ภิกษุมีทรัพย์สมบัติได้หรือไม่
ตามพระธรรมวินัย ภิกษุมีทรัพย์สมบัติได้หรือไม่ครับ ปัจจุบันมีภิกษุบางรูปถือครองที่ดินหรือมีบัญชีเงินฝากในสถาบันการเงิน ตามพระธรรมวินัยสามารถมีได้ไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนจะถึงคำถามว่า พระภิกษุ บรรพชิต มีทรัพย์สมบัติได้หรือไม่ ก็ควรเข้าใจความหมายของ ภิกษุ และ บรรพชิต ที่ถูกต้อง ก็จะรู้ว่า ภิกษุ บรรพชิต มีทรัพย์สมบัติได้หรือไม่ตามพระธรรมวินัย ครับ
ภิกษุ โดยอรรถแล้ว หมายถึง ผู้ขอ ผู้เห็นภัยในวัฏฏะ ผู้ทำลายซึ่งกิเลสทั้งหลาย ผู้ดับกิเลสได้ ข้ามห้วงน้ำคือกิเลสได้ ไม่มีการเกิดในภพใหม่
คำว่า ภิกษุ หรือ ภิกขุ เป็นคำที่ใช้เรียก สำหรับผู้ที่บวชในพระศาสนานี้ คือ ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง สละ คฤหัสถ์ ออกจากเรือน บวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกทั่วไปสำหรับผู้ที่บวชแล้ว แต่ก็ยังมีความหมายลึกซึ้งของคำว่าภิกษุ หรือ ภิกขุ ที่หมายถึง ผู้ขอ หรือผู้มีปกติขอ เพราะธรรมดา ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาย่อมเลี้ยงชีพโดยการเป็นผู้ขอ ไม่ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง แต่ขอเพื่อความดำรงอยู่ เป็นไปในการดำรงชีวิต อันเป็นไปเพื่อดับกิเลส เป็นประโยชน์กับผู้ที่ถวายทานกับพระภิกษุที่จะได้บุญด้วยครับ ภิกขุจึงหมายถึงผู้เลี้ยงชีพโดยการขอเป็นปกติ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๐
บทว่า ภิกฺขุ เป็นบทกล่าวถึงบุคคลที่ควรจะได้ฟังพระเทศนา. อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ภิกฺขุ นี้ พึงทราบความหมายของคำโดยนัยเป็นต้นว่า ชื่อว่า ภิกขุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ คือ ชื่อว่า ภิกขุ เพราะอรรถว่า เข้าถึงการเที่ยวไปเพื่อภิกษา.
------------------------------------
ส่วน คำว่า บรรพชิต โดยทั่วไป บรรพชิต ก็เข้าใจว่า คือ บุคคลที่บวช สละเพศคฤหัสถ์ บรรพชา จึงชื่อว่า บรรพชิต
ส่วนคำว่า บรรพชิตจริงๆ หมายถึง ผู้เว้นทั่ว, เว้นจากอกุศลโดยประการทั้งปวง เพราะการบวชเข้ามา ก็เพื่อละอกุศล ละกิเลสทั้งปวง เว้นทั่วทั้งทางกาย วาจา และใจ
อีกความหมายหนึ่งของบรรพชิต ในบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพชิเตน บรรพชิต คือ ผู้ตัดวัตถุกามอันเกี่ยวข้องด้วยคฤหัสถ์ออกบวช. (พระไตรปิฎกเล่ม ๖๙ หน้า ๕๗๘)
ส่วนบรรพชิต อีกความหมาย คือ ผู้ที่งดเว้นจากบาปทางกาย วาจา และใจ ก็ชื่อว่า บรรพชิต เพราะเว้นทั่วจากอกุศลธรรม ครับ
ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า
อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปทำร้ายผู้อื่น เพราะไม่มีอธิวาสนขันติฆ่าสัตว์อื่น โดยที่สุดแม้เหลือบและยุง ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็น บรรพชิต. เพราะเหตุไร. เพราะยังเว้นมลทินไม่ได้. ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเว้นมลทินของตนได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าบรรพชิต ดังนี้ นี้คือลักษณะของบรรพชิต. (มหาปทานสูตร เล่ม ๑๓ หน้า ๑๖๑)
------------------------------------
เพราะฉะนั้น ภิกษุและบรรพชิต เป็นเพศที่สละอาคารบ้านเรือน ไม่ประพฤติดั่งเช่นคฤหัสถ์ ไม่มีทรัพย์สิน สมุดบัญชี เงินและทองแล้วดั่งเช่นคฤหัสถ์ ซึ่งการมีทรัพย์สมบัติ ที่ดิน ตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นผู้ต้องอาบัติในการมีทรัพย์สินเหล่านั้นและยินดีในสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นข้าศึกศัตรูต่อการประพฤติเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ที่ได้ชื่อว่าบรรพชิต ครับ
เพศบรรพชิต เป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามีการรับเงินรับทอง มีทรัพย์สิน ที่ดิน ก็ไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ที่ยังยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง และการประพฤติผิดพระวินัย ได้ชื่อว่า ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ด้วยพระองค์เอง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาอันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของผู้นั้น อีกทั้งการประพฤติผิดพระวินัย ก็ยังเป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้ที่ประพฤติผิดอีกด้วย ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี ก็มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิเท่านั้นจริงๆ ครับ. ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บรรพชิต คือ เพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้เว้นโดยทั่ว ได้แก่ เว้นจากกิเลส เว้นจากความติดข้องยินดีพอใจในกาม จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ บวชเป็นบรรพชิตเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ ท่านสละอาคารบ้านเรือนแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีเรือน รวมถึงสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงด้วย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น เมื่อสละสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรรับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง
ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ รู้จักตนเองและพิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่? เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์เป็นอย่างยิ่ง ที่สูงกว่านั้น สูงเพราะคุณธรรม เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นบรรพชิต จะต้องมีความมั่นคงที่จะสละกิเลสทุกอย่างทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ พร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติในส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และงดเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามโดยประการทั้งปวง นี้คือชีวิตที่แท้จริงของบรรพชิต ซึ่งมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ถ้าบรรพชิตใดมีความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ยังต้องการทรัพย์สมบัติ ยังมีจิตใจเหมือนคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนทุกประการ นั่นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริง ถ้าต้องการทรัพย์สินเงินทอง อยากมีทรัพย์สินเงินทอง ก็ไม่ต้องบวช เพราะผู้ที่เป็นพระภิกษุจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ จึงควรแก่การครองผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
หน้าที่หรือกิจที่ถูกต้องของภิกษุในธรรมวินัยนี้ [คาถาธรรมบท]ภิกษุในธรรมวินัย
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุดแด่พระรัตนตรัย
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่ง ครับ.
กราบขอบพระคุณ
และ
อนุโมทนาในกุศลเมตตาธรรม อาจารย์ผู้ตอบ
และ กุศลของทุกท่านครับ
ขอความกรุณาแนะนำต่ออีกสักนิด อธิบายในประเด็นต่อไปนี้ว่าผมเข้าใจถูกหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูพระศาสนา และเพื่อไม่ให้เป็นโทษกับผู้เข้าใจผิดที่คิดว่าการถวายเงินและทองพระภิกษุได้บุญมาก ถ้าผมอ่านด้านบนและเข้าใจไม่ผิดพระที่ทำผิดกรณีนี้มีโทษไปอบายตามข้อความนี้
"...อีกทั้งการประพฤติผิดพระวินัย ก็ยังเป็นโทษเป็นภัย แก่ผู้ที่ประพฤติผิดอีกด้วย ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี ก็มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิ เท่านั้นจริงๆ ครับ ..."
ด้วยตรรกะนี้ใครที่ถวายเงินพระย่อมได้บาป เพราะร่วมกันกับพระผิดวินัย ทำลายศาสนาของพระบรมศาสดาที่ท่านมอบไว้ให้ และถ้าเป็นไปได้ อยากให้สนทนาเป็นประเด็นหลักออกรายการบ้านธัมมะทางช่อง NBT ให้ทราบทั่วกัน
ขอบพระคุณและยินดีในบุญครับ