ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๑๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๑๒
~ สะสมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็เป็นการสะสมแต่ฝ่ายอกุศล ทุกคนมีที่เก็บกรรมที่ปลอดภัยที่สุด ไม่มีใครสามารถจะหยิบขโมยหรือว่าเอาไปได้เลย แม้แต่แดดลมก็ไม่ถูกต้องสัมผัสกระทบที่เก็บกรรมเลย เพราะว่าเก็บไว้ที่จิตทุกขณะ กรรมใดๆ ที่กระทำแล้วในอดีตอนันตชาติ (นับไม่ถ้วน) หรือแม้ในชาตินี้ หรือแม้อกุศลในชาติหนึ่งที่เกิดแล้วก็ดับไป หรือกุศลขณะหนึ่งที่เกิดแล้วก็ดับไป สะสมสืบต่อทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างๆ กัน
~ ถ้าเราต้องการแบบไหน เราก็สามารถที่จะสะสมเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ได้ ถ้าต้องการที่จะเป็นคนใจดี มีเมตตา ให้อภัย ไม่ผูกโกรธ เสียสละ ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อคนอื่น เราก็เริ่มทำ คือสะสมเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ แล้วเรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้นเลย เพราะว่าเก็บไว้ในที่ๆ ปลอดภัยที่สุด คือ ที่จิตทุกขณะ ทรัพย์สมบัติอื่นมีทางที่จะสูญไปได้ทั้งนั้น แต่ว่ากรรม หรือกุศลอกุศลที่เก็บสะสมไว้ ไม่มีทางที่จะสูญไปเลย สะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ
~ การที่จะดับการยึดถือสภาพธรรม ต้องปัญญารู้ความจริงว่า นามธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา รูปธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะไม่ขวนขวายทำอย่างอื่น นอกจากจะพยายามศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นจริงๆ เดี๋ยวนี้ ได้ยินจริงๆ เดี๋ยวนี้ว่า ไม่ใช่เราอย่างไร
~ ไม่ว่าเราจะทำบุญแบบไหนก็ตาม กุศลจิตของใครเกิดก็เป็นบุญของคนนั้น อกุศลจิตของใครเกิด ก็ไม่ใช่บุญในขณะนั้น
~ ทันทีที่ตาย กรรมที่ได้กระทำไว้แล้วกรรมหนึ่ง จะทำให้จิตเกิดในภูมิใหม่พร้อมกับรูปใหม่ แล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมอะไร กรรมดีก็มี กรรมชั่วก็มี ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เกิดเป็นสัตว์รูปร่างต่างๆ ที่เรามองเห็น เป็นปลา เป็นนก เป็นเต่า เป็นสัตว์ที่น่ารัก ที่น่าชัง แล้วแต่ว่ากรรมวิจิตรมากที่จะทำให้เป็นไปต่างๆ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็อาจจะทำให้เกิดเป็นมนุษย์ อาจจะเกิดเป็นเทวดาก็ได้ แต่ว่าทันทีที่ตายต้องเกิด เราไม่สามารถจะรู้ได้ เหมือนกับชาตินี้เราก็ระลึกไม่ได้ว่า ชาติก่อนเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน ตายด้วยลักษณะอาการอย่างไร เหมือนกับชาตินี้ก็ไม่มีทางที่เราจะรู้ได้เลยว่า เราจะสิ้นชีวิตลงในลักษณะอาการอย่างไรเมื่อไร แต่ก็จะต้องมีจิตเกิดสืบต่อเป็นบุคคลใหม่ทันที
~ ขณะใดที่เราโกรธใครก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับโทสะ เวลาที่เราเห็นใครสักคนในที่นี่ เราเคยดูหมิ่น ดูถูก หรือว่ามีความสำคัญตนไหม ถ้าขณะนั้นกำลังดูถูกดูหมิ่น ขณะนั้นก็ไม่ใช่เมตตา
~ กิเลสอยู่ที่จิต ขณะนี้มีกิเลสประเภทไหน ถ้าคนนั้นยังไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ดับกิเลสไม่ได้ เหมือนอย่างจะดับไฟ ยังไม่รู้เลยว่าไฟอยู่ที่ไหน แต่จะดับไฟ แล้วจะดับไฟได้ไหม ฉันใด ขณะนี้จิตกำลังมีกิเลสประเภทไหนบ้าง ขณะไหนบ้าง ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่มีทางที่จะดับได้เลย
~ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องชีวิตของทุกคนแต่ละวัน และละเอียดจนกระทั่งถึงแต่ละขณะ ที่จะไม่ใช่ธรรมนั้น ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นก็แยกกันไม่ได้เลย เช่น ทุกคนมีความต้องการ ความอยากได้ ความสุข ทุกอย่างเป็นธรรมประเภทหนึ่ง ความต้องการทุกอย่างเป็นลักษณะของธรรมที่ทางภาษาบาลี เรียกว่า โลภะ เป็นสภาพความติดข้อง ความต้องการ และวันนี้ทุกคนก็คงจะมีความไม่พอใจบ้าง แม้ว่าจะเพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่นความขุ่นเคืองใจนิดเดียว ก็เป็นสภาพธรรมที่ภาษาบาลีใช้คำว่า โทสะ หรือว่าเวลาที่เห็นคนอื่น แล้วก็มีจิตใจเอื้อเฟื้อ มีความเป็นมิตร มีความหวังดีเกื้อกูล ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวท่าน บุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เมตตา
~ ในแต่ละวันจะไม่พ้นจากสภาพธรรมเลยสักขณะเดียว ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ถ้าศึกษาแล้วก็จะรู้แล้วว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสัจจธรรม เป็นของจริง เป็นสิ่งซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จึงอยู่ในความหมายของ “อนัตตา” เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนามีหลักสำคัญที่ไม่เหมือนกับศาสนาอื่น คือ อนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร)
~ สภาพธรรมทั้งหลาย เมื่อใช้คำว่า “ธรรม” แล้ว ก็ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงลักษณะแต่ละอย่างๆ ที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดทุกคำ จะสอดคล้องกันหมดทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพระวินัยปิฎก หรือพระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม และคำใดที่มีความหมายอย่างใด คำนั้นไม่เปลี่ยน
~ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้และทรงแสดง ก็เป็นการตรัสรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ตามลักษณะนั้นๆ โดยถูกต้อง ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อน และทรงแสดงลักษณะของธรรมนั้น เป็นคำสอน ที่เราใช้คำว่า ทรงแสดงพระธรรม หรือทรงแสดงธรรม เพราะว่าทรงแสดงเรื่องของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นธรรมกับชีวิตประจำวันนั้นไม่แยกกันเลย
~ ใครที่จะแยกธรรมออกจากชีวิตประจำวัน ก็เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจว่า ชีวิตประจำวันเป็นธรรม แล้วทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม
~ ผู้ที่เป็น พุทธศาสนิกชนที่ศึกษาพระธรรม และเป็นผู้ที่มีเหตุผล แล้วก็รู้ด้วยว่า ผลที่กล่าวนั้นมาจากเหตุอะไร เพราะทรงแสดงไว้โดยตลอด ไม่เป็นผู้ที่จะเชื่อใครได้ง่ายๆ เลย ถ้าจะมีใครบอกว่า บุคคลนี้เป็นพระอรหันต์ พุทธศาสนิกชนจะไม่เชื่อ เพียงแต่คำบอกเล่าว่า นี่เป็นพระอรหันต์ แต่จะต้องรู้ว่า ข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะทำให้แม้ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณก่อนที่จะเป็นพระโสดาบันนั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้อย่างไร และอบรมเจริญถูกต้องอย่างไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่ผู้ที่ตื่นเต้น หรือว่าเชื่อง่าย ไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น
~ สังคม ก็คือแต่ละบุคคลรวมกันเป็นสังคมหนึ่งสังคมใด เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่า “สังคม” ก็ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนเดียว สังคมหนึ่งก็จะต้องประกอบด้วยบุคคลหลายคน เพราะฉะนั้นการที่จะแก้สังคม ช่วยสังคม หรือทำให้สังคมดีขึ้น จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าแต่ละบุคคลไม่แก้ตัวเอง ซึ่งแต่ละบุคคลมารวมกันเป็นสังคม ถ้ามีอวิชชา คือ ความไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงโดยความถูกต้อง เช่นไม่เข้าใจเรื่องของกุศลและอกุศล และไม่เข้าใจเรื่องผลของกุศลและผลของอกุศล ไม่มีทางใดที่จะทำให้ตัวเองและสังคมดีขึ้น
~ เมื่อได้ชื่อว่า นับถือพุทธ ก็ควรที่จะได้รู้ว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรด้วย นี่เป็นเหตุที่ทำให้ศึกษาพระพุทธศาสนา และเมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วก็รู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นสัจจธรรม เป็นธรรมที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ นี่ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าคำสอนอื่น เพราะเหตุว่าคำสอนอื่นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ และคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นทำให้ผู้ศึกษารู้จักตัวเอง มีใครบ้างที่จะสอนให้คนอื่นรู้จักตัวเองโดยถ่องแท้ทุกขณะจิตได้ ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะคิดนึก จะเกิดความโลภ เกิดความโกรธ หรือจะเกิดความเมตตากรุณาต่างๆ ไม่มีผู้ใดสามารถจะแสดงความจริงที่แทงตลอดไปถึงการสะสมของจิตของแต่ละบุคคลได้ และยังชี้ให้เห็นโทษของอกุศล และให้เห็นประโยชน์ของกุศล ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นที่จะรู้ว่า กิเลสคืออะไร และมีมากน้อยแค่ไหน จนกระทั่งสามารถที่จะให้ปัญญา ความรู้ถูกที่เพิ่มขึ้นนั้น ละคลายกิเลสได้
~ ขณะใดที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจทางตา โลภะเกิดขึ้น ขณะนั้นศีรษะ คือ ปัญญา เป็นอันชื่อว่าตกไป ทุกขณะที่มีความยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในขณะนั้นปัญญาไม่ได้เกิด
~ พระพุทธประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญบารมี ก็เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมและเพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกให้มี ความเห็นถูก แม้ปัญญาหรือ ความเข้าใจ จะมีเพียงเล็กน้อยจากการ "เริ่มสะสม" ทีละเล็ก ทีละน้อย แต่ก็เป็นการสะสม ความเห็นถูก ในสัจจธรรมซึ่งจริง มั่นคง และ ตรง
~ ฟังพระธรรม จะกี่ปี ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก
~ ให้ทาน แล้ว เสียดาย ก็ควรที่จะได้เตือนตนเองว่า จะสละกิเลสมิใช่หรือ
ในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่ากับการได้เข้าใจความจริง
~ ความเข้าใจพระธรรม ทำให้พ้นจากอันตรายที่ใหญ่หลวงที่สุด คือ พ้นจากอันตรายคือกิเลสทั้งหลายทั้งปวง
~ มั่นคงในความถูกต้อง ตั้งใจศึกษาพระธรรม ขัดเกลากิเลส และช่วยให้ผู้อื่นได้เป็นคนดีด้วย เพราะการเป็นคนดี ยาก.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม...ครั้งที่ ๒๑๑
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...