อนุปัสสนา ๗ และ มหาวิปัสนา ๑๘

 
sue
วันที่  28 ม.ค. 2550
หมายเลข  2726
อ่าน  12,218

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 91

ก็วิปัสสนาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ เป็นไปด้วยสามารถแห่ง การละวิปลาสทั้งหลาย มีนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้น ในธรรมทั้งหลาย เหล่านั้นเสียได้นั่นแล ชื่อว่า ปหานปริญญา.

บรรดาปริญญาทั้ง ๓ นั้น ตั้งต้นแต่สังขารปริจเฉทญาณ ญาณ ในการกำหนดสังขารธรรม จนถึงปัจจยปริคคหญาณ ญาณในการ กำหนดสังขารธรรมโดยความเป็นปัจจัย เป็นภูมิของญาตปริญญา. เพราะในระหว่างนี้ ความเป็นอธิบดีย่อมมีแก่พระโยคีบุคคลผู้แทงตลอด ลักษณะโดยเฉพาะๆ ของสภาวธรรมทั้งหลายได้

ตั้งแต่กลาปสัมมสนญาณ ญาณในการพิจารณาสังขารธรรมโดย กลาป จนถึงอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณในการเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่ง การเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรม เพราะในระหว่างนี้ ความเป็น อธิบดีย่อมมีแก่พระโยคีบุคคลผู้แทงตลอด สามัญลักษณะ ได้. ตั้งต้นแต่ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณในการเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความดับไป แห่งสังขารธรรมขึ้นไป เป็นภูมิแห่งปหานปริญญา เพราะจำเดิมแต่นั้นไป ความเป็นอธิบดีย่อมมี แก่ อนุปัสสนา ๗ อันจะให้สำเร็จการละวิปลาสมีนิจสัญญาวิปลาสเป็นต้น ได้อย่างนี้คือ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็ย่อมละนิจสัญญาวิปลาสได้

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 99

มหาวิปัสนา (คือ อนุปัสนา) ๑๘ เหล่าใดที่พึงถึงได้โดยอาการทั้งปวง ด้วยอำนาจปหานปริญญา ตั้งแต่ภังคานุปัสนาญาณ (ปัญญาคำนึงเห็นความดับ) ข้างหน้าไป ๑ เมื่อแทงตลอด (คือได้) ส่วนหนึ่งแห่งมหาวิปัสนา ๒ เหล่านั้น ใน (ชั้น) สสัมมสนญาณ (คือตีรณปริญญา) นี่แลก่อนก็ย่อมละปฏิปักขธรรม (มีนิจจสัญญาเป็นต้น) แห่งมหาวิปัสนานั้นได้ ปัญญามีอนิจจานุปัสนาเป็นต้น ชื่อว่ามหาวิปัสนา ๑๘ ในอนุปัสนาทั้งหลายไรเล่า (๑) เมื่อเจริญอนิจจานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความไม่เที่ยง) ย่อมละนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) ได้ (๒) เมื่อเจริญทุกขานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเป็นทุกข์) ย่อมละสุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) ได้ (๓) เมื่อเจริญอนัตตานุปัสนา (ปัญญา คำนึงเห็นเป็นอนัตตา)

ย่อมละอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ได้ (๔) เมื่อเจริญนิพพิทานุปัสนา (ปัญญาคำนึงถึงด้วยความเบื่อหน่าย) ย่อมละนันทิ (ความเพลิดเพลิน) ได้ (๕) เมื่อเจริญวิราคานุปัสนา (ปัญญาคำนึงด้วยความคลายกำหนัด) ย่อมละราคะได้ (๖) เมื่อเจริญนิโรธารุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นนิโรธ) ย่อมละสมุทัยได้ (๗) เมื่อเจริญปฏินิสสัคคานุปัสสนา (ปัญญาคำนึงด้วยความสลัดทิ้ง) ย่อมละอาทาน (ความถือไว้) ได้ (๘) เมื่อเจริญขยานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความสิ้นไป) ย่อมละฆนสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นก้อน คือเป็นร่างกาย) ได้ (๙) เมื่อเจริญวยานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความเสื่อมไป) ย่อมละอายูหน (ความพยายาม) ได้ (๑๐) เมื่อเจริญวิปริณามานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความปรวนแปร) ย่อมละธุวสัญญา (ความสำคัญว่ามั่งคง) ได้ (๑๑) เมื่อเจริญอนิมิตตานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความไม่มีนิมิต) ย่อมละนิมิต (คือ สิ่งที่ถือเอาเป็นเครื่องหมายในความเป็น กลุ่มเป็นก้อน) ได้ (๑๒) เมื่อเจริญอัปปณิหิตานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นเป็นสิ่งไม่น่าปรารถนา) ย่อมละปณิธิ (ความปรารถนา ด้วยอำนาจตัณหา) ได้ (๑๓) เมื่อเจริญสุญญตานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความว่างเปล่า) ย่อมละอภินิเวส (ความยือมั่นว่าเป็นตน) ได้ (๑๔) เมื่อเจริญอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา (ปัญญาเห็นแจ้งในธรรมอันเป็นอธิปัญญา) ย่อมละสาราทานาภินิเวส (ความยึดมั่นโดยถือเอาว่ามีสาระ) ได้ (๑๕) เมื่อเจริญยถาภูตญาณทัสนะ (ความรู้เห็นตามจริง) ย่อมละสัมโมหาภินิเวส (ความยึดมั่นด้วยอำนาจความหลงงมงาย) ได้ (๑๖) เมื่อเจริญอาทีนวานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นโทษ) ย่อมละอาลยาภินิเวส (ความยึดมั่นด้วยอำนาจความอาลัย) ได้ (๑๗) เมื่อเจริญปฏิสังขานุปัสนา (ปัญญาคำนึงด้วยพิจารณาหาทางพ้น) ย่อมละอัปปฏิสังขา (ความไม่พิจารณาหาทางพ้น) ได้ (๑๘) เมื่อเจริญวิวัฏฏานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นวิวัฏฏะ คือทางพ้นจากวัฏฏะ) ย่อมละสังโยคาภินิเวส (ความยึดมั่นด้วยอำนาจสังโยคะ) ได้

ถาม อันนี้ ทั้งสอง คือ (๑.) อนุปัสสนา ๗ และ (๒.) มหาวิปัสนา ๑๘ จะเป็น อนุปัสนาทั้งคู่ ส่วน วิปัสสนาญาณ จะเป็น ภังคญาณ เท่านั้นที่ลงชื่ออย่าง ชัดเจนว่าเป็นวิปัสนาญาณ ดูหลักฐานได้จาก สารบัญของปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๖๘ ซึ่งพอถึงอุทยัพพยญาณแล้ว ก็จะเป็นวิปัสนาญาณ และวิปัสนาญาณ ตัวอย่าง ดังกล่าว ก็คือ ภังคญาณค่ะมีความคิดอย่างไรบ้างไหมค่ะ ในความแตกต่างของคำ สองคำนี้ ที่ระบุอยู่ในที่ต่างๆ ของหนังสือปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๖๘ หรือ ไม่มีนัย สำคัญใดๆ เลยค่ะวันอาทิตย์ที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 29 ม.ค. 2550
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 31 ม.ค. 2550

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ