การไม่คบคนพาลเป็นมงคลอย่างไร

 
เด็กดาวคะนอง
วันที่  25 เม.ย. 2558
หมายเลข  26483
อ่าน  7,466

ทำไมพระพุทธเจ้าทรงแสดงมงคลเป็นอันลำดับแรกที่ไม่คบคนพาล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คนพาล เป็นคนประเภทใดได้บ้าง

การแสดงธรรมมีหลายนัยครับ แม้แต่เรื่อง การเป็นคนพาล ในความเป็นจริง สัตว์ บุคคลไม่มี มีแต่สภาพธรรม คือ จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไป ประชุมรวมกันและบัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ ดังนั้นจึงมีจิตที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก และกิริยาที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเป็นปุถุชน จิตก็ย่อมไหลไปในอำนาจของกิเลส จึงเป็นจิตที่เป็นอกุศลเป็นส่วนมากครับ

ซึ่งความเป็นคนพาลในพระไตรปิฎกอธิบายไว้ครับว่า คนพาล คือ บุคคลที่ทำบาปกรรม คือ อกุศลกรรม ที่ถึงกับการล่วงศีล มี ปาณาติบาต เป็นต้น เนืองๆ บ่อยๆ นี่คือลักษณะของคนพาล ลักษณะของคนพาลตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอีกนัยหนึ่งคือมีชีวิตอยู่สักว่าเพียงแค่หายใจ คือ ไม่ได้รู้ประโยชน์โลกนี้ ไมได้ทำความดีในโลกนี้และไม่ทำประโยชน์และไม่รู้ประโยชน์ในโลกหน้า สะสมความดีเลย แต่มักทำอกุศลกรรม ทำความไม่ดี เป็นปกติครับ และลักษณะของคนพาลอีกประการหนึ่งคือ เป็นผู้มีความเห็นผิด คิดผิด พูดผิด เป็นต้น ซึ่งจากที่กระผมได้อธิบายลักษณะของคนพาลมาในพระไตรปิฎก ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ทำบาปคือ ทำปาณาติบาต เป็นต้น ใครทำ ไม่มีใคร ไม่มีเรา แต่จิตเกิดขึ้นเป็น อกุศลจิตแต่มีกำลังมากถึงกับล่วงศีล จิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น จะกล่าวว่าเป็นความดี เป็นสิ่งที่ดีไม่ได้ จึงเป็นพาลในขณะนั้น ในขณะที่ทำอกุศลกรรม ล่วงศีล ซึ่งเราก็จะต้องเข้าใจนัยที่แสดงว่าพาลนั้นที่เป็นคนพาล ก็มีหลายระดับตามกำลังของอกุศลที่เกิดขึ้นด้วยครับ

พระธรรมพระพุทธเจ้ามีความละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่การคบ ไม่คบ และ การให้อภัย ซึ่งในความเป็นจริง ทุกคนก็ยังมากด้วยกิเลส ซึ่งต้องยอมรับในประเด็นนี้ และมีเหตุปัจจัยก็เกิดกิเลส ความโกรธ ความไม่ชอบอยู่ได้เป็นธรรมดา และกำลังของกุศล เมตตา ก็แล้วแต่ระดับปัญญา หากยังมีน้อย ไม่มาก ก็ทำให้เมื่อมีเหตุปัจจัย ที่ได้เจอ หรือ คบ ก็ทำให้เกิดอกุศล เกิดความโกรธ ไม่ชอบขึ้นมาได้อีก เพราะฉะนั้น การหลีกเลี่ยง ไม่คบ คือ การไม่เข้าไปคุ้นเคย พูดคุย ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร เพราะไม่ทำให้อกุศลเจริญขึ้น เพราะการคบบุคคลใดที่ทำให้อกุศลของตนเองเจริญ ก็ไม่ควรคบในบุคคลนั้น

ซึ่งการไม่คบ ไม่คุ้นเคย ไม่ได้หมายถึงการแสดงว่า ไม่ให้อภัย แต่เพราะมีความเข้าใจถูกว่า เพราะอาศัยบุคคลนี้ ย่อมนำมาซึ่งอกุศลธรรมที่เจริญขึ้น และการคบคนพาล ย่อมมีโทษโดยฝ่ายเดียว จึงไม่คบ ไม่คุ้นเคย สนิทด้วย หากแต่ว่าสามารถจะอนุเคราะห์ ได้เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ ตามสถานการณ์และความเหมาะสม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรง คือ อกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ยังไม่ชอบ ก็คือไม่ชอบ จะฝืนให้ชอบ ให้มีเมตตา ก็เป็นไปไม่ได้ จึงไม่คบเพราะจะทำให้อกุศลของตนเองเจริญเป็นสำคัญ การไม่คบคนพาล เป็นมงคลข้อที่หนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก สำหรับการจะได้ความเจริญ ที่เป็นมงคล หรือ ความเสื่อม เพราะเมื่อได้เข้าไปคบคนที่เป็นคนพาล คนที่เป็นศัตรู ไม่หวังดี มากไปด้วยอกุศล และ เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด เป็นต้น สมดังที่พระโพธิสัตว์เมื่อเป็น อกิตติดาบส กล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่า

ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไร ท่านจึงไม่ชอบคนพาล ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร พระคุณเจ้าจึงไม่ปราถนาที่จะเห็นคนพาล

คนพาลย่อมแนะนำสี่งไม่ควรแนะนำ ย่อมขวนขวายในกิจอันไม่ใช่ธุระ คนพาลแนะนำให้ดีได้ยาก พูดดีหวังจะให้เขาเป็นคนประเสริฐกลับโกรธ คนพาลนั้นไม่รู้วินัย การไม่เห็นคนพาลได้เป็นความดี

ดังนั้น หากคบกับบุคคลที่เป็นคนพาล ก็ย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมประการต่างๆ อันเป็นมงคลข้อที่ หนึ่ง คือ การไม่คบคนพาล ย่อมนำมาซึ่งความเจริญ และ ในชาดกอื่นอีก พระโพธิสัตว์ ก็กล่าวว่า ไม่ควรอยู่ในสำนักของศัตรู แม้คราวเดียว เพราะ ศัตรู ย่อมนำภัยมาให้

การไม่คบ จึงไม่ได้หมายถึง การไม่ให้อภัยไม่มีเมตตา แต่การไม่คบ เพื่อประโยชน์ของตนที่จะไม่นำความเสื่อมมาให้กับตนเอง แต่แม้ไม่คบกับบุคคลนั้น ก็สามารถมีเมตตา ด้วยการอนุเคราะห์ ช่วยเหลือแต่ไม่เสพคุ้นได้ ครับ สมดังบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า คนพาล ไม่คบ แต่ อนุเคราะห์บุคคลเหล่านั้นได้ ครับ

เปรียบดังเช่น งูเห่า เมื่อยามเจ็บป่วยก็สามารถช่วยเหลือ เกื้อกูลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นสัตว์ไม่ซื่อ พร้อมที่จะทำร้ายทุกเมื่อ แต่ก็ช่วยเหลือ อนุเคราะห์เมื่อสัตว์นั้นประสบภัย และ เมื่อช่วยเหลือแล้ว ก็ไม่เสพคุ้น คือ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเอางูเห่ามาอยู่ด้วย มาเสพคุ้น เพราะจะนำมาซึ่งภัย กับตนเอง แต่ก็หลีกไป ปล่อยงูเห่าไป เพราะได้ทำหน้าที่ของมิตร คือ ความหวังดีด้วยกาย วาจาแล้วในขณะนั้น ฉันใด บุคคลที่เป็นคนพาล ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ขันติเจริญ โดยการไปคบคนพาล เพราะต้องไม่ลืมว่า ปุถุชนหนาด้วยกิเลส โดยมากแล้วก็ย่อมไหลไปตามกิเลสได้ง่ายเป็นธรรมดาเพราะยังไม่มีปัญญาที่มั่นคงเพียงพอ เพราะฉะนั้น บุคคลคบคนเช่นไรก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น

ปรมัตถธรรมสี่ ๐๒ - หน้าที่ 217

ข้อความบางตอนจาก ...

มหานารทกัสสปชาดก

[๘๖๒] ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบคนเช่น ใดๆ เป็นบุรุษผู้มีศีลหรืออสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล เขาย่อม ตกอยู่ในอำนาจของผู้นั้น บุคคลกระทำคนเช่นใด ให้เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นใด แม้เขาก็ย่อม เป็นเช่นคนนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น ได้ ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อย่อมติดนิสัย ผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง ฉะนั้น.


อย่างไรก็ดี ก็ขอนำพระธรรมให้พิจารณา เพื่อที่จะค่อยๆ ขัดเกลาเพิ่มขึ้น เมื่อได้อ่านครับ เมื่อมีการกระทำที่ไม่ดีของผู้อื่นทางกายและวาจา การพิจารณาด้วยความเห็นถูกย่อมพิจารณาว่า

1. เพราะสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน คือ ตัวเราเองย่อมเคยทำกรรมที่ไม่ดีเอาไว้ จึงทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดีทางกาย เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเป็นผลของกรรมที่ไม่ดีแล้วที่เกิดจากการกระทำกรรมที่ไม่ดีของเราเอง จะโทษใครได้ เพราะเป็นเราเองที่ทำกรรมไว้ จึงไม่ควรทำกรรมใหม่ที่ไม่ดีอีกครับ

2. ความเป็นผู้มีขันติ ประโยชน์ตนคือความอดทนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ผู้ที่โกรธย่อมเป็นอกุศลของบุคคลนั้นเอง ส่วนใจของผู้ที่ได้ยิน ได้รับการกระทำที่ไม่ดี ก็ไม่ขึ้นอยู่กับใจของผู้อื่นที่ผูกโกรธ ดังนั้น ควรรักษาประโยชน์ตนด้วยความไม่โกรธ มีขันติครับ เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี [เวปจิตติสูตร]

3. พิจารณาด้วยความเข้าใจบุคคลที่มีกิเลสเหมือนกัน เข้าใจถูกครับว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส เป็นปุถุชน ก็ยังเป็นผู้หนาด้วยกิเลส จึงควรเห็นใจและเข้าใจว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเป็นธรรมดาที่จะยังมีความโกรธและผูกโกรธ เพราะมีความไม่รู้ที่สะสมมามากนั่นเองครับ และสะสมกิเลสมามาก จึงทำให้เป็นผู้มักโกรธ อาศัยความเข้าใจถูกว่าทุกคนยังมีกิเลสและเป็นปุถุชน ก็ย่อมเป็นธรรมจึงเป็นอย่างนั้น จึงไม่ควรโกรธในสิ่งที่เป็นธรรมดาอย่างนั้นครับ

4. มีเมตตา กรุณาในบุคคลนั้น คือ สงสารเห็นใจ คนที่ทำไม่ดี ผลที่ไม่ดีย่อมมีกับเขา เมื่อบุคคลนั้นย่อมได้รับสิ่งที่ไม่ดี เพียงแค่ความโกรธเกิดขึ้นก็เผาจิตใจเขาเอง และเมื่อมีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดี ก็ทำให้เขาต้องได้รับกรรมที่ไม่ดี ตามสมควรแก่กรรม จึงควรเห็นใจ มีเมตตา และ สงสารด้วยกรุณา กับบุคคลที่อาฆาต ผูกโกรธครับ

5. พิจารณาส่วนที่ดีของบุคคลนั้นแม้จะมีเล็กน้อย ทุกคนก็ต้องมีส่วนที่ดีหรือไม่ดี เป็นธรรมดา แม้จะมีไม่ดีมาก แต่ก็อาจจะมีความดีบ้าง ก็พิจารณาส่วนที่ดีของเขาในขณะนั้น ก็ทำให้เห็นใจ เข้าใจบุคคลที่มักโกรธ ผูกโกรธได้ครับ

6. พิจารณาโดยเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ในความเป็นจริงไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม ดังนั้นจึงมีแต่จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ขณะที่อาฆาต โกรธ ก็เป็นเพียง จิต เจตสิก ที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น ไม่มีคนนั้นที่โกรธ ที่อาฆาต ดังนั้นจะโกรธ จิต เจตสิกที่ไม่ดีได้อย่างไร เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะเท่านั้นครับ ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

พาล กับ มิใช่พาล

ปฐมอาฆาตวินยสูตร - ทุติยอาฆาตสูตร

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การที่บุคคลจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น ต้องอาศัยคุณธรรม เจริญกุศล ขัดเกลากิเลสทุกทาง แม้แต่เรื่องของทาน เรื่องของศีล รวมถึงการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน ก็ต้องเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อความในพระธรรมทั้งหมดจะไม่ส่งเสริมให้พุทธบริษัทเกิดกุศลจิตหรือว่าสะสมเพิ่มพูนกุศลจิตเลยแม้แต่น้อย แม้แต่ในขั้นแรก คือ เรื่องการคบบัณฑิต (หรือการคบสัตบุรุษ) ซึ่งในพระไตรปิฏกได้ทรงแสดงไว้ว่า เป็นมงคล ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ หมดจดจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ได้ในที่สุด

นี้เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ถ้าแต่ละบุคคลไม่ทราบว่าสิ่งใดจะนำความเจริญมาให้กับตน การคบ การเสพคนพาลหรือสัตบุรุษนั้นจะมีโทษมากสักแค่ไหน กล่าวคือ จะไม่สามารถบรรลุถึงมงคลประการสุดท้าย คือ การเป็นพระอรหันต์ได้เลย ย่อมจะไม่เกื้อกูลให้ผู้คบหาได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลได้ แต่ถ้าคบกับบัณฑิต ผู้มีปัญญา (บัณฑิตสูงสุด คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า) ย่อมทำให้ผู้คบหามีโอกาสได้ฟังสัจจธรรม ทำให้มีโอกาสได้ประพฤติธรรมถูกต้อง จนกระทั่งในที่สุดสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ได้

เพราะฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า การคบกับสัตบุรุษ หรือ คนพาลนั้น นำไปสู่ความเสื่อม คือ นำไปสู่กุศลธรรมทั้งปวง นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้เท่านั้น แต่ถ้าได้เข้าใกล้บัณฑิต ได้ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมโดยแยบคาย ย่อมนำไปสู่การเจริญขึ้นของกุศลธรรม นำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม นำความสุขมาให้โดยส่วนเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงคนพาล ไม่คบคนพาล แต่ควรคบหาสมาคมกับบัณฑิตเท่านั้น ครับ.

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

หนทางของคนพาล กับ บัณฑิต

เว้นไม่คบคนพาล

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 เม.ย. 2558

พระพุทธเจ้าตรัสไว้การไม่คบคนพาลเป็นมงคลข้อหนึ่ง เพราะการคบคนพาลทำให้เสื่อมจากคุณธรรมความดี เสือมประโยชน์ทั้งโลกนี้ และ โลกหน้า เช่น พระเจ้าอชาตศัตรูได้คบกับพระเทวทัต ทำบาปฆ่าบิดา ทำให้กั้นมรรค ผล นิพพาน และตายไปเกิดในนรก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 25 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 26 เม.ย. 2558

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)

ไม่ว่าศึกษาพระธรรมส่วนใด ต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นที่ คำว่า "ธรรม" ครับ.

คำว่า "พาล" ก็เป็นสภาพธรรม ที่เป็น "อกุศลธรรม" ไม่ใช่ "เรา" ไม่ใช่ "เขา"

เพราะไม่มี "คน" จริงๆ มีแต่ "ธรรม" เท่านั้น

การไม่คบคนพาล ก็คือ การไม่คบ เสพ สมาคม คุ้นเคยกับ "อกุศลธรรม" นั่นเอง

และ "อกุศลธรรม" ก็มีทั้งภายใน และภายนอก

ถ้าอกุศลธรรมกำลังเกิดขึ้นเป็นไปในภายใน ขณะนั้น ไม่ใช่ใครอื่นที่เป็นพาล

แต่จิตที่เกิดขึ้นเป็นไปกับอกุศลธรรม กำลังเป็น "พาล"

เราเองกำลังเป็น "คนพาล" ไม่ใช่คนอื่น

เป็นพาลภายในที่ใกล้ชิดที่สุด ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย ครับ.

ถ้าไม่มีความเห็นถูก เข้าใจถูก ในพระธรรม และไม่ดีไปเรื่อยๆ

ก็เสพคุ้นกับความเป็นพาลไปเรื่อยๆ โดยไม่เห็นโทษภัย

ก็จะยังคงเป็น "คนพาล" ที่บัณฑิต ไม่ควรคบ ไม่ว่าในกาลไหนๆ ครับ.

"อรรถ" ของการไม่คบคนพาล คือ เป็นผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษภัยของอกุศลธรรมจริงๆ

จึงมี "หิริ" และ "โอตตัปปะ" ละอาย และเกรงกลัวโทษภัยของอกุศล

ไม่ว่าอกุศลนั้นจะเป็นของ "เรา" ของ "เขา" หรือ ของใคร ก็เสมอกันโดยความเป็นอกุศล

ไม่ควรคบ เสพ สมาคม คุ้นเคย เห็นด้วย กับอกุศลธรรมนั้นๆ

เมื่อใดที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นภายใน ก็เข้าใจว่าเป็น "ธรรม" ฝ่ายอกุศล

เป็นโทษภัยที่สะสมมาแล้ว และมีหนทางเดียวที่จะขัดเกลาได้

คือ "ทำดี และศึกษาพระธรรม"

เมื่อเห็นผู้อื่นเป็นอกุศล ก็ไม่คบหาสมาคม คลุกคลี คุ้นเคย คล้อยตามอกุศลนั้นๆ

มีความละอาย รังเกียจ เห็นโทษภัยในอกุศลธรรมจริงๆ

ด้วย "หิริ โอตตัปปะ"

แต่ไม่ใช่ให้รังเกียจบุคคลอื่นด้วยอกุศลจิต คือ "โทสะ"

เพราะขณะที่กำลังรังเกียจคนอื่น ขณะนั้นกำลังเป็น "พาล"

เป็นผู้ขุ่นเคืองใจในความไม่ดีของคนอื่น คิดถึงความไม่ดีของคนอื่นทีไรก็ไม่ชอบ

ไม่ชอบอยู่ร่ำไป เป็นความผูกโกรธโดยไม่รู้ตัว

ขณะนั้นไม่ใช่คนอื่นที่เป็นพาลเลย แต่เรากำลังเป็นพาล

เพราะ "โกรธ" ก็เป็นพาล ไม่รู้ตัวว่าเป็นอกุศล "ไม่รู้" ก็เป็นพาลอย่างยิ่ง

แต่ควรเห็นโทษภัยของอกุศลธรรมว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเสพคุ้น ไม่ว่าในกาลไหนๆ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่า "ไม่ควรคบคนพาล"

เพราะถ้ามีการคลุกคลี คบหาสมาคมกับอกุศลธรรม ความเป็นพาลบ่อยๆ

ก็ย่อมมีจิตใจโน้มเอียง คล้อยตามอกุศลธรรมนั้นๆ ไป ทีละเล็กทีละน้อย

นานวันก็จะมากมายจนมีอัธยาศัยที่มากด้วยอกุศลธรรม เป็นคนพาลได้ในที่สุด ครับ.

ที่สำคัญควรคบกับสภาพธรรม คือ "เมตตา"

คือ ความปรารถนาดีที่บริสุทธิ์จากความหวัง ความต้องการ

เพราะเป็นกุศลจิตที่สะอาด ผ่องใส ด้วยไมตรี

ที่หวังประโยชน์เกื้อกูล อย่างจริงใจ ให้ผู้อื่นมีความสุข

จึงมีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนแท้ ไม่มีการแบ่งแยก ไม่แสดงความรังเกียจใดๆ

เป็นสิ่งที่ควรมีให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพาล หรือบัณฑิต

เพราะขณะที่เมตตาเกิด ขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ใช่พาล

ไม่ได้มีความผูกพัน ความหวัง ความต้องการ

จึงไม่คลุกคลี สมาคมด้วยอกุศลธรรมอะไรๆ กับคนพาล

เพราะคนพาล ไม่ควรคบ ไม่ว่าในกาลไหนๆ

ไม่ว่าอกุศลธรรม ที่เป็น "พาล" นั้น จะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือผู้อื่น ครับ.

และสิ่งที่ประเสริฐสุดที่จะพึงประพฤติได้ ต่อคนพาลจริงๆ

ไม่ใช่พลอยพาลไปกับเขา

แต่ให้เขาพ้นจากความเป็นพาล โดยการ "เป็นคนดีขึ้น" เพราะเข้าใจธรรม ครับ.

อนึ่ง ต้องไม่ลืมว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด

เพื่อพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองตามความเป็นจริง

ไม่ใช่เพื่อเพ่งโทษ ติเตียน บุคคลอื่น

โดยคิดถึงแต่คนอื่นว่าเป็นคนพาล เป็นคนไม่ดี

แต่หลงลืมศึกษาและเข้าใจอกุศลธรรมที่เกิดกับตนเองตามความเป็นจริง ครับ.


ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุดแด่พระรัตนตรัย

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่เป็นกัลยาณมิตร คอยอนุเคราะห์เกื้อกูลผู้อื่น ในเว็ปไซต์บ้านธัมมะ ให้เข้ามาคบหา สมาคม ด้วยพระธรรมที่มีค่าประเสริฐสุดจากพระสัมสัมพุทธเจ้า

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ.

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jarunee.A
วันที่ 24 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
worrasak
วันที่ 4 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ