ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๙๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๙๕
@คำไม่จริง คำเสียดสี คำหยาบคาย คำไร้สาระ มาจากไหน? มาจากอกุศลจิต
@ทุกขณะใหม่หมด เพราะเหตุว่าสิ่งที่ดับแล้ว ไม่สามารถกลับมาอีกเลย
@เมื่อเขาไม่ดี เขาต้องได้รับผลของการสะสมความโกรธ และจะทำให้มีกำลังประทุษร้ายเบียดเบียนหรือทำสิ่งซึ่งคิดไม่ถึงว่าจะทำได้ก็ทำได้ ก็เป็นอันตรายของความโกรธ เป็นอันตรายของบุคคลผู้สะสมความโกรธ
@ทุกอย่างเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกัน ไม่ซ้ำกันเลย มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย
@ไม่เห็นสิ่งอื่นใดที่จะมีประโยชน์เท่ากับความเห็นถูกความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริง เพราะอะไร? เพราะอย่างไรๆ ก็จะต้องจากสิ่งที่มี ซึ่งกำลังจากอยู่ทุกขณะ ยับยั้งไม่ได้เลย
@ท่านที่เป็นกัลยาณมิตร ถ้ามิตรสหายของท่านกำลังเป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นโอกาสดีที่จะกล่าวธรรม เพราะเหตุว่าถ้าท่านเตือนเองย่อมจะไม่ได้ผลเท่ากับการแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว แต่ว่าก็ต้องขึ้นอยู่กับกาละเทศะและเหตุการณ์ในขณะนั้น แต่ให้ทราบว่าคำพูดของบางท่านสะกิดใจจริงๆ บางทีฟังแล้วระลึกได้ทันที แต่ถ้าในขณะนั้นคนนั้นไม่กล่าววาจาอย่างนั้น บุคคลนั้นก็ยังคงมีอกุศลต่อไปอีกนานทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องของความโกรธ ในเรื่องของความตระหนี่ ความริษยา ในเรื่องของอกุศลทั้งหลาย ถ้าได้มีธรรมที่ระลึกได้ในขณะนั้นแล้วกล่าวขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังมีอกุศลจิต
@เป็นการดีที่ได้รู้จักตัวของตัวเองตามความเป็นจริง ประโยชน์ของพระธรรมวินัยคือ ทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้จักสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับท่านตรงตามความเป็นจริงว่าไม่มีตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมต่างๆ ลักษณะของจิตต่างๆ ลักษณะของเจตสิกต่างๆ ลักษณะของรูปต่างๆ ที่เกิดประชุมรวมกันแล้วยึดถือว่าเป็นตัวตน เมื่อใดสติเกิด เมื่อนั้นก็จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง
@ท่านมีความสุข แล้วเห็นคนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน อยากจะให้คนอื่นเขามีความสุขอย่างเรา ขณะนั้นไม่ตระหนี่ในสุขเวทนา แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสุขและคนอื่นมีความทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่มีความคิดที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นให้มีความสุขบ้าง ขณะนั้นก็เป็นการตระหนี่ขันธ์ คือ ตระหนี่สุขเวทนา
@คำพูดที่ทำให้บุคคลอื่นไม่สบายใจ หรือว่าเป็นการเสียประโยชน์ของบุคคลนั้น ซึ่งถ้าสติไม่เกิดก็ดูเหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาอีก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ขัดเกลากิเลสก็จะพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ว่า ไม่เพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต ในเบญจกามคุณ (กามคุณ ๕) คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
@ถ้าหวังร้ายต่อใคร หรือว่ายินดีในความพินาศของใคร ขณะใด ขณะนั้นท่านไม่ได้เจริญเมตตา
@ชีวิตประจำวันนี้จำเป็นต้องพูดหลายเรื่อง แต่ควรที่จะเกิดหิริโอตตัปปะที่จะระลึกได้ว่า จิตที่พูดในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลแล้วเป็นการพูดที่เป็นประโยชน์ เพราะถึงแม้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องจริง แต่ว่าไม่เป็นประโยชน์ ทำให้คนอื่นเกิดอกุศลจิต หรือแม้แต่ตัวผู้ที่กล่าวเองก็กำลังเป็นอกุศล ในขณะนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์
@ไม่ควรที่จะลืมเลยว่า อีกไม่นานก็ถึงชาติหน้า และก็ชาติหน้าท่านอยากจะเป็นบุคคลประเภทไหน อยากจะมีกิเลสน้อยหรือว่าอยากจะมีกิเลสมาก? ดูเหมือนว่าชาตินี้กิเลสมาก แต่ว่าชาติหน้าอยากมีกิเลสน้อย นั่นก็เหตุกับผลยังไม่ตรงกันในเมื่อชาตินี้มีกิเลสมาก แต่ว่าชาติหน้าอยากมีกิเลสน้อย
@ถ้าชาตินี้ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่ละคลาย ชาติหน้าก็กิเลสน้อยไม่ได้ และสำหรับชาติหน้า ทุกคนก็จะเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งจะไม่ย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย แต่ว่าถ้าใครสามารถที่จะมีปัญญาถึงขั้นที่จะรู้อดีตของชาติหน้า ซึ่งก็คือชาตินี้เอง ชาติหน้าก็อาจจะคิดว่า แหม! ชาติก่อนนั้นไม่ควรจะทำอย่างนี้เลย ไม่ควรจะผูกโกรธอย่างนั้น ไม่ควรจะกล่าววาจาอย่างนั้น แต่ว่าได้กระทำไปแล้ว
@เวลาคิดถึงคนอื่น คิดดี หรือไม่ดี คิดด้วยเมตตา หรือว่าไม่ใช่ด้วยเมตตา ถ้าขณะใดที่ไม่ได้คิดด้วยเมตตา รู้ไหมว่าเป็นโทษ ถ้าไม่คิดด้วยเมตตา ก็เป็นโทษ นำมาซึ่งความเสื่อม
@ถ้าเป็นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เป็นกาลสมบัติ เพราะฉะนั้น ก็ประมาทไม่ได้เลยว่าใคร อาชีพไหน มีความทุกข์อย่างไร ยังมีโลภะ โทสะอยู่ แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรม การสะสมโสภณธรรมทั้งหลายที่พร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็น้อมปฏิบัติธรรมได้ทันที จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
@ทุกคนก็ต้องเดินทางชีวิตต่อไปอีกยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล และชีวิตข้างหน้าก็จะสุขทุกข์อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งถ้าทุกคนมีความมั่นใจจริงๆ และมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของกรรมนี้ ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล
@ผู้ที่เข้าใจในเรื่องเหตุและผล ก็จะได้ทราบว่า ฤกษ์ดี เวลาดี มงคลดี ทั้งหมดก็คือ ขณะจิตที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นขณะใดทั้งตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น
@ขณะใดที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลึกลงไปในขณะนั้นที่สติจะต้องติดตามหยั่งลงไปว่าเพราะอะไร ก็คือความเห็นแก่ตัวเพราะฉะนั้น "ตัว" นี้ยังเป็นที่ยึดถือ ผูกพัน ติดข้องอย่างมากเพียงไร ลักษณะอาการของความตระหนี่ย่อมปรากฏ
@ถ้าเกิดความตระหนี่ธรรมแล้ว ทุกอย่างย่อมไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าไม่แสดงธรรมนั้นให้บุคคลอื่นได้รู้หรือเข้าใจด้วย
@ผู้ที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะไม่ตระหนี่ธรรม (จะกล่าวความจริงให้ผู้อื่นได้เข้าใจ) เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๙๔
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...