ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๑๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๑๐
≠พระธรรม เพื่อการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม อย่าคิดว่าพระธรรมเป็นวิชาการหนึ่ง สำหรับให้เรียนให้จบ แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นธรรมข้อใดก็ตามที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล เมื่อได้พิจารณาแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ประพฤติปฏิบัติตาม ในทางที่เป็นการเจริญกุศลยิ่งขึ้น
≠ธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ เรื่องของการเห็น แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง
≠ถ้าไม่มีความเห็นผิด การปฏิบัติผิด พระผู้มีพระภาคก็จะไม่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงไว้มีประโยชน์เกื้อกูลให้ระลึกพิจารณาให้ถ่องแท้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นแล้วถ้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าใจผิด และก็ชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าใจผิด ปฏิบัติผิดตามๆ กันไป ผู้นั้นก็ย่อมหมดโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรมโดยถูกต้อง และย่อมจะไม่เป็นเหตุให้ได้เจริญมรรคมีองค์ ๘
≠ชีวิตของชาติหนึ่งซึ่งปัญญาจะเจริญขึ้น ที่จะอบรมเจริญความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมจะมากหรือจะน้อย เพราะว่าบางชีวิตก็สั้นมาก บางชีวิตก็อาจจะยืนยาวพอสมควร แต่ก็เป็นชีวิตที่ไร้สาระ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะต้องจากโลกนี้ไป หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ แล้วก็สะสมกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มากน้อยต่างๆ กันไป แต่ว่าสิ่งที่แน่นอนที่สุด ก็คือต้องจากเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ของโลกนี้โดยสิ้นเชิงในวันหนึ่งเพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะติดตัวไป ก็ควรจะเป็นการเจริญกุศล และการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้นโดยการฟัง การพิจารณา และการอบรมเจริญสติปัฏฐาน (ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง)
≠ผู้ไม่เชื่อถือคำ ถ้อยคำ เทศนา คำสอนของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่า ผู้ตกต่ำ
≠ถ้าท่านจะพิจารณาชีวิต จริงๆ ของท่าน ท่านก็จะทราบได้ว่ายังมีอกุศลอีกมากมายเหลือเกิน ในพระไตรปิฎก ทรงแสดงเรื่องของธรรมฝ่ายดีทุกขั้น ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงขั้นสูงที่สุด แต่ว่าการที่สาธุชน (คนดี) จะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติตามได้ครบถ้วนตลอดหมดทีเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ สะสมเจริญอบรม
≠เมื่อมีความเข้าใจถูก ก็สามารถรู้ว่า สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งที่ไม่ดี และธรรมที่ตรงกันข้าม คือ ความดีนั้น คืออะไร ถ้ามีปัญญาเหมือนแสงสว่างก็จะนำไปสู่ทางของกุศล ห่างไกลจากอกุศลซึ่งเคยมีมากมาย แต่ว่าห่างทันทีไม่ได้เลย ค่อยๆ เป็นไปตามความเข้าใจ
≠เมตตาคือความหวังดี ความเป็นมิตร ไม่เลือกด้วย ไม่ว่ากับใคร พร้อมที่จะเกื้อกูล ถ้ามีโอกาสที่จะช่วยเหลือหรือทำอะไรได้ นี่คือความเป็นมิตร
≠ถ้าจะพิจารณาให้เห็นสภาพธรรมในความไม่มีสาระ ชาติก่อนๆ จะเคยสุขสำราญ จะเคยมีปราสาทราชวัง จะมีผู้ที่ผูกโกรธ อาฆาต ริษยาต่างๆ ก็ผ่านไปแล้วหมด ไม่มีอะไรเหลือจริงๆ ชาติก่อนเป็นอย่างนั้นฉันใด ชาตินี้ก็เป็นอย่างนั้นแหละ และชาติต่อๆ ไปก็จะเป็นอย่างนี้
≠รูปที่น่าพอใจทางตา เสียงที่น่าพอใจทางหู สั้นๆ น้อยมาก ถ้าจะให้เกิดความยินดี ก็ให้เกิดความยินดีเพียงเล็กน้อย แต่โทษ คือ มีการผูกพันด้วยสิ่งที่ไม่มีประโยชน์มากมาย
≠ถ้าจะพิจารณาถึงสภาพของธรรม ซึ่งเป็นอวิชชา (ความไม่รู้) และปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) ก็จะเห็นได้ว่า ก่อนการตรัสรู้นั้น โลกมืด มืดด้วยอวิชชา เพราะแม้สภาพธรรมปรากฏ แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงประกาศพระอริยสัจจธรรม ความสว่างด้วยปัญญา คือ การที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็เกิดขึ้นในโลก แต่ก็เฉพาะในพุทธบริษัท
≠ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรม กาย วาจา ใจของผู้นั้นก็สงบจากกิเลสขึ้น ซึ่งผู้นั้นเองก็จะรู้สึกตัวว่า เป็นผู้ที่ฝึกแล้ว แต่ว่าฝึกโดยใคร? ฝึกโดยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง สำหรับฝึกตนจริงๆ
≠การฟังพระธรรมก็จะพิจารณาเข้าใจสภาพของตนเอง ซึ่งกำลังมีลูกศรเสียบ เป็นทุกข์มากเพราะอวิชชา เพราะอกุศลทั้งหลาย เช่น โลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลอื่นๆ ที่เกิดขึ้นขณะใด เป็นทุกข์ขณะนั้น เหมือนถูกเสียบด้วยลูกศร เพราะฉะนั้นการที่จะถอนลูกศร คือ ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ก็จะต้องอาศัยพระธรรมเป็นทางที่จะถอนลูกศร
≠ขณะนี้ทุกคนมีอันตรายรอบข้าง อาจจะคิดว่าเป็นอันตรายจากโจร จากผู้ร้าย จากคนที่ไม่หวังดี แต่บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถจะทำร้ายใจของท่านได้ อย่างมากที่สุดที่จะทำร้ายได้ ก็คือทำร้ายกาย ทำร้ายทรัพย์สมบัติ แต่สำหรับจิตใจนั้นต้องเป็นกิเลสของท่านเอง เพราะฉะนั้นทุกคนกำลังอยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัย แล้วแต่ว่าขณะใดกิเลสจะเกิดขึ้นทำร้ายเมื่อใด
≠เมื่อผู้ใดเห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ย่อมจะนำมาซึ่งการสนทนาธรรมทุกโอกาส
≠มีทางที่จะพิจารณาเพื่อที่จะให้เกิดขันติ (ความอดทน) และเป็นกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำความเสียหาย ความเดือดร้อนให้ การกระทำของเขานั้นๆ ก็ดับไปในที่นั้นๆ ทำไมเราถึงจะยังโกรธต่อ ในเมื่อการกระทำนั้นหมดแล้ว จบแล้ว ดับแล้ว ขณะนี้เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว แต่ยังอุตส่าห์ไปคิดถึงเรื่องเก่าที่เขาทำ เพื่อที่จะให้ตนเองโกรธต่อไปอีก
≠อกุศลเกิด ก็สะสมไป ปัญญาเกิดก็สะสมไป
≠ขณะที่เป็นประโยชน์ คือ ขณะที่เข้าใจธรรม
≠ทุกอย่างเป็นธรรม และ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน) ต้องตรง
≠เกิดมาเพื่อช่วยกันละคลายอกุศล นี้คือ ความเป็นมิตร เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๐๙
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านวิทยากรและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านค่ะ