ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๖
≠ผู้ที่ปฏิบัติถูก ย่อมเป็นผู้ที่เห็นพระคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งรวมทั้งพระธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าพระธรรมที่เรียนมาทั้งหมดไม่มีประโยชน์ ไม่ได้เกื้อกูล ไม่ได้ทำให้เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตรงตามที่ได้ศึกษา
≠คด ก็มีตั้งแต่ทางกาย และวาจาก็คด และยังถึงใจที่คด วาจาที่คด ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้สึกว่าเป็นทุจริต เพราะว่าคดนิดๆ ยังไม่ตรง เพราะฉะนั้นผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แม้แต่ใจที่จะคดโกง ไม่ตรงต่อเหตุต่อผล ก็ต้องละ มิฉะนั้นแล้วพระธรรมจะไม่เกื้อกูล จะไม่มีประโยชน์เลย
≠เรื่องของการสูญเสีย ทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยากจะสูญเสียเลย แต่ก็ต้องเกิดเพราะเหตุว่าเป็นโลกธรรม จะไม่มีใครเลยซึ่งมีแต่ได้ โดยที่ไม่เสีย เพียงแต่ว่าจะมีการได้มากหรือว่าจะมีการสูญเสียมาก แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีการสูญเสียอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลาภ หรือยศ หรือสรรเสริญ หรือสุข ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ควรที่จะเป็นกุศลหรือว่าควรที่จะเป็นอกุศล?
≠ท่านที่มีโทสะมากๆ ขณะที่กำลังมีโทสะ บางท่านอาจจะไม่ชอบ แต่บางกาละ บางขณะคิดว่าต้องโกรธ พิสูจน์ได้โดยการที่ว่าลองบอกคนที่กำลังโกรธว่า ขณะนี้กำลังทำร้ายตัวเอง ความโกรธเป็นพิษเป็นโทษอย่างนั้นอย่างนี้ คนที่กำลังโกรธไม่หยุดโกรธ ก็ยังจะโกรธต่อไปอีก ทั้งๆ ที่ได้รับคำเตือนว่าอย่างนี้ โดยพระพุทธพจน์ที่ว่า ความโกรธเป็นโทษ เป็นภัย เป็นอกุศล กำลังเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเอง ไม่ใช่คนอื่นทำร้ายเลย
≠แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรม และรู้จักอกุศลว่าเป็นอกุศล แต่ปัญญาที่ยังไม่ถึงขั้นที่จะละคลายกิเลสยังไม่เกิด ก็ไม่สามารถที่จะละคลายหรือดับกิเลสได้
≠สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเข้าใจพระธรรมแล้ว ก็ยังต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยที่ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ก็จะพิจารณาเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมได้มากขึ้นว่า แม้ว่าเห็นว่ากิเลส อกุศลธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้
≠ถ้าเข้าใจพระธรรมจริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกคนในขณะนี้จะบอกไม่ได้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้นในขณะต่อไป ขณะนี้ดับไปแล้ว อะไรจะเกิดขณะต่อไป มีใครรู้บ้างว่า จะได้ยินเสียงอย่างเมื่อกี้นี้ ไม่มีใครทราบว่า จะได้เห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะได้กลิ่นอะไร จะลิ้มรสอะไร จะสัมผัสอะไร แม้แต่ใจของตัวเองก็ยังไม่รู้ว่า จะคิดนึกเรื่องอะไร ถ้าสิ่งนั้นยังไม่เกิดขึ้น จะไม่รู้เลย ทุกวันๆ ชีวิตดำเนินไปตรงตามหลักธรรมที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
≠ขาดไม่ได้เลย ที่ปัญญาจะต้องเกิดบ้าง เตือนตัวเองบ้าง ระลึกบ้าง แม้ว่าจะไม่สามารถจะระลึกได้เองบ่อยๆ แต่เมื่ออาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ ก็เป็นสัญญาที่มั่นคงที่จะทำให้ทั้งปัญญาและตัตตรมัชฌัตตตา (สภาพธรรมฝ่ายดีที่เป็นกลางไม่เอนเอียงด้วยอกุศล) คลายความรู้สึกผูกพันที่เป็นอกุศล แล้วก็ค่อยๆ เจริญกุศลในชีวิตประจำวัน โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่ใช่ทุกท่านจะต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งมิตรสหายเพื่อนฝูง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ว่าจิตที่กระทำกิจนั้นๆ ต่างกันจากเดิม คือ ที่เคยผูกพันยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นก็ค่อยๆ เริ่มคลาย การกระทำกิจต่างๆ ก็เป็นการกระทำกิจด้วยหน้าที่ซึ่งเป็นกุศล แต่ไม่ใช่ด้วยโลภะ ความผูกพัน ซึ่งเป็นอกุศล
≠ก็ลองให้ตัตตรมัชฌัตตตา (สภาพธรรมฝ่ายดีที่เป็นกลางไม่เอนเอียงด้วยอกุศล) กับปัญญาพิจารณาดูว่าอย่างไหนจะดี ในชีวิตประจำวันของทุกคน ถ้าโลภะและอวิชชาต้องเห็นว่า ผูกพันมากๆ ดี แต่ถ้าเป็นตัตตรมัชฌัตตตากับปัญญาต้องเห็นว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม กิจหน้าที่ที่ทำ ทำได้เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ว่าคลายความผูกพันลง เพราะเหตุว่าโลภะเป็นเหตุของทุกข์
≠คลุกคลีด้วยโลภะกับโทสะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวก็หัวเราะ ก็ทั้งโลภะและโทสะไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งโทษของการคลุกคลี ถ้าสังเกตละเอียดในชีวิตประจำวันมีมากทีเดียว ไม่ใช่แต่เฉพาะกับบุคคล แม้แต่กับสัตว์เลี้ยง ซึ่งแต่ละบ้านก็คงจะมีสัตว์เลี้ยง ก็ลองคิดถึงความทุกข์ของการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงว่า มีมากหรือน้อยแค่ไหน เมื่อเลี้ยงสัตว์ก็ต้องเอาใจใส่ ต้องดูแลสารพัดอย่าง สุขหรือทุกข์ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟัง แต่ว่ากิเลสหรืออกุศลทั้งหลายไม่ได้นำความสุขมาให้อย่างแท้จริง เพราะเหตุว่าเมื่อมีโลภะตราบใด ก็มีเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์หรือโทมนัสตราบนั้น
≠ถ้ามีกุศลจิตเกิด ความเมตตาก็จะเกิดได้ แม้ว่าการประพฤติปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ก็ยังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาเพิ่มขึ้น และโลภะหรืออกุศลก็น้อยลง
≠ผู้ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป แต่ว่าพระคุณที่มีอยู่ ไม่ใช่หมดไป สิ่งใดที่ทำแล้ว ผู้ที่เป็นบุตรหลานยังได้รับคุณที่บุพพการีกระทำสืบต่อมาแม้แต่ผู้ที่ได้มรดก ลองคิดดู ได้ทรัพย์สมบัติ ได้ความสะดวกสบาย ได้ทุกอย่างจากใคร แม้ว่าบุคคลนั้นจะจากโลกนี้ไปแล้ว ซึ่งไม่ควรจะเศร้าโศก เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่จะเป็นของเราจริงๆ แม้แต่มารดาบิดาก็ไม่ได้เป็นมารดาบิดาอีกต่อไปสำหรับชาตินั้น เหมือนกับในชาติก่อนๆ มารดาบิดาซึ่งเคยมีคุณต่อ สำหรับในชาตินี้ก็ไม่ได้เป็นมารดาบิดาอีกแล้ว แต่ว่าบุพพการีทุกชาติที่ได้กระทำคุณ ย่อมมีคุณต่อบุตรธิดา เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ความจริงอย่างนี้ก็จะไม่เศร้าโศก ปัญญาจะไม่ทำให้เกิดความโศกเศร้าใดๆ เลย แต่ว่าปัญญาจะทำให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็เจริญกุศลเพิ่มขึ้นด้วย
≠แสนยากที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตน เพราะเหตุว่าทุกคนคิดว่ามีตนทั้งนั้น ซึ่งเป็นความเห็นผิด ถ้ามีความรู้สึกว่า มีตน ก็รักตนมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งสามารถจะกระทำทุจริตต่างๆ ได้
≠ทุกคนที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะถึง ก็จะต้องพิจารณาชีวิตตามปกติของตนเองในแต่ละวัน ข้ามไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นการรู้แจ้งนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน ตามปกติ และจะต้องมีการละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมลงเรื่อยๆ ไม่ใช่ยิ่งรู้ยิ่งอยากได้ นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญาแล้ว ยิ่งรู้ยิ่งละ
≠จุดประสงค์ของการศึกษาพระอภิธรรม เพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา เพื่อละหรือดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
≠ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่ละกิเลส ค่อยๆ ละขจัดกิเลสไปตามลำดับ เป็นขั้นๆ แต่จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นการปฏิบัติผิด การเข้าใจผิด การบรรลุผิดแล้ว ไม่ได้ละกิเลสเลย เพราะเหตุว่า มีความถือตัวว่าได้บรรลุ มีกิริยาที่ถือตัว มีสภาพที่ถือตัว มีการยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง ความยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง ลักษณะเช่นว่านี้ เรียกว่า ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้บรรลุธรรมวิเศษจริงๆ จะต้องมีลักษณะอาการที่ตรงกันข้าม ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย เพราะว่าตัวตนก็ไม่มี รู้อยู่แล้วว่าไม่มี มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปทุกๆ ขณะ
≠สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้
≠ในวันหนึ่งๆ ขณะใดที่มีความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดทั้งสิ้น จะเป็นในลักษณะที่เป็นความเดื
≠โลกร่มเย็นเป็นสุข ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก
≠คนยุคนี้ ห่างไกลจากการฟังพระธรรม
≠เกิดมาแล้วต้องตาย แต่ก่อนตายทำอะไร ทำดีหรือทำชั่ว?
≠ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม
≠อกุศลจะทำให้คิดดี ไม่ได้.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๕
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ด้วยครับ
กราบอนุโมทนาสาธุในคุณความดีทุกประการที่ทุกท่านกระทำแล้วด้วยดีค่ะ