ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๒
~ เป็นผู้มั่นคงจริงๆ ในกรรม ถ้าท่านทำทุจริตกรรม แล้วจะอ้อนวอนขอร้องให้ได้ผลดี เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม? หรือถ้าท่านทำกุศลกรรมแล้ว ก็อ้อนวอนขอร้องเปลี่ยนเสีย อย่าให้กุศลนั้นให้ผลที่ดีเลย ให้กุศลนั้นให้ผลที่ไม่ดีทั้งหมด จะอ้อนวอนขอร้องสักเท่าไร ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วแต่ว่าเหตุ คือ กุศลจิตเกิดขึ้นทำกุศลกรรม ก็เป็นเหตุให้กุศลวิบากเกิด ถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้นกระทำอกุศลกรรม ก็เป็นเหตุให้อกุศลวิบากเกิด
~ ในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำใดที่เป็นข้อห้ามเลย แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุและผลของธรรมทุกอย่าง เพื่อจะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ แล้วก็อบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้น เป็นผู้ที่นับถือในเหตุผล และเข้าใจในเหตุและในผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
~ ทุกเรื่องที่เป็นมุสาวาท คือ คำไม่จริง แม้เพียงเล็กน้อย ต้องเป็นผู้เห็นโทษจริงๆ แล้วก็มีวิริยะที่จะวิรัติ (งดเว้น) ไม่พูดคำที่ไม่จริง แม้เป็นเรื่องที่ท่านอาจจะเห็นว่า ไม่เป็นโทษกับคนอื่น แต่ว่าการเสพคุ้นบ่อยๆ จะทำให้เป็นผู้คุ้นเคยกับการกล่าวมุสาวาทได้ง่าย และยิ่งเห็นว่า ไม่เป็นโทษเป็นภัย ก็ยิ่งกล่าวไปเรื่อยๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้นปกติก็จะเป็นผู้ที่ไม่มีใครเชื่อในคำพูดของท่าน และขอให้คิดถึงความจริงว่า ในเมื่อท่านต้องการสัจจะ คือ ความจริง คนอื่นก็ต้องการด้วยเช่นเดียวกัน
~ ละเว้นการดื่มสุรา หรือว่าของเสพติด ของมึนเมาทุกประเภท เพราะเห็นโทษว่า ผู้ที่ขาดสติ ย่อมทำสิ่งซึ่งปกติแล้วจะทำไม่ได้ แม้แต่การฆ่ามารดาบิดาก็ทำได้ นั่นต้องเป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มึนเมาและไม่มีความรู้สึกตัว
~ เรื่องของความโลภ ความติดในทรัพย์สมบัติ ในกามวัตถุ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในลาภ ไม่มีวันพอ
~ จิตของแต่ละคนละเอียดและลึก และถ้าไม่มีปัญญาพร้อมสติจริงๆ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า แม้แต่เพียงกิเลสอย่างบางเบา เล็กน้อย นั่นก็เกิดจากการสะสม ไม่ใช่เป็นเฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว ถ้าชาตินี้เป็นอย่างนี้ ก็ย้อนไปได้เลยว่า ชาติก่อนและชาติก่อนๆ และชาติก่อนๆ โน้น ไม่ว่าจะเคยเกิดเป็นใคร มีชีวิตอย่างไร แต่กิเลสเหล่านี้ก็ไม่เบาบางเลย เพราะเหตุว่าแม้ในชาตินี้ยังเป็นอย่างนี้
~ การที่กายวาจาประพฤติในทางทุจริต ย่อมนำโทษมาให้ แม้แต่เพียงคำพูด ซึ่งถ้าไม่สำรวมก็อาจจะไม่รู้เลยว่า นำโทษมาให้แล้วแก่ผู้พูด และกับบุคคลอื่นด้วย
~ ปรมัตถธรรมมีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ฟังแล้วก็จะต้องพิจารณาให้เข้าถึงว่า ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คือ จิต เจตสิก รูปเท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมบ่อยๆ ก็จะลืม และไม่คิดเรื่องสภาพธรรม
~ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ขณะที่มีเมตตาก็เป็นอโทสเจตสิก ขณะที่มีความกรุณา มีความอาทรห่วงใย ใคร่เกื้อกูลผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกรุณาเจตสิก ขณะที่บุคคลอื่นมีความสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ขณะนั้นมีความยินดีด้วย ก็เป็นมุทิตาเจตสิก และขณะที่ระงับโลภะ โทสะ มีความเป็นกลาง เสมอในสัตว์ทั้งปวง ขณะนั้นก็เป็นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร
~ ท่านอาจจะคิดขุ่นเคืองใจ แล้วก็คิดว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นผู้ตัดรอนประโยชน์ของท่านด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้สะสมกุศลและมีความตั้งมั่นในการขัดเกลากิเลสแล้วละก็ จิตของบุคคลนั้นจะสงบตั้งมั่นได้ไม่ยาก และจะเป็นผู้มีจิตเมตตาแม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว
~ การรักษาศีลก็เพื่อที่จะวิรัติอกุศลที่มีกำลังแรง ที่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน เวลาที่เกิดโลภะมากๆ เกินสภาพปกติ เพราะเหตุว่าทุกคนมีโลภะ ทุกคนแสวงหาทรัพย์สินเพื่อที่จะได้สิ่งที่พอใจได้ตามปกติ ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นก็เป็นเรื่องของสมโลภะ (โลภะที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ไม่ได้มีกำลังกล้าถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรม) แต่เวลาที่ความโลภเกิดมากขึ้นจนกระทั่งกระทำทุจริตเพื่อให้ได้สิ่งนั้นๆ มา นั่นก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว เพราะฉะนั้นการรักษาศีล คือ การเห็นโทษของกิเลสหยาบ แล้วก็วิรัติ คือ ละเว้นทุจริตกรรม นั่นคือการรักษาศีล พอที่จะเข้าใจได้ว่า รักษาศีลเพราะอะไร? เพราะเห็นโทษของอกุศลอย่างหยาบ ที่จะทำให้คนอื่นและตนเองเดือดร้อน
~ ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องเป็นผู้มั่นคงไม่หวั่นไหวในเหตุในผล คือ ในกรรมและผลของกรรมของตนเอง
~ กุศลธรรม ตั้งใจไว้ชอบ ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะเกิดโทสะ แต่ว่าควรเกิดเมตตา เวลาที่เห็นคนอื่นกระทำอกุศลกรรมก็ดี หรือว่าสภาพจิตใจของคนนั้นเป็นอกุศลก็ดี ควรที่จะมีเมตตาว่า บุคคลนั้นจะต้องสะสมอกุศลจิต และอกุศลกรรมไปมากมาย ควรที่จะมีเมตตาอย่างยิ่ง
~ ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ให้ทราบว่าขณะนั้นอกุศลธรรมครอบงำจิต แล้วทำอย่างไรถึงจะสลัด ถึงจะละ ถึงจะขัดเกลาอกุศลธรรมที่กำลังครอบงำอยู่ได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เจริญกุศลทุกประการ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โอกาสของทาน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องสงเคราะห์ช่วยเหลือ ช่วยเหลือทันที สงเคราะห์ทันที ขณะนั้นเป็นกุศลจิต มิฉะนั้นแล้ว ขณะนั้นอกุศลธรรมครอบงำได้ เพราะปัจจัยของอกุศลย่อมมีอยู่พร้อมเสมอ จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้
~ ถ้าขณะใดประสบพบผู้ที่กำลังทุกข์ยาก เดือดร้อนและมีจิตใจอ่อนโยน มีความเป็นมิตรต้องการที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นจิตที่ปราศจากโลภะ ไม่ตระหนี่ แล้วก็สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้นเป็นบุญ
~ สภาพธรรมเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เราจะทำสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดสักขณะหนึ่งขณะใดให้เกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้เลย แสดงความไม่มีเจ้าของอยู่แล้ว เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะกระทำอะไรได้เลย เห็นในขณะนี้ ได้ยินในขณะนี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถทำให้เห็น หรือได้ยินในขณะนี้เกิด หรือความคิดนึกในขณะนี้เกิด เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง มีปัจจัย คือ เจตสิกบ้าง รูปบ้างทำให้เกิดขึ้นโดยปัจจัยต่างๆ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง
~ ผู้ที่จะละคลายความยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ความเป็นตัวตนยังมีอยู่เต็มที่ แล้วจะไม่ให้อกุศลเกิด แล้วพยายามที่จะไปให้เป็นอย่างผู้ที่ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นไปไม่ได้
~ โลภะเป็นสมุทัย (เหตุ) ของวัฏฏะ (การเกิดท่องเที่ยววนเวียนไป) ไม่ใช่ของวิวัฏฏะ การที่จะออกจากวัฏฏะได้ ต้องเป็นเพราะปัญญา และปัญญานั้นต้องเห็นโลภะ คือ เห็นสมุทัย ที่ทำให้ทุกคนยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์
~ ผู้ที่จะสละอาคารบ้านเรือน ละเพศคฤหัสถ์สู่บรรพชิต แสดงให้เห็นว่า จะต้องเป็นผู้มีสัจจะ คือ เป็นผู้ที่มีความจริงใจต่อการขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าเพศของคฤหัสถ์
~ เคารพในพระศาสดา คือ ฟังคำของพระศาสดา.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๑
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ครับ
~ เคารพในพระศาสดา คือ ฟังคำของพระศาสดา.
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
เป็นผู้มั่นคงจริงๆ ในกรรม...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ