อาณีสูตร - การตอกลิ่ม - ๒๘- o๓-๒๕๕๘
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๘
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ (เล่ม ๒๖) หน้าที่ ๗๓๗
๗. อาณีสูตร
(ว่าด้วยการตอกลิ่ม)
[๖๗๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่า ทสารหะ ได้มีแล้ว เมื่อตะโพนแตก พวกทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป สมัยต่อมาโครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุในอนาคต เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเล่าเรียน ว่าควรศึกษา แต่ว่าเมื่อเขากล่าวสูตรอันนักปราชญ์รจนาไว้ อันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้ มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิตอยู่ จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา.
[๖๗๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้น ที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม จักอันตรธาน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา ดังนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.
จบอาณีสูตรที่ ๗
อรรถกถาอาณีสูตรที่ ๗
บทว่า คมฺภีรา ความว่า ว่าโดยบาลีพระสูตรทั้งหลายที่ลึก เช่น สัลลสูตร.
บทว่า คมฺภีรตฺถา ความว่า ว่าด้วยอรรถ พระสูตรทั้งหลายที่ลึก เช่น มหาเวทัลลสูตร.
บทว่า โลกุตฺตรา ได้แก่แสดงอรรถอันเป็นโลกุตตระ.
บทว่า สุญฺญตปฏิสญฺญุตฺตา ความว่า เหมือนประกอบข้อความที่ประกาศเพียงสุญญตธรรมเท่านั้น.
บทว่า อุคฺคเหตพฺพํ ปริยาปุณิตพฺพํ ความว่า ที่ควรเล่าเรียนและควรศึกษา
บทว่า กวิกตา ความว่า อันกวี คือ นักปราชญ์รจนาไว้. นอกนั้นเป็นไวพจน์ของ
บทว่า กวิกตา นั่นเอง
บทว่า จิตฺตกฺขรา ได้แก่ มีอักษรวิจิตร. นอกนั้นเป็นไวพจน์ของบทว่า จิตฺตกฺขรา นั่นเอง
บทว่า พาหิรกา ได้แก่ มีภายนอกพระศาสนา
บทว่า สาวกภาสิตา ความว่า สูตรเหล่านั้นเป็นสาวกภาษิต
บทว่า สุสฺสุสิสฺสนฺติ ความว่า สามเณร ภิกษุหนุ่ม มาตุคาม และมหาคหบดีเป็นต้น มีความพอใจ เพราะสูตรเหล่านั้นมีอักษรวิจิตรและสมบูรณ์ด้วยการฟัง จักเป็นผู้ปรารถนาประชุมฟังด้วยคิด ว่า ผู้นี้เป็นธรรมกถึก
บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุนั้น พระสูตรทั้งหลายที่เป็นตถาคตภาษิต เมื่อพวกเราไม่ศึกษา ย่อมอันตรธานไป
จบอรรถกถาอาณีสูตรที่ ๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อาณีสูตร
(ว่าด้วยการตอกลิ่ม)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ในอนาคตภิกษุทั้งหลาย จะไม่ให้ความสำคัญ ไม่ศึกษาพระพุทธพจน์ ที่พระองค์ได้แสดงไว้ ซึ่งมีความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระ เป็นข้อความที่แสดงถึงความเป็นธรรมที่ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่จะให้ความสำคัญสนใจศึกษาเล่าเรียนในสูตรที่ผู้เชียวชาญได้แต่งขึ้น เป็นบทกวี อันมีอักษรวิจิตร พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มีความลึกซึ้งก็จะอันตรธานไป เปรียบเหมือนกับตะโพนของพวกกษัตริย์ทสารหะ เมื่อแตกชำรุด ก็ตอกลิ่มอื่นเข้าไป จนในที่สุดโครงเก่าของตะโพนก็หายไปเหลือแต่โครงลิ่มเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะได้ตั้งใจศึกษา พระธรรม ที่พระองค์ได้แสดงไว้ดีแล้ว
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
…ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...