ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๗
๐ บางคนเกิดมามีความสะดวกสบาย มีความสุขสบายมาก มีฐานะ มีทรัพย์สมบัติ แต่ว่าเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่สว่างมา แต่ว่ามืดไป เพราะเหตุว่าไม่ได้ขัดเกลากิเลส ไม่ว่าจะได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ก็เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจที่เป็นอกุศล
๐ สมัยนี้รู้สึกว่าจะเป็นสมัยนิยมของการปฏิบัติธรรม เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีการชักชวนให้ปฏิบัติธรรม แต่การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย แล้วก็จะปฏิบัติธรรมได้
๐ ในพระไตรปิฎกมีทั้งสัมมามรรค หนทางที่ถูก และมิจฉามรรค หนทางที่ผิด มีทั้งสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ถูก และมิจฉาสมาธิ คือสมาธิที่ผิด เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งปฏิบัติโดยไม่รู้ เพราะเหตุว่าถ้าขณะนั้นไม่มีปัญญาต้องเป็นมิจฉาสมาธิ และต้องเป็นมิจฉามรรคด้วย
๐ แม้ในขณะนั้นไม่มีสิ่งที่จะบูชา การปฏิบัติบูชาก็ย่อมกระทำได้ ขณะใดที่จิตเป็นกุศล เคยเป็นอกุศลวิตก และเมื่อได้ฟังพระธรรมก็น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ขณะนั้นก็เป็นการบูชาที่พระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์มากกว่าที่จะให้บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน หรือเครื่องหอมต่างๆ เพราะเหตุว่าพระองค์เป็นผู้ที่ทรงดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีความใยดี เยื่อใยต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
๐ การขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าจะต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียด โดยถูกต้อง ถ้าใครศึกษาพระธรรมโดยไม่รอบคอบ หรือมีการเข้าใจผิดในพระธรรม การขัดเกลากิเลสก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้
๐ ข้อความในสัจจวิภังคนิทเทส อุปมาความโกรธและกิเลส และทุกข์ทั้งหลายเหมือนต้นไม้มีพิษ ไม่ว่าจะทรงอุปมาอย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนพิจารณาตนเองว่า พร้อมที่จะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ และกุศลวิตกจะเกิดได้หรือยัง ท่านที่เห็นว่า ความโกรธ กิเลส และทุกข์ทั้งหลายอุปมาเหมือนต้นไม้มีพิษ คิดจะเพิ่มอาหารให้ต้นไม้มีพิษให้ฝังรากลึกลงไปอีก และให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้น จะเก็บบำรุงรักษาต้นไม้มีพิษนั้นไว้ หรือจะตัดโค่นต้นไม้มีพิษนั้น
๐ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลจริงๆ ว่า ถ้าวันนี้ยังไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย วันต่อๆ ไป อกุศลก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น
๐ ถ้ามีเมตตาต่อบุคคลนั้น จะโกรธบุคคลนั้นไม่ได้เลย
๐ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง แล้วฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ เพราะฉะนั้นฉันทเจตสิกเกิดกับโลภเจตสิกได้ ฉันทเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ แต่ว่าโลภเจตสิกเป็นอกุศล เกิดกับกุศลไม่ได้เลย เพราะว่าบางท่านมีฉันทะในการให้ทาน เป็นกุศลหรือเปล่า? ในขณะนั้นเป็นฉันทะ มีความพอใจในการให้ บางท่านมีฉันทะในอกุศล คือ ชอบมีโลภะเยอะๆ ชอบอยากจะมี นั่นคือฉันทะ รู้ว่าเป็นโลภะ รู้ว่าเป็นอกุศล แต่ก็ยังมีฉันทะที่พอใจที่จะกระทำอย่างนั้น
๐ การฟังเป็นความดี เพราะเหตุว่าเมื่อฟังแล้ว ประโยชน์คือเริ่มเข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน ยิ่งฟังมากก็ยิ่งเข้าใจได้ถูกต้องขึ้น ละเอียดขึ้น
๐ มีใครโกรธบุคคลที่ชี้โทษบ้างไหม? หรือว่าโทษของเราก็ต้องเราเห็น ไม่ใช่ให้คนอื่นบอก ความสำคัญตนมีมากมายหลายลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะพิจารณาว่า มีจิตใคร่ที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลีหรือยัง ถ้าระลึกถึงผ้าเช็ดธุลี คือ ไม่หวั่นไหวไม่ว่าจะได้รับคำชมหรือคำติ หรือการกระทำทางกายวาจาที่ควรไม่ควรจากบุคคลใดก็ตาม ก็เป็นผู้ที่สามารถจะไม่หวั่นไหวได้ ก็จะถือผู้ที่ชี้โทษให้ว่า เป็นผู้มีคุณ
๐ ทุกคนกำลังมีร่างกาย ซึ่งจะทำประโยชน์ได้ แต่ว่าถ้ายังไม่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ กิจที่จะพึงยังประโยชน์ให้สำเร็จด้วยร่างกายนี้ ยังไม่สำเร็จ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านเห็นว่า การที่จะจากโลกนี้ไปจะทอดทิ้งร่างกายหรือสรีระซึ่งเป็นภาระ โดยการที่ท่านได้กระทำกิจให้สำเร็จด้วยกายนี้แล้ว เพราะฉะนั้นท่านก็ทอดทิ้งไปโดยการสำเร็จกิจที่จะพึงใช้ร่างกายนี้
๐ ยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีทุกข์ซึ่งเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
๐ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อใดๆ เรียกเลยก็ตาม เช่น เห็น ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องบอกว่านี่คือเห็น แต่ก็กำลังเห็นในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ขณะที่ได้ยินเสียง ไม่ต้องเรียกอะไรทั้งหมด ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนั้น โดยไม่ต้องใช้ชื่อใดๆ
๐ ที่ต้องการหมดกิเลสจริงๆ เพราะว่าเห็นโทษเห็นภัยของโลภะ ของโทสะ ของโมหะ ย่อมจะกระทำดีโดยไม่ได้หวังผล แม้ว่ากรรมดีนั้นถึงอย่างไรก็ต้องให้ผล แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะความหวังผล ซึ่งก็จะดีกว่า เพราะเหตุว่าไกลจากบ่วงของกิเลส
๐ จุติจิต คือ จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ที่ชื่อว่า “จุติ” เพราะเหตุว่าทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ หมายความถึงสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง ก่อนที่จุติจิตจะเกิด ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าเลย เหมือนกับเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่า ขณะต่อไปอะไรจะเกิด
๐ เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของการนั่ง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ปัญญาก็เกิดได้ ปัญญาไม่ได้แคบหรือว่าไม่ใช่ว่าอ่อนจนกระทั่งเฉพาะตอนนั่งถึงจะเกิดปัญญาได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แล้ว ทุกอิริยาบถหรือทุกขณะก็เกิดได้
๐ ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย
๐ ในขณะที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นก็สะสมอกุศลแล้ว
๐ มีของที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ไม่ให้ เป็นเพราะสติไม่เกิด
๐ จะพ้นภัยได้ ก็ด้วยพระธรรม
๐ ฟังไว้ ฟังไว้ ตามโอกาสที่ได้ฟัง (พระธรรม)
๐ อวิชชา (ความไม่รู้) ไม่ทำให้ทำดี
๐ ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) ไม่ทำให้ทำชั่ว
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๖
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากรและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน