มนุษย์ ผู้ที่มีใจสูงด้วยคุณธรรม

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  12 ธ.ค. 2558
หมายเลข  27298
อ่าน  10,472

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเรียนถามความละเอียดของ "มนุษย์" ว่ามีลักษณะ มีความหมาย อย่างไรบ้าง และนัยที่แปลว่า ผู้มีใจสูงนั้น แค่ไหน เพียงใด อย่างไร จึงจัดได้ว่า "ใจสูง" และ ถามถึง คำว่า "คน" ในลักษณะเดียวกันด้วยค่ะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ธ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มนุษย์ มีความหมายว่าอย่างไร มนุษย์ เป็นคำมาจากภาษาบาลีว่า มนุสฺส หมายถึง ผู้ที่มีใจสูง ใจสูงด้วยคุณธรรม สูงด้วยความดีประการต่างๆ สูงด้วยศีล ด้วยความเพียร ด้วยความประพฤติอันประเสริฐ ด้วยความมั่นคงที่จะเจริญ ซึ่งความดีประการต่างๆ และนอกจากนั้น มนุษย์ ยังหมายถึง ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และ มิใช่ประโยชน์ ด้วย เมื่อรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และ สิ่งมิใช่ประโยชน์แล้ว ก็น้อมประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วละเว้นในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ นี้คือความหมายของมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่แท้จริงด้วย

มนุษย์ หมายถึง ผู้ที่มีใจสูง ผู้ประเสริฐ ซึ่ง มนุษย์ แบ่งได้หลากหลายนัยดังนี้

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑[เล่มที่ 48] หน้า ๓๔

จริงอยู่ ผู้ใดเกิดเป็นมนุษย์ กระทำกรรมที่ไม่ควร มีฆ่าสัตว์เป็นต้น ก็สมควรรับโทษ เมื่อได้รับโทษมีการตัดมือเป็นต้น จากพระราชาเป็นต้น ในที่นั้นๆ ย่อมเสวยทุกข์เป็นอันมาก ผู้นี้ชื่อว่า มนุษย์นรก (๑)

อีกคนหนึ่ง เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่ม เพราะกรรมที่ตนทำไว้แต่ก่อน ต้องกระหาย หิวโหย มากไปด้วยทุกข์ เมื่อไม่ได้หลักแหล่ง ก็เร่ร่อนไป ผู้นี้ชื่อว่า มนุษย์เปรต (๒)

อีกคนหนึ่ง เกิดเป็นมนุษย์ อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ต้องทำงานหนักให้เขา หรือเป็นคนขาดมรรยาท ประพฤติแต่อนาจาร (ประพฤติไม่สมควร) ถูกเขาข่มขู่ กลัวตายก็ไปอาศัยป่ารก มากไปด้วยทุกข์ ต้องซอกซอนไป ไม่รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ได้แต่บรรเทาทุกข์ คือ ความหิวโหย ด้วยการนอนเป็นต้นเป็นเบื้องหน้าผู้นี้ ชื่อว่า มนุษย์ดิรัจฉาน (๓)

ส่วนผู้ใด รู้จักประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ของตน เชื่อผลแห่งกรรม มีหิริ (ละอายบาป) โอตตัปปะ (เกรงกลัวบาป) สมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวงมากไปด้วยความสลดใจ งดเว้นอกุศลกรรมบถ ประพฤติเอื้อเฟื้อในกุศลกรรมบถบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้งหลาย ผู้นี้ตั้งอยู่ในมนุษยธรรม ชื่อว่า มนุษย์โดยปรมัตถ (มนุษย์ที่แท้จริง) (๔)

จะเห็นนะครับว่า แบ่งเป็นลักษณะของมนุษย์ ประเภทต่างๆ ทั้ง มนุษย์ที่ทำกรรมไม่ดี แล้วได้รับโทษเหมือนอยู่ในนรก จึงเรียกว่า มนุษย์นรก

มนุษย์เปรต ที่เป็นมนุษย์ที่หิวโหย อันเป็นการอุปมา ตามลักษณะการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้น มนุษย์ดิรัจฉาน ที่มีการใช้ชีวิตดั่งเช่น สัตว์ดิรัจฉาน

มนุษย์ ที่แท้จริงที่เป็นมนุษย์ประเสริฐ คือ ผู้ที่เป็นมนุษย์ที่ตั้งอยู่ในมนุษยธรรม คือ ตั้งอยู่ในคุณความดีประการต่างๆ และงดเว้นอกุศลกรรมประการต่างๆ ชื่อว่าเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ เป็นมนุษย์โดยปรมัตถ ครับ

มนุษย์ ยังแบ่งเป็นอีกนัยหนึ่ง ที่เป็นมนุษย์ในแต่ละทวีปที่เกิดแตกต่างกันไป ดังนี้

มนุษย์มี ๔ จำพวกคือ

☆ มนุษย์ชาวชมพูทวีป

☆ มนุษย์ชาวอมรโคยาน

☆ มนุษย์ชาวอุตตรกุรุ

☆ มนุษย์ชาวปุพพวิเทหะ

สำหรับมนุษย์ในทวีปอื่นๆ ที่ไม่ใช่โลกนี้ ที่เป็นชมพูทวีป ไม่ได้มีโอกาสฟังธรรมอบรมปัญญา ดังเช่น ชมพูทวีป แต่ มนุษย์โลกอื่น ก็มีความสุขตามควรแก่ฐานะที่เกิด อย่างเช่น มนุษย์ อุตตรกุรุทวีป

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 130

อุตตรกุรุทวีป เป็นรมณียสถาน มีภูเขาหลวงชื่อ สิเนรุ แลดูงดงาม ตั้งอยู่ทิศใด พวกมนุษย์ซึ่งเกิดในอุตตรกุรุทวีปนั้น ไม่ยึดถือสิ่งใดว่า เป็นของตนไม่หวงแหนกัน. มนุษย์เหล่านั้นไม่ต้องหว่านพืช และไม่ต้องนำไถออกไถ หมู่มนุษย์บริโภคข้าวสาลีอันผลิตผลในที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม เป็นเมล็ดข้าวสารหุงในเตาอันปราศจากควัน แล้วบริโภคโภชนะแต่ที่นั้น.

ซึ่ง ในพระสูตรอื่นแสดงว่า ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่า ชาวอุตตรกุรุทวีป ตรงที่ สามารถอบรมปัญญา ในพระพุทธศาสนาได้ ครับ

[เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 790

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปและเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ

เป็นผู้กล้า ๑

เป็นผู้มีสติ ๑

เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันเยี่ยม ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีปประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์

อรรถกถาฐานสูตร

บทว่า อิธ พฺรหฺมจริยวาโส ความว่า แม้การอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์แปด (อริยมรรค มีองค์ ๘) ย่อมมีในที่นี้เท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในชมพูทวีป.

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

มนุสสภูมิ

ชมพูทวีป หมายถึง โลกมนุษย์ทั้งหมด

มนุษย์ทั้ง ๔ ทวีป

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 ธ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละคนเกิดเป็นมนุษย์ก็จริง แต่ว่าหลากหลายแตกต่างกันมาก ไม่มีใครเหมือนใคร ไม่มีใครซ้ำกับใครเลย แม้แต่ในขณะนี้ คนหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็คิดอย่างหนึ่ง เป็นความหลากหลายมาก มนุษย์นี้เองสามารถทำได้ทั้งสิ่งที่เลวร้ายที่สุด และ สามารถที่จะทำได้ทั้งสิ่งที่ดีที่สุด จากการเป็นผู้ที่เลวที่สุดจนถึงความเป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุด ถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ใครจะเป็นอย่างไร? เพราะเหตุว่า มนุษย์หลากหลายมาก และไม่มีใครสามารถจะไปบังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงให้คนนั้นๆ หรือว่าคนอื่นเป็นไปอย่างที่เราต้องการได้

การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม เท่านั้น แต่เพราะมีจิตที่หลากหลายต่างกันออกไป มีการกระทำที่แตกต่างกัน มีการได้รับผลของกรรมที่ต่างกัน มนุษย์จึงมีหลายประเภท ก็เพราะจิต นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าจิตดี เป็นกุศลจิต มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็เป็นมนุษย์ที่ดี แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดี มีการกระทำที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่ดี

ข้อสำคัญที่ทุกคนควรพิจารณา คือ เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยากแสนยาก ก็ควรที่จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง แสวงหาประโยชน์จากการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 12 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 13 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 13 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 17 ธ.ค. 2558

ตอนนี้เราก็เกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์ ชีวิตนี้แสนสั้น ไม่ควรประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะการฟังธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อละความเห็นผิด เพื่อขัดเกลากิเลส และสะสมปัญญาไว้ภพต่อๆ ไปค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 15 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
apichet
วันที่ 18 ก.ค. 2566

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ