ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๐
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๐
~ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย เพียงแต่ว่าเข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ว่าจะกำลังเห็นในขณะนี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเห็น คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะที่ได้ยินเกิดขึ้น ก็รู้ตามความเป็นจริงตามปกติว่า สภาพที่กำลังได้ยินในขณะนี้ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้เสียง อาศัยเจตสิกต่างๆ เป็นธาตุต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมกันทำกิจแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง นี่จึงจะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
~ ทุกคนก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา และต้องอาศัยวิริยะ (ความเพียร) จริงๆ ในการที่จะค่อยๆ พิจารณาสภาพธรรม และฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกท่านก็คงจะทดสอบวิริยะของท่านได้ เพราะเหตุว่าถ้าปราศจากวิริยะแล้ว ปัญญาก็เจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิริยะจึงเป็นบารมีซึ่งขาดไม่ได้เลยในการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือแม้แต่ในการที่จะเข้าใจธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะสังเกตจากญาติสนิทมิตรสหายแต่ละท่าน ซึ่งจะรู้ได้ว่า มีวิริยะในทางกุศลมากหรือน้อย
~ เรื่องของกิเลสไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ใครๆ คิดว่า นั่งสงบๆ หรือไม่รู้อะไรเลย ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วก็ดับกิเลสได้ แต่เป็นเรื่องความละเอียด เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องของสติที่จะระลึกได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ตาม
~ การฟังพระธรรม คือ ประโยชน์ที่ได้เข้าใจพระธรรมและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ไม่จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบใครกล่าวได้มากกว่ากัน ใครกล่าวได้ดีกว่ากัน หรือใครกล่าวได้นานกว่ากัน
~ ความสงบที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นความสงบที่เกิดจาก สงบจากกิเลส สงบจากอวิชชาที่ไม่รู้ สงบจากความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ถ้าขณะใดที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ขณะนั้นสงบ
~ มีชีวิตตามปกติธรรมดา แต่อาศัยการฟัง เพื่อจะให้น้อมระลึกถึงสภาพธรรมะนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง
~ ความสงสัยใดๆ ทั้งหมด ไม่มีวันหมดสิ้นได้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่จะหมดความสงสัยในลักษณะของนามใดรูปใด ในเหตุในผลของนามนั้นรูปนั้น ก็ต้องเพราะรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้
~ ไม่ควรเลยที่จะปล่อยให้เป็นอกุศลเพิ่มขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะสิ้นชีวิตไป ลองคิดถึงอกุศลในวันหนึ่งซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ได้ส่วนกับกุศลเลย แล้วจะเป็นอย่างไร?
~ ถ้าไม่เริ่มเป็นผู้ว่าง่าย ขัดเกลาเสียตั้งแต่ในขณะนี้ นับวันก็จะว่ายาก ดังนั้น ถ้าเริ่มอ่อนโยน เป็นผู้ที่ว่าง่าย น้อมที่จะปฏิบัติตามพระธรรม ตามพระธรรมวินัยโดยง่าย ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ง่ายต่อการที่จะเจริญกุศล
~ อกุศลธรรม นอกจากจะครอบงำให้หลงไปจากความจริงของสภาพนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ยังเป็นสภาพธรรมที่ทำให้ตั้งจิตไว้ในทางที่ไม่ชอบ แม้แต่การคิดหรือการกระทำ ก็จะเป็นไปในทางที่ไม่ถูก ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาพของอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นตั้งจิตไว้ในทางที่ไม่ชอบ และในขณะที่สติเกิด ซึ่งเป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับอกุศล ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล แต่เป็นกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นตั้งจิตไว้ชอบ
~ บางคนมีความหวังร้ายต่อผู้ที่ประพฤติไม่ชอบ เพราะฉะนั้น ก็ลองพิจารณาสภาพจิตของท่านเองว่า เคยมุ่งหวังที่จะให้คนที่ประพฤติไม่ชอบ ได้รับโทษ ได้รับภัยอันตรายต่างๆ อย่างร้ายแรงหรือไม่? ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น จิตของท่านเองทำร้ายตัวของท่านเอง เพราะบุคคลอื่นไม่ได้เป็นไปตามความคิดของท่าน แต่ย่อมเป็นไปตามกรรมของเขา เพราะฉะนั้น เขาย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นเอง โดยที่ท่านไม่จำเป็นที่จะต้องไปหวังร้าย หรือว่าคิดร้ายต่อบุคคลนั้นเลย
~ บุคคลที่เห็นว่า กิเลสดับยากเหลือเกิน ก็จะเป็นผู้ที่พากเพียรที่จะเจริญกุศลทุกประการ ทุกโอกาส พร้อมการเจริญสติปัฏฐานที่จะให้รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง แล้วก็จะมีความตั้งใจมั่นว่า มีกาย มีวาจา ไว้สำหรับทำอะไร? ไม่ควรที่จะมีไว้สำหรับเพื่อที่จะให้อกุศลเกิดมากขึ้น แต่ควรที่จะมีไว้สำหรับเจริญกุศล ทุกประการ
~ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมให้บุคคลใดขยันในการเจริญอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการขยัน ความเพียรความหมั่นจริงๆ แล้ว ต้องเป็นไปในเรื่องการขัดเกลากิเลส
~ โกรธง่ายหรือโกรธยาก? โกรธง่ายมากใช่ไหม? ทางตาเห็นนิดเดียวก็ไม่ถูกใจ โกรธแล้ว ทางหู พูดผิดหูไปนิดเดียว ก็โกรธแล้ว ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผู้ที่โกรธง่าย ซึ่งความโกรธนั้นไม่เป็นภัยแก่คนอื่น นอกจากตัวท่านผู้โกรธเอง
~ เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนี้ ขาดน้ำจิตน้ำใจที่จะระลึกถึงความทุกข์หรือว่าความเดือดร้อน หรือว่าความกระหายของคนอื่น จนกระทั่งเป็นนิสัย บางท่านไม่เคยคิดถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ของคนอื่นเลย ไม่ว่าเขากำลังหิวก็เฉยๆ ไม่รู้สึกเดือดร้อน ไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรจะสงเคราะห์ช่วยเหลือได้ แต่ว่าบางท่านสะสมกุศลที่เป็นเวยยาวัจจะ คือ การสงเคราะห์บุคคลอื่น แม้ในเรื่องเล็กน้อย กุศลจิตก็เกิดขึ้น ระลึกถึง คำนึงถึง ห่วงใยถึง ใคร่ที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นให้พ้นจากความเดือดร้อน ความหิวกระหาย ความทุกข์ยากต่างๆ
~ กุศลทั้งหมดนี้ ควรเจริญ เพื่อที่จะขัดเกลา ละคลายอกุศลธรรมให้เบาบาง มิฉะนั้นแล้ว ความรักตัว ความเห็นแก่ตัว ความเห็นผิดว่า มีตัวตนจะเพิ่มพูนขึ้น ทำให้ท่านนึกถึงแต่ตัวเองตลอดเวลา ไม่คำนึงถึงการที่จะสงเคราะห์บุคคลอื่น
~ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็มีอาจารย์ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังถึง ๖ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด แล้วก็มีลูกศิษย์มากด้วย แต่ว่าสำหรับผู้ที่พิจารณาไตร่ตรองในเหตุผล ย่อมสามารถที่จะรู้ได้ว่า ธรรมของบุคคลใดผิดคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเห็นผิดสะสมมา ถึงแม้จะได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่เพราะอกุศลธรรม คือความเห็นผิดที่สะสมมามาก ย่อมมีกำลังที่จะกระทำกิจที่จะเห็นผิด ไม่สามารถที่จะให้กุศลจิตเกิดขึ้นพิจารณาเข้าใจในเหตุผล ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ว่าผู้ที่สะสมความเห็นถูก ก็ย่อมรู้ว่า ครูทั้ง ๖ นั้นปราศจากเหตุผล เป็นผู้ที่แสดงธรรมผิด และเมื่อได้ฟังธรรม ก็สามารถจะเข้าใจได้ว่าธรรมที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร
~ ถ้าเข้าใจมั่นคงในเรื่องของกรรมจริงๆ ก็จะรู้เลยว่า ไม่คิดที่จะทำอกุศลกรรม แล้วก็เจริญกุศลกรรม (ความดี) ยิ่งขึ้น
~ ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ให้ทราบว่าขณะนั้นอกุศลธรรมครอบงำจิต แล้วทำอย่างไรถึงจะสลัด ถึงจะละ ถึงจะขัดเกลาอกุศลธรรมที่กำลังครอบงำอยู่ได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เจริญกุศลทุกประการ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โอกาสของทาน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องสงเคราะห์ช่วยเหลือ ช่วยเหลือทันที สงเคราะห์ทันที ขณะนั้นเป็นกุศลจิต มิฉะนั้นแล้ว ขณะนั้นอกุศลธรรมครอบงำได้ เพราะปัจจัยของอกุศลย่อมมีอยู่พร้อมเสมอ จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้
~ พระสัทธรรม คือ ธรรมที่จะนำไปสู่ความสงบจากกิเลส เพราะว่ามีกิเลสแล้วจะหมดกิเลสหรือสงบจากกิเลสได้อย่างไร ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถที่จะให้กิเลสที่มีอยู่หมดสิ้นไปได้เลย แต่เมื่อมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงทั้งหมดที่จะนำไปสู่การดับกิเลส เป็นพระสัทธรรม
~ กุศลเป็นสภาพของจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีมานะ ไม่มีทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
~ ในเรื่องการเจริญกุศลแล้วขาดวิริยะ (ความเพียร) ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจะต้องฝืนกระแสของอกุศล ฝืนความพอใจ ความสะดวกสบายทุกประการ เพื่อที่จะให้กุศลนั้นๆ สำเร็จ
~ อกุศล ไม่ทำให้เข้าใจความจริง.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๑๙
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
~ ถ้าเข้าใจมั่นคงในเรื่องของกรรมจริงๆ ก็จะรู้เลยว่า ไม่คิดที่จะทำอกุศลกรรม แล้วก็เจริญกุศลกรรม (ความดี) ยิ่งขึ้น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ