ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๖
~ ไม่ควรที่หมกมุ่นเพลิดเพลินมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว จนกระทั่งไม่คิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสาระในชีวิต เพราะเหตุว่าถ้าจะให้รอไปจนถึงแก่เฒ่าเสียก่อน แล้วจึงจะศึกษาธรรมบ้างหรือปฏิบัติธรรมบ้าง เวลาที่ผ่านไปเหล่านี้ก็จะเป็นการเพิ่มพูนกิเลสให้ยิ่งขึ้น ทำให้การละคลายขัดเกลากิเลสยากขึ้น
~ ถ้าในขณะนี้ท่านกำลังเป็นผู้ที่ไม่มีโรค แล้วท่านอบรมเจริญปัญญา เตรียมพร้อมที่จะผจญกับโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดกับท่านก็ได้ เพราะเหตุว่าบางท่านเวลาที่มีโรคเกิดขึ้นก็คร่ำครวญรำพันเป็นทุกข์กระวนกระวาย ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ นามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน
~ “จะต้องเป็นผู้ที่จะถึงแก่ความตาย จะเร็วหรือช้าก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน” ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้บ้างเลย วันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปโดยการที่ท่านไม่ได้อบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าเรื่องของอกุศลจิตนี้มีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดอยู่เสมอ แต่เรื่องของกุศล นานๆ ก็จะมีโอกาสมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น
~ ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไป ท่านก็ย่อมจะอบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นความสงบของจิต อบรมเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
~ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะดับกิเลสที่จะไม่เห็นว่าอิทธิปาฏิหาริย์นั้นมีความสำคัญประการหนึ่งประการใดเลย เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะมาช่วยให้พ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายได้
~ มานะเป็นสภาพที่สำคัญตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าไม่เกิดปรากฏเลย คนนั้นจะยังรู้ได้ไหมว่า ยังมีกิเลส คือ มานะ? ก็ย่อมไม่รู้ เพราะฉะนั้น การที่มานะมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นให้สติระลึกรู้ในลักษณะสภาพของมานะที่เป็นอกุศลธรรม ย่อมให้ความจริงว่า บุคคลนั้นยังมีมานะอยู่ แล้วแต่ว่ามานะที่เกิดปรากฏในขณะนั้น จะเป็นมานะที่แรงกล้าเพียงใด หรือไม่ก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงที่สติสามารถจะระลึกรู้ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นเพียงสภาพอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น
~ ฟังธรรม พิจารณาธรรมให้เข้าใจในเหตุผล ย่อมเกิดศรัทธาในธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลยิ่งขึ้น และศรัทธาก็มีหลายขั้น ศรัทธาในขั้นของการฟังย่อมทำให้เกิด ศรัทธาของการประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าศรัทธาในขั้นการฟังไม่มี ก็จะไม่ประพฤติปฏิบัติตามด้วย
~ ภาวนาไม่ได้หมายความว่าไปท่องบ่น หรือว่าไปทำ ไปรอคอย ไปหวังที่จะรู้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นปรากฏ แต่ภาวนา หมายถึง อบรมการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด
~ ไม่ว่าสภาพธรรมเป็นอกุศลธรรมมากมายสักเพียงไร ทางตาพอใจในรูป ทางหูพอใจในเสียง ทางจมูกพอใจในกลิ่น ทางลิ้นพอใจในรส ทางกายพอใจในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมเหล่านั้นเป็นของจริงที่สติจะต้องระลึกรู้ และเห็นว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วจะค่อยๆ ละคลาย และดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น เพราะกิเลสมีมาก สติก็จะต้องระลึกรู้ในกิเลสมากๆ ที่มี โดยทั่วจริงๆ แล้วถึงจะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้
~ ถ้าระลึกถึงเหตุผล คือ กรรมดี กรรมชั่วแล้ว ถ้าเกิดความกลัวที่เป็นความกังวล ก็เป็นอกุศลจิต แต่ถ้าเกิดหิริ ความรังเกียจในอกุศลกรรม แล้วก็เกิดโอตตัปปะ การเห็นภัย เห็นโทษของอกุศลกรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลยิ่งขึ้น
~ ความกระวนกระวายไม่จบสิ้น เมื่อไรจะจบสักที ลองคิดดู วันนี้อยากได้อะไร พรุ่งนี้จะหมดความอยากได้ไหม? หรือถึงแม้ว่าจะเป็นพรุ่งนี้ ก็ยังมีความอยากได้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกี่ภพกี่ชาติก็ตาม
~ ธรรมที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำให้ท่านเกิดความเห็นผิด ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะเศร้าโศกตลอดไปเรื่อยๆ
~ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของความเห็นผิดและข้อปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับมรรคมีองค์ ๘ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น เพื่อให้ปัญญารู้ธรรมที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ผู้ใดก็ตามซึ่งมีความเห็นผิด ก็จะเข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อน คือเห็นว่ากรรมไม่ใช่กรรม ไม่นำมาซึ่งผลต่างๆ เป็นต้น หรือนอกจากนั้นความเห็นผิดก็ยังทำให้มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติ ผิด ซึ่งไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
~ เรื่องของอกุศลธรรมเป็นสิ่งที่มีมาก และถ้าไม่ทราบจริงๆ ว่า ตัวท่านมีอกุศลมากเพียงไรการที่จะละกิเลสย่อมเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ แล้วในวันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลธรรมหลายประการ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังมีอกุศลธรรมที่จะต้องละคลาย ขัดเกลาจนกว่าจะดับสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นในพระวินัยปิฎกก็ดี พระสุตตันตปิฎกก็ดี พระอภิธรรมปิฎกก็ดี พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมวินัยเพื่อที่จะให้บุคคลที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศลธรรมอย่างมากมายได้พิจารณาให้ทราบว่า ตัวท่านยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอีกมากมายเหลือเกินที่จะต้องขัดเกลา
~ ผู้ที่จะเจริญกุศลได้ยิ่งขึ้นก็จะต้องอาศัยศรัทธา ถ้าปราศจากศรัทธา ขาดศรัทธาเสียแล้ว ก็ไม่สามารถอบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น แม้แต่ศรัทธาในการฟังธรรมหรือในการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ศรัทธานี้เปรียบเหมือนพืช ถ้าไม่มีพืชก็ย่อมปลูกข้าวหรือปลูกพืชพรรณใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ก่อนอื่นทีเดียวก็ต้องมีพืช คือ ศรัทธาในการฟังพระธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว ถ้าขาดศรัทธาในขั้นต้น คือ ในขั้นการฟังก็ย่อมจะไม่ประพฤติปฏิบัติตามได้
~ สำหรับเรื่องของกุศล ทำไมจะควรต้องคิดตอนที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ขณะนี้ไม่ควรหรือ? ควรทุกขณะ ไม่ต้องรอจนถึงขณะนั้นแล้วจึงควร เรื่องของกุศลทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ต้องรอจนกว่าจะสิ้นชีวิต แม้ในขณะนี้ก็ควร ถ้าเป็นไปได้ ข้อสำคัญเป็นไปได้อย่างใจหรือเปล่า
~ โอกาสที่จะไปเกิดในอบายภูมิก็มีได้ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ควรเติมกุศลทุกๆ วัน
~ แค่ฟังพระธรรม ยังไม่อยากฟัง แล้วจะเอาปัญญามาจากไหน? มีเวลาที่จะคิด แล้วทำไมไม่มีเวลาที่จะฟังพระธรรม?
~ ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ปัญญานำทางไปสู่ความถูกต้องทั้งหมด
~ เมื่อมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ก็ย่อมถูก เพราะไม่คล้อยไปตามความคิดเห็นของบุคคลอื่น ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของพระธรรม
~ ความดีต้องรอฤกษ์ไหม? ถ้ามัวแต่จะรอฤกษ์ ก็ไม่ได้ทำดี เพราะฉะนั้นจะรอฤกษ์ หรือจะทำดี?
~ จะเป็นคนนี้ในชาตินี้ อย่างไร? อย่างคนดี หรือ อย่างคนชั่ว?
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๕
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...