เรียนสอบถามเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก เล่ม 4 ครับ

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  16 มี.ค. 2558
หมายเลข  26322
อ่าน  1,133

ผมเข้าไปศึกษาพระวินัย อรรถกถาแล้วสับสนครับ ไม่ทราบว่าในพระวินัย เล่ม 4 และอรรถกถากล่าวถึงคุณสมบัติบวชพระหรือเณรครับ ถ้าบวชเณรมีคุณสมบัติอย่างไรครับ บุคคลต้องห้ามยังไงครับ แล้วถ้าจะศึกษาพระวินัย เรียงลำดับอ่านยังไงให้เข้าใจครับ

ขอบคุณครับ สาธุ สาธุ สาธุครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบวช (ในสมัยปัจจุบันนี้) มี ๒ อย่าง คือ การบวชเป็นสามเณร และ การบวชเป็นพระภิกษุ, การบวชเป็นพระภิกษุ นั้น จะต้องบวชวิธีด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา สำเร็จด้วยหมู่สงฆ์ โดยไม่ต้องบวชเป็นสามเณรก่อน สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้เลย เมื่อมีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป ส่วนการบวชเป็นสามเณร ก็ด้วยการถึงสรณะ ๓ เป็นที่พึ่ง และ สมาทานศึกษาในศีลของสามเณร คือ ศีล ๑๐ รวมไปถึงจะต้องศึกษามารยาทอันดีงามที่บรรพชิตจะต้องศึกษาและสำรวมตาม ด้วย

โดยศัพท์คำว่า สามเณร หมายถึงเหล่ากอ หรือเชื้อสายของสมณะ

สามเณรมีสิกขาบท ๑๐ คือ

งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

งดเว้นจากการลักทรัพย์

งดเว้นจากการประพฤติอพรหมจรรย์ (การเสพเมถุน)

งดเว้นจากการพูดเท็จ

งดเว้นจากดื่มสุราเมรัย

งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น

งดเว้นจากการลูบทา ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม

เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว

งดเว้นจากการนั่งและการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่

งดเว้นจากการรับเงินทอง

เมื่อสามเณรก้าวล่วงสิกขาบท ข้อที่ ๑ ถึง ข้อที่ ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อนั้นย่อมขาดจากความเป็นสามเณรทันที (เหมือนปาราชิกของพระภิกษุ) ย่อมควรแก่การนาสนะ คือขับไล่ออกจากวัด แต่เมื่อก้าวล่วงสิกขาบท ๕ ข้อหลัง ควรแก่การลงโทษบางอย่าง ตามสมควรแก่พระวินัย แต่สามเณรที่ขาดจากความเป็นบรรพชิตแล้ว เมื่อกลับตัวกลับใจเห็นโทษโดยความเป็นโทษ พระภิกษุท่านให้สรณะและศีลใหม่ ความเป็นสามเณรก็ยังคงเหมือนเดิมเมื่ออายุครบก็บวชเป็นพระภิกษุได้ ซึ่งต่างจากพระที่ว่า เมื่อปาราชิกแล้ว จะกลับมาบวชเป็นพระภิกษุใหม่อีกไม่ได้

สรุปคือปาราชิกของสามเณรกับปาราชิกของพระภิกษุไม่เหมือนกัน อนึ่งสามเณรมีปาราชิก ๒ ประเภท คือ ประเภทแรกที่กล่าวไป กลับมาบวชใหม่ได้ แต่ปาราชิกอีกประเภทหนึ่งบวชใหม่อีกไม่ได้ เช่น สามเณรข่มขืนพระภิกษุณี หรือฆ่าพระอรหันต์ เป็นต้น กลับมาบวชเป็นสามเณร หรือพระภิกษุอีกไม่ได้

ดังนั้น สำหรับ สามเณร ไม่ได้มีอาบัติดังเช่น พระภิกษุ ไม่มีอาบัติสังฆาทิเสส แต่สามารถขาดจากการเป็นสามเณรได้ และ มีการลงโทษตามสมควรกับพระวินัยได้ ครับ เมื่อสามเณรไม่ได้มีอาบัติ สังฆาทิเสสเช่นพระ จึงไม่ต้อง อยู่ปริวาส ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

เกี่ยวกับสามเณร

การศึกษาพระวินัยก็ค่อยๆ เรียงลำดับไป และ สอบถาม สนทนาจากผู้รู้เมื่อสงสัย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ การบวช เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส และที่สำคัญจะต้องเป็นอัธยาศัยของผู้นั้นที่จะต้องสละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ ญาติมิตร เป็นต้น แล้วน้อมไปในการบวช เพื่อขัดเขลากิเลสด้วยความจริงใจ การบวชมีทั้งบวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องบวช หรือ ไม่บวช เพราะเป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละบุคคล เนื่องจากว่าไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ก็สามารถฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองได้เหมือนกัน แม้แต่ในสมัยพุทธกาล พระอริยบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ก็มีทั้งผู้ที่เป็นบรรพชิต และ คฤหัสถ์ สำคัญที่ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก สำหรับการบวชเป็นสามเณร ไม่ได้มีการกำหนดอายุตายตัว แต่ต้องเป็นผู้พอที่จะช่วยเหลือตนเองได้ มีการสมาทานรักษาศีลของสามเณร คือ ศีล ๑๐ และจะต้องประพฤติวัตรที่เหมาะควรเพศบรรพชิต ด้วย

และที่สำคัญไม่ว่าจะบวชเป็นพระภิกษุ หรือ สามเณร ก็จะต้องศึกษาพระธรรมวินัย น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่บวชแล้วไม่ศึกษา ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย เที่ยวย่ำยีพระธรรมวินัย เพราะการบวชถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะเป็นโทษกับผู้นั้น มีแต่จะฉุดคร่าไปสู่อบายภูมิ โดยส่วนเดียว

การศึกษาพระธรรมวินัย ก็ค่อยๆ ศึกษา เท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะทุกส่วนของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด จึงต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย จากการที่มีโอกาสได้อ่าน ได้ฟัง ได้สนทนาพิจารณาไตร่ตรองด้วยความละเอียดรอบคอบ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 17 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kullawat
วันที่ 17 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สืบต่อพุทธ
วันที่ 17 มี.ค. 2558

ขอบคุณครับ สาธุ สาธุ สาธุ

แล้วคุณสมบัติหรือบุคคลต้องห้ามบวชสามเณร คืออะไรบ้างครับ

ขอบคุณครับ สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 6 เม.ย. 2558

เป็นกะเทย เป็นคนพิการ บ้า ใบ หูหนวก เป็นต้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 18 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ