ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๙
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๙
~ ขณะสุดท้ายของชาตินี้เป็นแต่เพียงสมมติมรณะ เพราะเหตุว่าเราเปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ และกรรมหนึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นบุคคลใหม่ และมีเรื่องราวใหม่ ไม่สิ้นสุดในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งปัจจุบันชาตินี้เป็นอย่างนี้ ถอยไปอีก ชาติก่อนเป็นอย่างไร และชาติโน้นๆ เป็นอย่างไร เคยเห็นเคยได้ยินก็เหมือนเดี๋ยวนี้ ซึ่งอีกไม่นานการเห็นของชาตินี้ก็เป็นอดีต และการคิดนึกของเรื่องนี้ก็เป็นอดีต แต่เป็นอดีตที่ไม่หวนกลับมาอีกสักขณะจิตเดียว สักเรื่องเดียวด้วย และเวลาที่จะเกิดใหม่ก็คือเรื่องใหม่ แต่ว่าเมื่อไรจะจบ ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
~ กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศลของคนไทยจะต้องดีกว่ากุศลของคนชาติอื่น หรือไม่ใช่อกุศลของคนชาติอื่นจะต้องร้ายกว่าอกุศลของคนไทย
~ เรื่องของอกุศลที่จะเกิด เขามีปัจจัยจึงเกิด แต่ปัญญาที่เราสะสม โดยเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามการสะสม ถึงจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ต้องมี ท่านวิสาขามิคารมารดามีเครื่องประดับที่เลิศกว่าหญิงอื่น และท่านก็มีความพอใจในเครื่องประดับนั้นด้วย แต่ท่านก็สะสมปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามการสะสมของท่านว่าท่านไม่เหมือนคนอื่น แต่ท่านสามารถประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรม
~ การฟังธรรมแต่ละชาติที่มีโอกาสได้ฟัง ก็คือเพื่อให้มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ
~ ความจริงใจ การเข้าใจให้ถูกต้อง จะกลัวอะไรถ้าสิ่งนั้นถูก ไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวเลย ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีเหตุผล
~ พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเทศนา ๔๕ พรรษาโดยละเอียด เรื่องของสภาพธรรมล้วนๆ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังพิจารณาขั้นการฟังให้เห็นความเป็นอนัตตา ที่สภาพธรรมแต่ละอย่างจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ชั่วขณะเดียวที่เกิดทำกิจเฉพาะขณะนั้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
~ คนที่มีเงินมีทอง มีสมบัติทุกอย่างก็มีทุกข์ ถ้าไม่มีปัญญา แต่ถ้าคนมีปัญญา ถึงไม่มีอะไร ก็ไม่เป็นทุกข์
~ ชีวิตของเราจะดำเนินไปอย่างไร เราก็ไม่ทิ้งการสะสมอบรมเจริญปัญญา โดยทุกวิถีทาง
~ ปัญญาต้องรู้ตรงตั้งแต่ต้น หมายความว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไม่มีการรีบเร่ง หรือใจร้อน หรือจะทำ ถ้าเข้าใจอนัตตาจริงๆ แล้ว จะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็มีสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น เห็น ขณะนี้ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วด้วย ไม่มีใครไปทำ ขณะที่ได้ยิน ได้ยินก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ
~ ข้อสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ปัญญาเพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ละกิเลสทั้งหมด ละความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ละความหลงผิดทุกประการ
~ ไม่ว่าเป็นขันธ์ (สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า) ในชาติใดในแสนโกฏิกัปป์ หรือในปัจจุบันชาติ หรือในชาติต่อไปข้างหน้า ขันธ์ทุกขันธ์เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ จะไม่มีขันธ์ใดเกิดขึ้นมาแล้วจะพ้นจากลักษณะที่เป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล)
~ การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะออกจากบ้านไปสู่เพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยมุ่งตรงต่อพระวินัย เพราะเหตุว่าการเป็นบรรพชิตนั้นไม่ใช่เพียงการอุปสมบท แต่ต้องเป็นผู้มีจิตมุ่งตรงที่จะรักษาพระวินัยบัญญัติ คือ ข้อควรประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต
~ คนที่โกรธบ่อยๆ เวลาที่เกิดโกรธขึ้น ก็ให้ทราบว่าขณะนั้นไม่ใช่เป็นผลของอกุศลกรรมที่โกรธ แต่เป็นผลของการสะสมความโกรธ
~ ขณะนี้ทุกคนมีร่างกายซึ่งเคยเป็นที่รัก หรือขณะนี้ก็ยังเป็นที่รัก ที่พอใจ ก็ให้ทราบว่า ร่างกายนี้ก็จะต้องเปื่อยเน่า ผุพัง แล้วชาติหน้ารูปร่างกายจะเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นอย่างนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าจิต เจตสิก การกระทำทางกาย ทางวาจาในชาตินี้ จะทำให้อกุศลจิตเกิดครอบงำที่จะทำให้ร่างกายในชาติต่อไปพิกลพิการ ตา หู จมูก ไม่น่าดู หรือจนกระทั่งทำให้ถึงสภาพของเปรต อสุรกาย สัตว์นรก
~ แม้แต่เพียงการฟังพระธรรมก็ต้องมีศรัทธา ถ้าไม่มีศรัทธา ขณะไหน วันไหน วันนั้นไม่ฟัง หรือว่ามีธุระเสียแล้ว หรือว่ามีกิจการงานอื่นเสียแล้ว
~ เมื่อกิเลสยังไม่ดับ เวลาที่มีเหตุปัจจัยของกิเลสประเภทใด กิเลสประเภทนั้นๆ ก็เกิด โดยที่บุคคลนั้นไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้ว่า วันไหนกิเลสระดับใดจะเกิด เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่มีปัจจัย กิเลสนั้นก็ยังไม่เกิด
~ สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตซึ่งจะติดตามไปได้ที่มีประโยชน์สูงสุดคือปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะว่าตั้งแต่เกิดมาอาจจะมีทรัพย์สมบัติ มีรูปสมบัติ มียศ มีบริวาร มีทุกอย่าง แต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นทรัพย์สมบัติตามไมได้ไหม รูปสมบัติก็ตามไปไม่ได้ บริวารสมบัติ ทุกอย่างอื่นก็ตามไปไม่ได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะสะสมสืบต่อในจิตที่จะทำให้มีโอกาสได้ยินได้ฟังและก็เกิดความเห็นถูกขึ้นได้
~ บุญ คือ ขณะที่จิตใจปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นต้องมีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วย มีทั้งหิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังธรรมก็มีหิริโอตตัปปะแต่เรามองไม่เห็น มีศรัทธา มีสภาพธรรมเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน กุศลจิตจึงจะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นบุญก็คือขณะที่กุศลจิตเกิด
~ เมตตา คือ ขณะจิตเป็นกุศลที่จะให้ผู้อื่นได้รับความสุข กรุณาก็คือเมื่อบุคคลนั้นมีความทุกข์ เราก็คิดหรือมีความหวังดีที่ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ มุทิตาก็คือเมื่อใครได้ดีมีสุข เราก็ยินดีในกุศลกรรมที่เขาได้ทำมาที่ทำให้เขาได้รับสิ่งนั้นๆ อุเบกขาก็คือเมื่อเราไม่สามรถที่จะช่วยอะไรได้ ทุกอย่างก็เป็นไปตามกรรม
~ ถ้าทราบว่าเป็นผู้ที่ยังมีโมหะมาก ที่จะต้องขัดเกลา ก็จะทำให้ไม่ละเลยการฟังพระธรรม แล้วก็ไม่ละเลยการเจริญกุศลทุกประการด้วย
~ คนที่เราโกรธกำลังสบาย กำลังเป็นสุขสนุกสนาน เราคนเดียวกำลังเดือดร้อน กำลังไม่สบายเลยสักนิดเดียว จิตใจกำลังขุ่นมัวเต็มที่ แล้วใครทำให้ เราทำเอง ถ้ามีปัญญาจริงๆ เห็นโทษของอกุศลขณะนั้น เป็นสติ ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน
~ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ที่ตรัสรู้ เป็นศาสนาที่ทำให้คนฟังเกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง และเราก็พิจารณาได้ว่า เท่าที่ได้ฟังมา ความเห็นถูกเพิ่มขึ้นหรือเปล่า มีความเข้าใจอะไรๆ ถูกต้องตามความเป็นจริงไหมในขณะนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นหมายความว่า เราสามารถที่จะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มอีก เมื่อเราสนใจ สัทธาเห็นประโยชน์ แล้วก็ฟังต่อไป เพระว่าต้องถึงที่สุดของปัญญาที่ได้อบรมแล้ว แต่ต้องอบรม
~ โลภะก็ต้องทำกิจของโลภะ มานะก็ต้องทำกิจของมานะ โทสะก็ต้องทำหน้าที่ของโทสะ เพราะว่าปัญญาไม่เกิด ต่อเมื่อไรปัญญาเกิด เมื่อนั้นเหมือนแสงสว่างที่จะทำให้เราค่อยๆ เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง
~ ถึงเป็นคนดีแล้วก็ประมาทไม่ได้เลย เกิดมาเป็นคน เป็นผลของกุศลกรรมแล้วก็สะสมความดีไว้พอสมควรแต่ก็ยังมีอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นคนเลว ไม่ยากเลย เพราะอะไร? เพราะมีอวิชชา (ความไม่รู้) ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหลาย
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๘
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...