ปฐมสีลสูตร - ศีลและทิฏฐิอันลามก - o๑-o๗-๒๕๕๘

 
มศพ.
วันที่  26 ก.ค. 2558
หมายเลข  26829
อ่าน  1,487

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

ปฐมสีลสูตร

จาก ...

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๑๙๙

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๑๙๙

๕. ปฐมสีลสูตร

(ว่าด้วยศีลและทิฏฐิอันลามก)

[๒๑๐] จริงอยู่ พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๒ ประการ อันกรรมของตนซัดไปในนรก เหมือนถูกนำมาทิ้งลง ฉะนั้น ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน? คือ ศีลอันลามก ๑ ทิฏฐิอันลามก ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล อันกรรมของตนซัดไปในนรก เหมือนถูกนำมาทิ้งลง ฉะนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

นรชนใด ผู้มีปัญญาทราม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้ คือ ศีลอันลามก ๑ ทิฏฐิอันลามก ๑ นรชนนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก.

เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบปฐมสีลสูตรที่ ๕.

อรรถกถาปฐมสีลสูตร

ในปฐมสีลสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปาปเกน สีเลน ความว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ความไม่สำรวมอันทำให้ศีลขาด ชื่อว่า ศีลลามก. ในบทนั้น ผิว่า ความไม่สำรวมเป็นศีล เหมือนกันไซร้ เพราะความเป็นผู้ทุศีล ศีลนั้นจะเรียกว่า ศีลอย่างไร. ในบทนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้.- ท่านกล่าวสิ่งที่ไม่เห็นในโลกว่าเห็น หรือผู้ไม่มีศีลว่า เป็นผู้มีศีล ดังนี้ ฉันใด แม้ในข้อนี้ ท่านก็เรียก ไม่มีศีล ก็ดี ไม่สำรวม ก็ดี ว่า ศีล ฉันนั้น.

อีกอย่างหนึ่ง เรียกชื่อว่า ศีลมีอยู่ แม้ในอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะพระบาลีว่า ดูกร คฤหบดี ก็ศีลเป็นอกุศล กายกรรมเป็นอกุศล วจีกรรมเป็นอกุศล อาชีวะเป็นอกุศล เป็นไฉน ดังนี้ เพราะฉะนั้น ความประพฤติชอบทั้งหมด เป็นปกติ เหมือนสำเร็จตามสภาพ ด้วยความคุ้นเคย ท่านก็เรียกว่า ศีล. บทว่า ปาปเกน สีเลน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงอกุศลอันลามก เพราะอรรถว่า ไม่เป็นความฉลาดเลย. บทว่า ปาปิกาย ทิฏฺฐิยา ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ ทั้งหมด อันลามก. แต่โดยความพิเศษ ทิฏฐิ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ อเหตุกทิฏฐิ (ความเห็นว่าหาเหตุมิได้) ๑ อกิริยทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ) ๑ นัตถิกทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มี) ๑ ลามกกว่า. ในบทนั้น บุคคลผู้ประกอบด้วยศีลอันลามก เป็นผู้วิบัติด้วยปโยคะ (ความขวนขวาย) บุคคลผู้ประกอบทิฏฐิอันลามก เป็นผู้วิบัติด้วยอาสยะ (อัธยาศัย) บุคคลผู้วิบัติด้วยปโยคะและอาสยะ เป็นผู้ตกนรกโดยแท้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล อันกรรมของตนซัดไปในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้งลง ฉะนั้น.

ในบทว่า ทฺวีหิ ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต นี้พึงเห็นเป็นคำแสดงถึงลักษณะ มิใช่แสดงถึงแบบแผน. เหมือนอย่างว่า ผิว่าในโลก ความเจ็บป่วยทั้งหลายจะพึงมีแก่เราไซร้ ควรให้ยาชนิดนี้ แก่ผู้เจ็บป่วยเหล่านี้ ดังนี้. ในฐานะเช่นนี้ แม้เหล่าอื่นก็มีนัยนี้เหมือนกัน . บทว่า ทุปฺปญฺโญ คือ ไม่มีปัญญา

จบปฐมสีลสูตรที่ ๕.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นัั้น

ข้อความโดยสรุป

ปฐมสีลสูตร ว่าด้วยศีลและทิฏฐิอันลามก

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า

บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ คือ ศีลอันลามก และ ทิฏฐิอันลามก ย่อมเป็นผู้อันกรรมของตนซัดไปในนรก เหมือนถูกนำมาทิ้งลง ฉะนั้น
(ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ศีล

ความเสื่อมและความเจริญของปัญญา

เหตุผลของการล่วงศีล

นิยตมิจฉาทิฏฐิ

อเหตุกทิฏฐิ

นัตถิกทิฏฐิ

อกิริยทิฏฐิ

เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมรอบ

ความเสื่อมทิฏฐิ คืออะไร

. ..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 27 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tusaneenui
วันที่ 27 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 29 ก.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 1 ส.ค. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ