ความกระด้างแห่งจิต ๕ อย่าง

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  9 ธ.ค. 2558
หมายเลข  27290
อ่าน  2,467

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

[๒๙๖] ความกระด้างแห่งจิต ๕ อย่าง

๑ - ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย (ข้ออื่นยังมีอีก) ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใส ใน “พระศาสดา” ใน “พระธรรม” ใน “พระสงฆ์” ใน “สิกขา” ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในสิกขา ย่อมไม่น้อมไป เพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความกระด้างแห่งจิต ข้อที่หนึ่ง - ข้อที่สี่ ฯ

๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้โกรธขัดเคือง มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว มีจิตเป็นเสมือนตะปูในสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้โกรธขัดเคือง มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว มีจิตเสมือนตะปู ย่อมไม่น้อมไป เพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความกระด้างแห่งจิตข้อที่ห้า ฯ

อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร

เจโตขีลปญฺจกวณฺณนา

ข้อว่า เจโตขีลา ความว่า ภาวะที่จิตแข็งกระด้าง

ข้อว่า สตฺถริ กงฺขติ ความว่า ย่อมสงสัยในพระสรีระหรือในพระคุณของพระศาสดา บุคคลเมื่อสงสัยในพระสรีระ ย่อมสงสัยไปว่า ขึ้นชื่อว่า สรีระที่ประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ อันประเสริฐ ๓๒ ประการ มีอยู่ หรือไม่ หนอ

บุคคลผู้สงสัยในพระคุณ ย่อมสงสัยว่า สัพพัญญุตญาณที่สามารถจะรู้ อดีต อนาคตและปัจจุบัน มี หรือไม่หน

ข้อว่า อาตปฺปาย ความว่า เพื่อบำเพ็ญเพียร

ข้อว่า อนุโยคาย ความว่า โดยการประกอบเนืองๆ

ข้อว่า สาตจฺจาย ความว่า โดยกระทำติดต่อ

ข้อว่า ปธานาย ความว่า เพื่อการตั้งไว้

ข้อว่า อยํ ปฐโม เจโตขีโล นี้ความว่า ความที่จิตกระด้างข้อแรกนี้ ได้แก่ความสงสัยในพระศาสดา

ข้อว่า ธมฺเม ความว่า ในปริยัติธรรม และ ปฏิเวธธรรม

บุคคลผู้สงสัยในปริยัติธรรม ย่อมสงสัยว่า คนทั้งหลายพูดกันว่า พระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระพุทธพจน์นั้นมีอยู่หรือไม่หนอ

บุคคลผู้สงสัยในปฏิเวธธรรม ย่อมสงสัยว่า คนทั้งหลายพากันพูดว่า ผลของวิปัสสนา ชื่อว่ามรรค ผลของมรรคชื่อว่าผล การสละสังขารทั้งปวงเสียได้ชื่อว่านิพพาน นิพพานนั้นมีอยู่หรือไม่หนอ

ข้อว่า สงฺเฆ กงฺขติ ความว่า ย่อมสงสัยว่า ประชุมแห่งบุคคลผู้ปฏิบัติปฏิทาอย่างนี้ ด้วยอำนาจแห่ง

บทเป็นต้นว่า อุชุปฏิปนฺโน ดังนี้มี ๘ คือ พระผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ พระผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ ชื่อว่าพระสงฆ์ พระสงฆ์นั้นมีอยู่หรือไม่หนอ

บุคคลผู้สงสัยในสิกขา ย่อมสงสัยว่า คนทั้งหลายพูดว่า ชื่อว่าอธิสีลสิกขา ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา สิกขานั้นมีอยู่หรือไม่หนอ

ข้อว่า อยํ ปญฺจโม นี้ความว่า ภาวะที่จิตแข็ง ภาวะที่จิตเป็นดุจกองหยากเยื่อ ภาวะที่จิตเป็นดุจตอ นี้เป็นที่ ๕ ได้แก่ ความโกรธเคือง ในเรื่องสพรหมจารีทั้งหลาย

ขอเรียนถามอรรถบางส่วน ว่า หมายความว่า อย่างไรค่ะ ตะปู กองหยากเยื่อ ตอ

๑. มีจิตเป็นเสมือน “ตะปู” ในสพรหมจารีทั้งหลาย

๒. ภาวะที่จิตแข็ง ภาวะที่จิตเป็นดุจ “กองหยากเยื่อ” ภาวะที่จิตเป็นดุจ “ตอ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 ธ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระุภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และในส่วนของอกุศลธรรมทั้งหลาย นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมาก โดยนัยต่างๆ ตามความเป็นจริง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง เพื่อจะได้รู้ว่า ตนเองยังมากไปด้วยอกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี มากมายเพียงใด ซึ่งจะขัดเกลาละคลายให้เบาบางจนกระทั่งสามารถดับได้ตามลำดับขั้น ก็ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา

-จิตที่เป็นเหมือนตะปู ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิต ที่ประกอบด้วยโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจในผู้ที่ศึกษาพระธรรม ประพฤติประเสริฐร่วมกัน (พรหมจารี) หรือต่อใครๆ ก็ตาม ขณะนั้น เป็นอกุศล ถูกตรึง ถูกตอกไว้ ด้วยตะปู คือ อกุศล ไม่ทำให้เป็นไปในทางฝ่ายกุศล กุศลเกิดไม่ได้ในขณะนั้น ตรึงไว้ ตอกไว้ให้เป็นไปกับความไม่รู้ และทำให้อยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ และการกระทำที่มาจากความโกรธนั้น ไม่ว่าจะด้วยกาย หรือ ด้วยวาจา ก็ทิ่มแทงผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ด้วย ซึ่งจะต่างจากความเป็นมิตร เป็นเพื่อน ที่มีแต่ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน ไม่เป็นโทษใดๆ เลยทั้งกับตนเองและผู้อื่น

- ภาวะที่จิตแข็ง ภาวะที่จิตเป็นดุจ “กองหยากเยื่อ” ภาวะที่จิตเป็นดุจ “ตอ แสดงถึงความเป็นอกุศลจิต ที่แข็ง ไม่อ่อน ไม่เบา ไม่ควรแก่การงานของกุศล ขณะที่จิตเป็นอกุศลนั้น สกปรก เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส สะสมสิ่งที่น่ารังเกียจ ประดุจกองหยากเยื่อ นับวันมีแต่จะพอกพูนมากยิ่งขึ้น และขณะอกุศล เช่น โทสะ เกิดขึ้นนั้น ความเคารพต่อผู้อื่น ก็ไม่มี แสดงถึงความแข็งทื่อดุจตอ ที่ไม่มีความเคารพนอบน้อมต่อผู้อื่น ไม่มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับผู้อื่น ครับ

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

ถอนตะปูตรึงใจ


...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 12 ธ.ค. 2558

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 12 ธ.ค. 2558

กราบอนุโมทนา ขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 12 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 17 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 29 ธ.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 3 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 22 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 15 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ