อุปกสูตร - อุปกมัณฑิกาบุตร - ๒๗-o๖-๒๕๕๘

 
มศพ.
วันที่  21 มิ.ย. 2558
หมายเลข  26669
อ่าน  1,665

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและ เผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

อุปกสูตร

... จาก ...

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๖๗

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๔๖๑

อุปกสูตร

(พระพุทธองค์ทรงโต้วาทะกับอุปกมัณฑิกาบุตร)

[๑๘๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตร เข้าไฝเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวติเตียนผู้อื่น ผู้นั้นทั้งหมด ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน,

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร อุปกะ ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียนผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียนไซร้ ดูกร อุปกะท่านนั่นแหละ กล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน.

อุป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลพึงจับปลาที่พอผุดขึ้นเท่านั้น ด้วยแหใหญ่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เหมือนกัน พอเอ่ยขึ้นเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงจับด้วยบ่วงคือวาทะอันใหญ่.

พ. ดูกร อุปกะ เราบัญญัติแล้วว่า นี้เป็นอกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคต ในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า อกุศลนี้นั้นแล ควรละเสีย บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้อกุศลนี้ ควรละเสีย อนึ่ง เราบัญญัติไว้แล้วว่า นี้เป็นกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคต ในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า นี้ เป็นกุศลแม้ เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า กุศลนี้นั้นแล ควรบำเพ็ญ บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า กุศลนี้ ควรบำเพ็ญ แม้เพราะเหตุนี้.

ลำดับนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตร ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ครั้นแล้วได้กราบทูลการสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมดนั้น แก่พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอาชาตศัตรูเวเทหิบุตร เมื่ออุปกมัณฑิกาบุตร กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหิบุตร ทรงกริ้ว ไม่ทรงพอพระทัย ได้ตรัสกะอุปกมัณ ฑิกาบุตรว่า เจ้าเด็กลูกชาวนาเกลือนี่ อวดดีปากกล้า บังอาจ จักสำคัญพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นว่าควรรุกราน เจ้าอุปกะ จงหลีกไป จงพินาศ ฉันอย่าได้เห็นเจ้าเลย.

จบอุปกสูตรที่ ๘.

อรรถกถาอุปกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอุปกสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อุปโก เป็นชื่อของมัณฑิกาบุตรนั้น. บทว่า มณฺฑิกาปุตฺโตแปลว่า บุตรของนางมัณฑิกา. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า ได้ยินว่า อุปกมัณฑิกาบุตรนั้น เป็นอุปัฏฐากของเทวทัต จึงเข้าไปเฝ้า เพื่อกำหนดว่า เมื่อเราเข้าไปเฝ้า พระศาสดาจักตรัสยกย่องหรือตรัสตำหนิหนอ, อาจารย์บางพวกกล่าวดังนี้ก็มี ว่า เข้าไปเฝ้าประสงค์จะฟังคำว่า เทวทัตตกนรก ดำรง อยู่ชั่วกัป ใครก็แก้ไขมิได้ดังนี้ แล้วจะได้เสียดสีพระศาสดา. บทว่า ปรูปารมฺภํ วตฺเตติ ได้แก่ กล่าวติเตียนผู้อื่น. บทว่า สพฺโพ โส น อุปฺปาเทติ ความว่า ผู้นั้นทั้งหมด ไม่ทำกุศลธรรมให้เกิดขึ้น หรือไม่อาจเพื่อจะทำคำของตนให้สมควรได้เลย. บทว่า อนุปฺปาเทนฺโต คารยฺโห โหติ ความว่า เมื่อไม่อาจให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจทำคำของตนให้สมควรได้ ก็ย่อมเป็นผู้ถูกติเตียน. บทว่า อุปวชฺโช ความว่า ย่อมเป็นผู้ถูกติถูกว่าเหมือนกันหรือเป็นผู้ประกอบด้วยโทษ อธิบายว่า มีโทษ.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจับวาทะของอุปกะนั้นแล้ว เมื่อจะทรงสวมคอของอุปกะนั้นแล จึงตรัสว่า ปรูปารมฺภํ เป็นต้น. บทว่า อุมฺมุชฺชมานกํเยว ได้แก่ พอยกหัวขึ้นจากน้ำเท่านั้น. ในบทว่า ตตฺถ อปริมาณา ปทา เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้. บทก็ดี อักขระก็ดี ธรรมเทศนาก็ดี นับไม่ได้ในการบัญญัติว่า อกุศล นั้น. บทว่า อิติปีทํ อกุสลํ ความว่า แม้บททั้งหลายที่มาแล้วในอกุศลบัญญัติอย่างนี้ว่า แม้นี้ก็เป็นอกุศล แม้เพราะเหตุนี้ๆ ก็เป็นอกุศลดังนี้ก็นับไม่ได้. แม้เมื่อเป็นดังนั้น พระตถาคต พึงทรงแสดงธรรมนั้น ด้วยอาการอย่างหนึ่ง เทศนาของพระองค์อย่างนี้ ก็พึงนับไม่ได้. เหมือนที่ท่านกล่าวว่า ธรรมเทศนาของพระตถาคตนั้น กำหนดถือเอาไม่ได้ บทพยัญชนะแห่งธรรม ก็กำหนดถือเอาไม่ได้ เนื้อความในทุกวาระพึงทราบด้วยอุบายนี้.

บทว่า ยาวธํสี วตายํ คือ เจ้าเด็กนี้ช่างลบล้างคุณ. โลณการกทารโก คือ เด็กในหมู่บ้านชาวนาเกลือ. บทว่า อปสาเทตพฺพํ มญฺญิสฺสติ คือ จักสำคัญพระพุทธเจ้าว่าควรระราน. บทว่า อเปหิ ความว่า เจ้าจงหลีกไป อย่ามายืนต่อหน้าข้านะ ก็พระเจ้าอชาตศัตรู ตรัสอย่างนี้แล้ว โปรดให้บริวารจับคอคร่าออกไปแล.

จบอรรถกถาอุปกสูตรที่ ๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 21 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๏ ข้อความโดยสรุป ๏

อุปกสูตร (พระพุทธองค์ทรงโต้วาทะกับอุปกมัณฑิกาบุตร)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมปราบวาทะความคิดความเห็นของอุปกมัณฑิกาบุตรผู้เป็นอุปัฏฐากของพระเทวทัต ด้วยบัญญัติ ๔ ประการ ว่า บท พยัญชนะ และพระธรรมเทศนา มีมากมายประมาณไม่ได้ ที่แสดง ว่า

๑. นี้ เป็นอกุศล

๒. อกุศล ควรละ

๓. นี้เป็นกุศล

๔. กุศล ควรเจริญ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

กุศลธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศลธรรม

กุศลธรรม [ถอดเทปสนทนาธรรมรายการบ้านธัมมะ]

กุศลธรรมทุกประเภทควรเจริญ เจริญอย่างไร เพราะธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา

กุศลธรรม

ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่

อกุศลธรรม

โทษของอกุศล

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 23 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ