ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๙
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๙
≠ข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก ก็เป็นเรื่องของกุศล อกุศล และเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของบุคคลในครั้งนั้น ซึ่งก็ไม่ต่างกับบุคคลในครั้งนี้ แม้แต่การที่จะได้ฟังพระธรรมส่วนละเอียด ในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นพระอภิธรรม และการที่จะต้องได้ฟังพระสูตรต่างๆ ประกอบกันด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางที่จะเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
≠ถ้าคิดย้อนไปเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี จริงๆ แล้วก็ไม่นาน ถ้าจะเกิดในภพภูมิบางภูมิก็อาจจะเพียงชาติเดียวก็มาเกิดในโลกนี้ก็ได้ หรือถ้าจะเกิดเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือเป็นมนุษย์ก็นับไป อายุไม่เกิน ๑๐๐ ปี ก็อาจจะ ๒๐๐ กว่าชาติ บางชาติก็อายุสั้นอายุน้อย แต่ก็ไม่ไกลนักถ้าเทียบกับ ๑ กัป จะเห็นได้ว่าระยะเวลาเพียง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านไป ถ้ามีผู้ที่เคยฟังพระธรรมแม้ว่าในครั้งนั้นยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาไว้มาก แต่ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้มีความสนใจที่จะไม่เข้าใจผิดที่จะพิจารณาพระธรรมโดยถูกต้อง และก็สะสมอบรมต่อไป
≠ถ้าจะเกิดการรังเกียจหรือหิริ (ความละอายต่ออกุศล) จริงๆ ต้องเป็นความรังเกียจหรือหิริในอกุศลของตนเอง ไม่ใช่รังเกียจอกุศลของคนอื่น เพราะบางคนก็เห็นกายวาจาของคนอื่นที่ไม่ดีงาม ที่น่ารังเกียจ แต่ว่าขณะใดที่คิดรังเกียจอกุศลของคนอื่น ที่จะไม่เกื้อกูล ไม่เมตตา ไม่สงเคราะห์ ไม่กรุณา ขณะนั้นก็ลองพิจารณาดูว่า การรังเกียจอกุศลของคนอื่นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ดีหรือไม่ดี?
≠ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ผลของการฟังพระธรรมในครั้งหนึ่งๆ ยังไม่ต้องคิดถึงสติปัฏฐาน (ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) ที่จะเกิดอย่างมากมาย และปัญญาจะรู้แจ้งชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่ว่า แต่ละท่านจะพิจารณาเห็นโทษของอกุศล แล้วก็มีความตั้งใจมั่นที่จะเจริญกุศลขึ้น แล้วก็ละคลายอกุศลลง
≠ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย จะมีสุขมีทุกข์ไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีตาเกิดขึ้น ก็มีสุขทุกข์ที่เกิดเพราะตาเห็น เมื่อมีหู ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการได้ยิน เมื่อมีจมูก ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการได้กลิ่น เมื่อมีลิ้น ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการลิ้มรส เมื่อมีกาย ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการกระทบสัมผัส เมื่อมีใจ ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการคิดนึก
≠พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เจริญกุศลทุกประการ จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
≠การฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และที่ชื่อว่า อภิธรรม ก็คือ เป็นธรรมส่วนละเอียด ที่จะทำให้เห็นจริงว่า สภาพธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าก่อนที่จะฟังพระธรรม ก็ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ที่กำลังเห็น ก็เป็นเราเห็น ที่กำลังได้ยิน ก็เป็นเราได้ยิน ที่กำลังคิดนึก ก็เป็นเราคิดนึก ที่กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ ก็เป็นเรา นี่เป็นความเห็นผิดจึงศึกษาพระธรรมส่วนละเอียดที่เป็นพระอภิธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจได้จริงๆ ว่า ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งเป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
≠วันหนึ่งๆ คนที่มีลูกศร (คือกิเลส) ปักอยู่ในใจ ทำอะไร พล่านไปทางโน้น ทางนี้ ทางนั้นตามกำลังของลูกศร เห็นโทษเห็นภัยหรือเปล่าว่า จะสงบได้ต่อเมื่อไม่มีลูกศร แต่ไม่สามารถเอาลูกศรออกเองได้เลย เพราะมีสะสมอยู่ในจิตมานานมาก ด้วยเหตุนี้ถ้านึกถึงภาพ ซึ่งเป็นภาพ ทุกคนกำลังพล่านไปทุกวัน ทุกนาที แล้วแต่ว่าจะไปทางไหน เพราะเหตุว่ายังคงมีลูกศร คือ อกุศลอยู่ในจิตใจ พระธรรมที่ทรงแสดง แสดงให้เห็นความจริง ซึ่งถ้าไม่ฟังจะไม่รู้เลยว่า ขณะนี้ไม่รู้แค่ไหน แล้วติดข้องมากมายแค่ไหน จึงมีความขุ่นใจเพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ก็เป็นชีวิตแต่ละวันตามความเป็นจริง
≠มิตรแท้คือผู้ที่หวังดี พร้อมทำประโยชน์เกื้อกูลทุกสถานทั้งต่อหน้าและลับหลัง และทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ นั่นคือมิตรผู้ที่หวังดี ในสังสารวัฏฏ์ก็คงจะมีทั้งมิตรและศัตรูแน่นอน แม้ในปัจจุบันชาตินี้หรือชาติต่อๆ ไป ก็จะมีทั้งคนที่หวังดีและหวังร้าย ถ้าเป็นศัตรูก็ตรงกันข้ามทุกประการ ทั้งกายวาจาก็เป็นไปในทางทำลายและทำร้าย นั่นคือศัตรู
≠พระธรรมนำไปสู่การละอกุศล การเจริญกุศลและดับอกุศลตามลำดับ อย่างพระโสดาบันก็ไม่เห็นผิดในสภาพธรรมะที่ปรากฏ แล้วค่อยๆ ละอกุศล ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเบาบางลง จนมีปัญญาถึงขั้นพระอนาคามี ไม่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังยินดีในความเป็น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไร ก็รู้ว่าไม่มีความติดข้องใดๆ เหลืออยู่เลย
≠แท้ที่จริงแล้วไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ภาษาใด เด็ก ผู้ใหญ่ ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ดีคือดี ชั่วคือชั่ว
≠ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป วันหนึ่งก็จะถึงเวลาที่ไม่รู้ว่า โลกนี้เป็นอย่างไรต่อไปอีกแล้ว เพราะว่าจากไปสู่โลกอื่น แต่ว่าจะจากไปสู่ที่ไหน ถ้าเป็นผลของกุศล บุญนั้น ชื่อว่า ตาณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก จะต้านทานไม่ให้ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ ซึ่งเป็นภูมิที่ไหลไปโดยง่าย
≠ความโกรธไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับใครเลย
≠พระธรรม ไพเราะเพราะว่าเป็นสัจจธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกกาลสมัยแม้ในขณะนี้ อย่างเรื่องการเห็นก็เป็นสิ่งที่มีจริง และก็เป็นอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้นคำที่ไพเราะ คือ คำจริง ถ้าเป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ แม้เมื่อฟังดูเหมือนจะไพเราะ แต่ว่าเมื่อไม่จริงแล้ว ก็ย่อมไม่ใช่ความไพเราะ
≠กิเลสทำหน้าที่ของกิเลส คือ โลภะเขาก็มีกิจหน้าที่ของเขา คือ ติดทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแล้วก็ชอบอยากได้ ได้ยินเสียงก็ติดข้อง มีความยึดมั่นไม่สละ นั่นคือกิจของโลภะ ถ้าโทสะก็เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ขณะใดที่เกิดขึ้นเขาก็แข็งกระด้าง ขุ่นเคือง ทำร้ายทำลายทุกอย่าง นั่นคือลักษณะของโทสะ
≠ปัญญามีกิจที่ตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเรารู้กิจของปัญญา ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เราก็จะอบรมเจริญปัญญา ให้ปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจของปัญญาได้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด แล้วจะอ้อนวอนขอให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ และอยู่ดีๆ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ต้องอบรมเจริญให้ค่อยๆ เกิดขึ้น
≠ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถรู้ถึงโทษของอกุศลได้เลย
≠ปัญญาไม่ทำให้ล่วงศีล
≠เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ควรที่จะทำอกุศลกรรม
≠คิดเรื่องอื่น แต่ไม่คิดว่าจะตาย
≠ควรที่ได้รู้ความจริง ก่อนที่จะละจากโลกนี้ไป
≠มีธรรมอยู่ตลอด และ ไม่รู้อยู่ตลอด จึงต้องฟังพระธรรมให้เข้าใจ
≠ความดีที่ประเสริฐสุด คือ ได้เข้าใจความจริง
≠มีชีวิตอยู่อย่างประมาท ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ตายแล้ว เพราะผู้ที่ตายแล้ว ไม่สามารถเจริญกุศลได้ ไม่สามารถฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาได้
≠ชีวิตสั้นแสนสั้น เมื่อรู้อย่างนี้จะเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นไหม?
≠สิ่งที่ควรกลัว ไม่ใช่ความตาย แต่สิ่งที่ควรกลัว คือ อกุศล ความชั่วทั้งหลาย.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๘
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากรและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน