กินเจได้บุญไหม ?

 
chatchai.k
วันที่  16 ต.ค. 2558
หมายเลข  27103
อ่าน  2,657

ในกระทู้ก่อน ได้เรียนถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่อง ถือศีล กินเจ? ไปแล้วครับ อีกประเด็นหนึ่งที่มักจะมีการกล่าวถึงในเรื่องของการกินเจ หรือ การรับประทานอาหารมังสวิรัติ ว่า กินเจแล้วได้บุญมาก อยากเรียนถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ต.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญอยู่ที่จิต ขณะใด เป็นไปในทาน (การให้) ศีล (งดเว้นบาปทางกาย วาจา) สมถและวิปัสสนาเป็น บุญ บุญไม่ได้อยู่ที่อาหาร อยู่ที่สภาพจิตนั้นต่างหากครับ ว่าเป็นอย่างไร ขณะที่หวังจะได้บุญ เป็นบุญไหม? ทานเนื้อสัตว์ แต่ไม่เบียดเบียนสัตว์ ขณะที่งดเว้นไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นกุศลเป็นบุญ ขณะที่ทานมังสวิรัติและชอบ ติดในรส เป็นโลภะ เป็นความติดข้องไม่ใช่บุญ ขณะที่เป็นบุญ คือไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส แต่มีสภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ความไม่ติดข้อง เป็นต้น บุญจึงอยู่ที่จิตเป็นสำคัญครับ

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก การละเว้นยากปาณาติบาต ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่พ้นจากจิตและเจตสิก ซึ่งจะต้องเป็นจิตที่ดี และมีวิรตีเจตสิกที่งดเว้นจากบาปในขณะนั้นด้วย ดังนั้น ขณะที่งดเว้นจากการฆ่า คือ ขณะจะต้องมีเจตนางดเว้นจากบาป เช่น ขณะที่งดเว้นเฉพาะหน้า งดเว้นจากการตบยุง อย่างนี้มีเจตนางดเว้นจากบาป และ ขณะที่สมาทานศีลด้วยเจตนาจะงดเว้นจากบาป ขณะนั้น ก็เป็นการมีศีลในขณะจิตนั้น

แต่การทานเจ ขณะนั้นไม่ได้มีวิรตีเจตสิกที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์เฉพาะหน้า จึงไม่ได้เกิดกุศลขั้นศีล แต่เป็นความเข้าใจผิดที่คิดจะได้บุญเพราะไม่ทานเนื้อสัตว์ ครับ

ส่วนมหาทาน หมายถึง การรักษาศีลห้า แต่ การไม่ทานเนื้อสัตว์ไม่ได้มีเจตนารักษาศีลห้า จึงไม่ใช่มหาทาน ครับอย่างไรก็ดี เราควรพิจารณาเรื่องการทานเจ ทานเนื้อสัตว์ให้ถูกต้องว่าคืออย่างไร

เรามาเข้าใจก่อนครับว่า กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ องค์ของปาณาติบาตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ถามว่าขณะที่ทานเนื้อ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่าหรือเปล่าครับ ไม่มีเจตนาฆ่าในขณะนั้น แต่มีเจตนา ที่จะบริโภค ถามต่อว่า คนที่ทานมังสวิรัติกับคนที่ทานเนื้อ จิตขณะนั้นต่างกันไหม ถ้าเป็นปุถุชน จิตขณะนั้น มีความต้องการ (โลภะ) เหมือนกันไหม ก็เจตนาที่จะทานเหมือนกันโลภะเหมือนกันครับ พระอรหันต์ไม่มีกิเลส ทานเนื้อ กับปุถุชนทานมังสวิรัติจิตของคนทั้งสองที่ทาน ต่างกันไหม พระอรหันต์ติดในรสไหม พระอรหันต์มีเจตนาฆ่าเนื้อตอนนั้นไหม ปุถุชนทานมังสวิรัติ ติดในรสไหม ถ้าติดในรส (โลภะ) เป็นบุญหรือบาป ถ้าเป็นโลภะ

ดังนั้นอาหารจะทำอะไรได้ ถ้าจิตมากไปด้วยกิเลส สัตว์จะบริสุทธิ์ได้มิใช่เพราะอาหาร แต่เพราะปัญญาที่เกิดจากการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอยกข้อความในพระไตรปิฎก ว่าบุญ บาป อยู่ที่เจตนา และเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่?

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

เรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ [อามคันธสูตรที่ ๒]

กรรมที่เป็นบุญ บาป อยู่ที่เจตนา

การบริโภคเนื้อสัตว์

ขอเสริมอีกประเด็นหนึ่งนะครับ เพราะอาจจะมีคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ ในแนวคิดที่ทานเจคือ ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่ว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้บริโภค ลดการบริโภคลงเสียบ้างก็คงจะลดการฆ่าลงไปได้

แต่หากทานเนื้อสัตว์กัน สัตว์ก็ถูกฆ่ามากขึ้น? การที่สัตว์ถูกฆ่า ก็ต้องคิดแล้วหละว่าเกิดจากอะไร ในทางพระพุทธศาสนาและความเป็นจริงนั้น การที่ถูกฆ่าก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้เคยทำไว้ ดังนั้น สัตว์นั้น จึงมีกรรมที่ต้องถูกฆ่า จะบริโภคน้อยลงหรือมากขึ้น สัตว์ก็ต้องถูกฆ่า เพราะอกุศลกรรมให้ผล มนุษย์ทำไมถึงถูกฆ่าได้ทุกวัน ก็ไม่ได้บริโภคเนื้อมนุษย์ เป็นอาหารของคนส่วนใหญ่ ทำไมยังถูกฆ่าทุกวัน เพราะคนนั้นที่ถูกฆ่า อกุศลกรรมให้ผลเพราะเคยทำอกุศลไว้ ดังนั้นการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้สัตว์ถูกฆ่าน้อยลง แต่กรรมไม่ดีต่างหาก ที่ทำให้สัตว์ถูกฆ่าครับ และถ้าคิดละเอียดขึ้น ทำไมถึงทำกรรมไม่ดี อันเป็นเหตุให้ถูกฆ่า ก็เพราะกิเลสที่มีนั่นเอง ดังนั้นพระธรรมเท่านั้น ที่จะช่วยให้มีกิเลสน้อยลงจนไม่มีอีกและด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงแสดงพระธรรม เพื่อการพ้นทุกข์คือ ไม่ให้เกิดอีกต่อไป เมื่อคนนั้นไม่เกิด ใครจะฆ่าคนนั้นได้อีกครับ

กรรมจึงขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ อาหารไม่สามารถทำให้สัตว์บริสุทธิ์ หรือ เศร้าหมองได้ กิเลสทำให้สัตว์ไม่บริสุทธิ์เศร้าหมอง ปัญญาทำให้สัตว์บริสุทธิ์ไม่เศร้าหมองครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 ต.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องตั้งต้นแต่คำแรกคือคำว่า บุญ? บุญเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี คือ กุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปในทาน ศีล เป็นต้น ขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป หรือ แม้กระทั่งในขณะที่หลับสนิท ขณะนั้น บุญไม่เกิด กุศลไม่เกิด แต่เมื่อใดที่สติเกิด ระลึกได้เป็นไปในกุศลประการต่างๆ กล่าวคือ ระลึกเป็นไปใน ทาน ศีล ความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญา เมื่อนั้นบุญย่อมเกิดขึ้น
ที่ควรพิจารณา ความเป็นไปของบุญ มีมาก ที่เรียกว่า บุญญกิริยาวัตถุ ได้แก่
๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน
๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมให้เกิดปัญญา วิปัสสนาภาวนา ๑
๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว
๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ
๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศล ให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นคนพาล ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนา ในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น
๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติ มิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตาม ซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผล ในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น
๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นบุญ
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรง ตามสภาพธรรม และเหตุผล ของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็น อกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตาม สภาพธรรม จริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม
บุญไม่ได้อยู่ที่อาหารที่บริโภค แต่อยู่ที่สภาพจิต กุศลจิตเกิดขณะใด บุญเกิดแล้ว เป็นบุญแล้วในขณะนั้น ในขณะนั้นอกุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้, และจะเห็นได้ว่าพระอรหันต์ท่านดับกิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิตได้หมดแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง แม้พระอรหันต์ท่านยังฉันเนื้อตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้
เพราะฉะนั้นแล้ว ความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ป้องกันไม่ให้ตกไปในฝักฝ่ายของความเห็นผิด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Wisaka
วันที่ 16 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ทิศเบื้องขวา
วันที่ 16 ต.ค. 2558

ขออนุโมทนายินดีในส่วนบุญ สาธุๆ ๆ ๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ชัยวัฒน์
วันที่ 17 ต.ค. 2558

ดีแล้ว ถูกต้อง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 19 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิตยา
วันที่ 21 ต.ค. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิพรรณี
วันที่ 25 ต.ค. 2558

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 21 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
phol
วันที่ 30 ก.ย. 2559

ขอบคุณท่านอาจารย์ที่ให้ความชัดเจนในการกินเจครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Jarunee.A
วันที่ 10 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ