ความดี ความชั่ว

 
apiwit
วันที่  23 มิ.ย. 2558
หมายเลข  26682
อ่าน  62,207

ในชีวิตประจำวันนั้นเราเหมือนกับจะรู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดดี และ สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งใดไม่ดี เช่น โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศล ส่วน ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงนั้นเป็นกุศล แต่มันก็ยังใช่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เพราะเหตุว่าผมยังไม่รู้ความหมายของคำว่า ดี กับ ชั่ว นั้นคืออะไร กุศล กับ อกุศล นั้นคืออะไร เพราะเหตุว่าในชีวิตประจำวันของเรานั้นเมื่อมีสิ่งซึ่งถูกใจของเรา เราย่อมตัดสินว่าสิ่งนั้นคือ ดี และถ้ามีสิ่งซึ่งไม่ถูกใจของเรา เราย่อมตัดสินว่าสิ่งนั้นคือ ไม่ดี ซึ่งดีสำหรับเราแล้วอาจจะไม่ดีสำหรับคนอื่นๆ

ดังนั้นผมจึงไม่รู้ว่าจะให้คำนิยามความหมายของคำว่าดี กับ ชั่ว นั้นว่าอย่างไร ความดีแท้นั้นคืออะไร และเราจะใช้สิ่งใดตัดสินว่านี่คือคือความเห็นถูก นั่นคือความเห็นผิด สมมติว่าคนหนึ่งยืนอยู่ฝั่งหนึ่งของเหรียญ เนื่องจากว่าเหรียญมี 2 ด้าน คนที่ยืนอยู่ด้านหนึ่งเห็นเป็นหัว คนที่ยืนอยู่อีกด้านหนึ่งเห็นเป็นก้อย ดังนั้นเนื่องจากคนเรามีจุดยืนที่ต่างกันก็เป็นธรรมดาที่คนเราจะมีความเห็นไม่เหมือนกัน แล้วเราจะตัดสินอย่างไรครับว่าอะไรคือความเห็นถูกต้อง อะไรคือความเห็นไม่ถูกต้อง

ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบาย ตั้งแต่ความหมายของคำว่าดีกับชั่ว ถูกกับผิด พร้อมกับวิธีในการที่จะพิจารณาแยกแยะโดยละเอียด เพื่อที่จะได้เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อพูดถึงความจริงที่เป็นสัจจะ ที่มีสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ความดี ความชั่ว ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็นสัจจะ ที่เป็น จิตเจตสิก รูปและนิพพานเลยครับ ความดี ไม่ใช่ใครที่ดี ความดี คือ ความดี เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ที่เป็นเจตสิกที่ดี ฝ่ายดี มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ ปัญญา เป็นต้น หรือ อาจเรียกว่า กุศลก็ได้ เมื่อกล่าวถึงความดี ความไม่ดี หรือ ความชั่ว ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น เจตสิกฝ่ายไม่ดี ที่เรียกว่า อกุศลเจตสิก 14 ดวง มี โลภะ ความติดข้อง โทสะ โมหะ ความไม่รู้ เป็นต้น

รู้ได้อย่างไร ว่าอะไรคือ ความดี ความชั่ว

ความดี ที่เป็นกุศล และความชั่วที่เป็นอกุศลมี และกำลังเกิดในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยรู้เลย การจะรู้ว่าอะไรคือความดี และ ความชั่ว ก็ต้องด้วยสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง นั่นคือ ปัญญา ปัญญานี้เองที่เป็นสภาพธรรมที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นอย่างไร ตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งใด คือ กุศล สิ่งใด คือ อกุศล สิ่งใดเป็นความดี สิ่งใดเป็นความชั่ว ในขณะที่กำลังเกิดอยู่นั่นเองครับ ซึ่งหากไม่มีปัญญา ก็เปรียบเหมือนอยู่ในห้องมืดที่ไม่มีแสงสว่าง ย่อมไม่เห็นสิ่งของในห้องเลยครับว่า มีอะไรอยู่ในห้องบ้าง แต่เมื่อมีแสงสว่าง ก็ย่อมทำให้เห็นสิ่งที่อยู่ในห้องตามความเป็นจริงครับว่า มีสิ่งใดอะไรบ้าง และ มีความแตกต่างกันอย่างไรในสิ่งของต่างๆ ที่มีในห้องครับ ฉันใด ปัญญาก็เป็นสภาพธรรมที่เห็นตามความเป็นจริง เปรียบดังเช่นแสงสว่างที่ทำให้เห็นสิ่งของต่างๆ ตามความเป็นจริง ปัญญาที่เกิดขึ้น ย่อมเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนี้ดี เป็นกุศลไม่มีโทษ ควรเจริญ สภาพธรรมนี้ไม่ดี เป็นอกุศล มีโทษ ไม่ควรเจริญ ควรทำให้เสื่อมและละคลายไป การรู้ตามความเป้นจริงในสภาพธรรมต่างๆ ก็เพราะปัญญานั่นเอง เป็นสำคัญครับ

ซึ่งลักษณะของความดี และ ความชั่ว หรือ กุศล และ อกุศล พระพุทธเจ้าก็แสดงไว้ดังนี้

ลักษณะของกุศล หรือ ความดี คือ

1. เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ

2. ไม่มีโรค

3. ให้ผลเป็นสุข

4. เป็นสภาพธรรมที่ฉลาด

ความดี หรือ กุศล เป็นธรรมไม่มีโทษ

กุศล หรือ ความดี เช่น ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล มีเมตตา เจริญอบรมปัญญา เป็นธรรมไม่มีโทษ เพราะไม่ประกอบด้วยธรรมที่มีโทษ คือ โลภะ โทสะและโมหะ เป็นต้น จึงเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ และ ไม่มีโทษกับจิตของผู้ที่เกิด ไม่มีโทษกับผู้อื่น กับคนรอบข้าง เมื่อความดีเกิดขึ้น

ความดี หรือ กุศลเป็นธรรมไม่มีโรค

ไม่มีโรค คือ ไม่มีโรค คือ กิเลส ที่เป็นโรคทางใจเกิดขึ้นเลย ในขณะที่ กุศลจิต และเจตสิกฝ่ายดี ที่เป็นความดีเกิดขึ้นในขณะนั้น มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญปัญญา เป็นต้น

ความดี หรือ กุศลเป็นธรรมให้ผลเป็นสุข

เมื่อความดีที่เป็นกุศลกรรมเกิดขึ้น มีการให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา เมื่อเป็นเหตุ ผลก็ย่อมมี ซึ่งผลของความดี ย่อมนำมาซึ่งสิ่งที่ดี ให้ผลเป็นสุข เช่น เกิดในภพภูมิที่ดี ได้เห็นสิ่งดี ได้ยินสิ่งที่ดี ลิ้มรสสิ่งที่ดี รู้กระทบสัมผัสที่ดี เป็นต้น อันให้ผลเป็นสุขครับ

ความดี หรือ กุศล เป็นสภาพธรรมที่ฉลาด

ความดี ก็มีหลายระดับ ความดีที่มีปัญญา มีความเห็นถูก ย่อมเป็นสภาพธรรมที่ฉลาดรู้ว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว เมื่อรู้ตามความเป็นจริงก็งดเว้นสิ่งที่ไม่ดี เจริญความดี เพราะมีปัญญา อันเป็นสภาพธรรมที่ฉลาดครับ

ส่วนอกุศล หรือ ความไม่ดี ก็มีความหมาย ตรงกันข้ามกับ ความดี คือ

1. เป็นธรรมที่มีโทษ

2. ให้ผลเป็นความทุกข์

3. เป็นธรรมที่มีโรค

4. เป็นสภาพธรรมที่ไม่ฉลาด

อกุศล หรือ ความไม่ดี เมื่อเกิดขึ้น เป็นธรรมที่มีโทษเพราะประกอบด้วยสภาพธรรมที่มีโทษ คือ โลภะ โทสะและโมหะ สภาพธรรมเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น ย่อมมีโทษกับจิตของผู้ที่เกิดเองและมีโทษกับคนรอบข้าง เพราะทำให้กาย วาจาและใจเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้องครับ

ให้ผลเป็นทุกข์ วิบาก ผลของกรรม ของการทำความชั่ว มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น นำมาซึ่งความทุกข์ในขณะที่ทำและผลของกรรม ก็ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี มีการเกิดในนรก เป็นต้นครับ

เป็นธรรมที่มีโรค เพราะนำมาซึ่งโรคกิเลสในขณะนั้น

เป็นสภาพธรรมที่ไม่ฉลาด อกุศล ความไม่ดี หรือ ความชั่วทีเกิดขึ้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่ฉลาด หรือ ไม่รู้ เพราะขณะนั้นมีความไม่รู้ ที่เป้นโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งดี สิ่งใดไม่ดี อะไรควร ไม่ควร และไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏว่าคืออะไรครับ

จากที่กล่าวมา ในลักษณะของความดี และ ความชั่ว ก็ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ตามความเป็นจริง ซึ่งก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นทีละน้อย ก็จะค่อยๆ แยกสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า ขณะไหน คือ ความดี ขณะไหนคือความชั่ว แต่ประการสำคัญที่สุด การอบรมปัญญาที่ถูกต้อง คือ เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ดี หรือ ชั่ว ก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้นครับ เพื่อละความสำคัญผิดว่า เป็นเราที่ดี หรือ เราที่ชั่วครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
apiwit
วันที่ 23 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 23 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

# เวลาที่กล่าวว่าใครดีใครชั่ว เพราะอะไร? เพราะจิตดีหรือจิตชั่ว ถ้าจิตดี ก็กล่าวว่าบุคคลนั้นเป็นคนดี เพราะเหตุว่า กายก็ดี วาจาก็ดี ตามจิตที่ดี แต่ถ้าจิตไม่ดี จะกล่าวว่าคนนั้นดีได้ไหม ก็ไม่ได้

(อ้างอิงจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๗)

ชีวิต คือ ความเป็นไปของจิตแต่ละขณะ มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ในแต่ละชาตินั้น แต่ละคนก็สะสมมาทั้งส่วนที่ดี และ ไม่ดี ซึ่งสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ไม่สูญหายไปไหน เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทันที จะเห็นได้ว่าเมื่อจิตเศร้าหมองด้วยอำนาจของอกุศล สะสมจนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นๆ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี เป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ สิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะอกุศล บุคคลที่ทำแต่สิ่งไม่ดี ไม่ได้ทำความดีอะไรไว้เลย เป็นผู้ประมาทมัวเมา ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ในทางตรงกันข้าม เมื่อจิตไม่เศร้าหมองไม่ร้าย ไม่ถูกอกุศลครอบงำ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน (ไม่เดือดร้อนเพราะอกุศล) เมื่อละจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่สุคติ

ตามความเป็นจริงแล้ว กุศลจิตเป็นจิตใจที่ดีงาม ที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี มีศรัทธา สติ เป็นต้น จิตใจที่ดีงามเกิดขึ้นในขณะใดขณะนั้นเป็นกุศล ส่วน อกุศลจิตเป็นจิตใจที่ไม่ดี เป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก มี โลภะ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) เป็นต้น จิตใจที่ไม่ดีเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อเข้าใจและรู้แน่ชัดแล้วว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ควรที่จะอบรมเจริญความดีซึ่งเป็นธรรมฝ่ายกุศลให้มากขึ้น ให้มีกำลังพอที่จะขัดเกลาอกุศลของตนเองให้เบาบางลงได้ เพราะอกุศลมีมากมายเหลือเกิน ถ้าไม่เริ่มขัดเกลา ก็ย่อมจะมีแต่พอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติในชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดขึ้นมาก จากที่เป็นอกุศลบ่อยๆ เนืองๆ แล้วเริ่มเป็นกุศลที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน มีการคิดดี พูดดี ทำดีมากยิ่งขึ้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะช่วยบรรเทาอกุศลจิตซึ่งเป็นจิตที่ไม่ดีให้ลดน้อยลง ครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 23 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 24 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 24 มิ.ย. 2558

ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้นอีก กุศลไกลจากอกุศล เช่น เมตตา กับ ความโกรธ ไกลกัน ตรงข้ามกันเลย การทำความดีกับการทำความชั่วเหมือนขาวกับดำ เช่น การฆ่าสัตว์ กับการการเว้นไม่ฆ่าสัตว์ ให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยกับใคร ทั้งตนเองและผู้อื่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 27 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jirat wen
วันที่ 9 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ประสาน
วันที่ 14 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Jarunee.A
วันที่ 24 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ