่สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น เมื่อนั้นพระสัทธรรม จึงเลือนหายไป.
[๕๓๓] ดูก่อนกัสสปะ ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมา ก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะอับปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น, พระสัทธรรม ยังไม่เลือนหายไป ด้วยประการฉะนี้.
[๕๓๔] ดูก่อนกัสสปะ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑
เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหาย แห่งพระสัทธรรม.
จบสัทธรรมปฏิรูปกสูตรที่ ๑๓.
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพ
พันตำรวจเอก ปรัชญ์ชัย และ คุณสุภัทรา ใจชาญสุขกิจ
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพ พันตำรวจเอก ปรัชญ์ชัย และ คุณสุภัทรา ใจชาญสุขกิจ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม ผู้ถ่ายทอดความงามของพระธรรมและภาพกิจกรรม ครับ และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพ พันตำรวจเอก ปรัชญ์ชัย และ คุณสุภัทรา ใจชาญสุขกิจ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม ผู้ถ่ายทอดความงามของพระธรรมและภาพกิจกรรม ค่ะ
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ