“ความว่างเปล่า”
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอเรียนถามว่า
๑. โดยความเป็นธรรมะ –ธาตุ “ความว่างเปล่า” คืออะไร
๒. ช่วยยกตัวอย่าง ข้อความ“ความว่างเปล่า” ที่มีพระไตรปิฏก
๓. ช่วยยกตัวอย่าง ข้อความ-คำอธิบายของท่านอาจารย์สุจินต์ฯ เกี่ยวกับ “ความว่างเปล่า” ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณยิ่งนะคะ ในความอนุเคราะห์เกื้อกูลที่ให้ได้รับความรู้ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑ - ๒) ธรรมกับธาตุมีความหมายอย่างเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเป็นธรรม หรือ เป็นธาตุแล้ว ก็ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ได้
ธาตุ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตามข้อความจากสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ธาตุสูตร ว่า “ความที่ธรรมมีสภาพต่างกัน ได้ชื่อว่า ธาตุ เพราะอรรถว่า เป็นสภาวะ (มีจริงๆ ) กล่าวคือ มีอรรถว่า มิใช่สัตว์ และ มีอรรถว่า เป็นของสูญ (ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน) ดังนี้ ชื่อว่า ความต่างแห่งธาตุ”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งมีแล้ว แต่ไม่รู้ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงธาตุ ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ และเป็นธรรมด้วย เพราะธาตุกับธรรมมีความหมายอย่างเดียวกัน สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ก็คือ แต่ละหนึ่งไม่ได้ปะปนกันเลย มีจริง แต่หลากหลายต่างกัน เช่น ความโกรธ เป็นอย่างหนึ่ง ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นอย่างหนึ่ง ศรัทธาเป็นอย่างหนึ่ง ความละอาย เป็นอย่างหนึ่ง ความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นอย่างหนึ่ง ความจำ เป็นอย่างหนึ่ง รูปแต่ละรูป เป็นแต่ละหนึ่ง เป็นต้น
ตั้งแต่เกิดมา ก่อนฟังพระธรรม ไม่รู้ความจริงอะไรเลย หลงผิดว่าเป็นเรา หรือหลงผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยงยั่งยืน แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงนั้นมีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง ซึ่งปะปนกันไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไป แม้แต่ที่กล่าวว่า ร่างกายของเรา มีความสำคัญในร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นตาเรา หูเรา แขนเรา ขาเรา เป็นต้น ก็เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ที่เป็นร่างกายนั้นมีลักษณะอย่างไร ก็ไม่พ้นไปจากธาตุหรือธรรมเลย เพราะฉะนั้น แต่ละลักษณะที่มีจริงสามารถเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ว่า เมื่อสิ่งนั้นมีจริง มีลักษณะอย่างนั้น แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้นว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ยกตัวอย่างแข็งที่ตัว ก็เป็นแข็ง เป็นธาตุอย่างหนึ่ง แล้วจะบอกว่าเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อแข็งเป็นแข็ง แข็งจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย ตัวอย่างต่อไป เช่น ได้ยิน ก็มีจริงๆ เป็นธาตุอย่างหนึ่ง ได้ยิน เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากได้ยิน เป็นเห็นไม่ได้ เป็นความรู้สึกไม่ได้ ต้องเป็นเฉพาะได้ยินเท่านั้น เมื่อได้ยินเกิดขึ้นก็ต้องรู้เสียงเท่านั้น รู้อย่างอื่นไม่ได้
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ตรงในทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง แข็งไม่ใช่เรา ได้ยินไม่ใช่เรา กุศล ไม่ใช่เรา อกุศล ไม่ใช่เรา รูป ไม่ใช่เรา ทั้งหมดนั้นล้วนแสดงให้เห็นถึงความจริงของสิ่งที่มีจริง ว่า เป็นธาตุแต่ละชนิด ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น นี้คือ การเริ่มฟังความจริงของสภาพธรรม ที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีจริงๆ เพียงชั่วคราว และสิ่งที่มีจริงนั้น ก็เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่างๆ เท่านั้น
ถ้ามีความเข้าใจแต่ละธาตุๆ ทั้งหมด ว่าแท้ที่จริงก็เป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งมีลักษณะปรากฏเพียงชั่วคราวและเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็สามารถจะรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูกว่า ขณะนี้เป็นธาตุทั้งหมดเลย ไม่มีเรา ถ้ายิ่งฟัง ยิ่งจะเข้าใจถึงความเป็นธาตุที่มีจริง ตามความเป็นจริง จนกว่าจะละคลายการยึดถือว่าเป็นเรา เพราะว่าได้มีความเข้าใจในความเป็นธาตุ และที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างนี้ได้นั้น ต้องรู้ว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ โดยไม่มีใครสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่างๆ เป็นธาตุที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ (นามธรรม) กับ ธาตุที่ไม่ใช่สภาพรู้ (รูปธรรม) เท่านั้นจริงๆ ซึ่งจะต้องมีความอดทน มีความเพียร มีความจริงใจ มีความมั่นคงที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้นต่อไป ครับ
๓.) ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่---ล้วนว่างเปล่า
อะไรเล่า ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน
สูญญสูตร - ที่เรียกว่าโลกว่างเปล่าด้วยเหตุเพียงเท่าไร
ยึดถือขันธ์ ๕ เพราะไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ ว่างเปล่า
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...