สิกขาบท

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  5 ก.พ. 2559
หมายเลข  27428
อ่าน  3,953

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิกขาบทคืออะไร มีอยู่ที่ไหน เป็นเฉพาะสำหรับบรรพชิต ฆราวาสที่สนใจสามารถศึกษาสิกขาบทที่ไหน อย่างไร

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 5 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิกขาบท เป็นบทที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อน้อมประพฤติตาม เพศบรรพชิต ก็มีสิกขาบทสำหรับบรรพชิตที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจอันเหมาะควรแก่เพศที่สูงยิ่ง จะได้ไม่ล่วงละเมิดในสิ่งที่ผิด แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูก จะบอกว่า บรรพชิตไม่รู้สิกขาบทต่างๆ ไม่ได้ ซึ่งสามารถศึกษาได้ในส่วนที่เป็นพระวินัยปิฎก เพราะถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ ก็จะเป็นเหตุให้ผิดพระวินัย ล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ มีโทษแก่พระภิกษุรูปที่ล่วงละเมิด เช่น ภิกษุรับเงินรับทอง ก็เป็นการล่วงละเมิดสิกขาบท ต้องอาบัติ พระภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาล (คือ หลังเที่ยงไปแล้ว) ก็เป็นการล่วงละเมิดสิกขาบท เป็นอาบัติ เป็นต้น แม้สิกขาบทของพระภิกษุ ซึ่งมีมาก คฤหัสถ์ก็สามารถศึกษาได้ และสามารถจะน้อมประพฤติตามได้ด้วยตามสมควร เพราะความงาม ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ควรประพฤติตาม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เมื่อได้เข้าใจสิกขาบทอย่างถูกต้อง จะเกื้อกูลให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ทำในสิ่งที่จะเป็นเหตุให้พระภิกษุต้องอาบัติ เช่น การถวายเงิน เป็นต้น

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อนี้ ...

พระวินัยปิฎก

สำหรับคฤหัสถ์ ก็มีสิกขาบทของคฤหัสถ์ อย่างเช่น สิกขาบท ๕ หรือที่เรียกว่า ศีล ๕ อันเป็นศีลที่ควรจะได้รักษาเป็นนิตย์ มีการเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เป็นต้น ครับ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เกี่ยวกับการรักษาศีล ๕ มีดังนี้

ศีลจะสำเร็จได้ก็ด้วยการมีเมตตา คือ ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโทสะ เช่น ในข้อของปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ถ้าขณะนั้นเกิดเมตตา ย่อมไม่สามารถที่จะฆ่าผู้อื่นได้หรือแม้แต่จะเบียดเบียนประทุษร้ายด้วยกาย หรือด้วยวาจาก็ตาม ถ้าเกิดเมตตาขึ้นทันทีในขณะนั้น ย่อมงดเว้นการที่จะเบียดเบียนประทุษร้ายด้วยกาย ด้วยวาจา แต่ถ้าขณะนั้นเมตตาไม่เกิด ก็ย่อมเป็นไปตามกำลังของกิเลส

แม้ในข้อของอทินนาทาน คือ การถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าท่านเป็นผู้มีเมตตาในบุคคลผู้เป็นเจ้าของ รู้ว่าเขาจะต้องเสียใจ เสียดายในการที่จะสูญเสียวัตถุ ซึ่งเป็นประโยชน์ของเขาไป ถ้าท่านมีจิตเมตตาในขณะนั้น ท่านย่อมไม่สามารถที่จะถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม ก็เช่นเดียวกัน ย่อมทำความเดือดร้อนให้กับวงศาคณาญาติของผู้ที่ท่านกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นท่านมีเมตตาคิดถึงบุคคลอื่น ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเดือดร้อน ท่านก็จะละการล่วงทุจริตกรรมข้อนี้ได้

แม้ข้อของมุสาก็เช่นเดียวกัน การที่ท่านพูดไม่จริง เป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่นไม่ให้คนอื่นได้รู้เรื่องจริง ไม่ให้คนอื่นได้รู้ความจริง ความโกรธ ความประทุษร้ายไม่เมตตาต่อผู้อื่น จึงกล่าวมุสาได้ (แต่ถ้าเมตตาเกิด ก็ย่อมไม่กระทำอย่างนั้นแน่นอน)

แม้การดื่มสุราก็เช่นเดียวกัน เวลาที่ดื่มสุราแล้วขาดสติ หลงลืมสติอย่างมากและผู้ที่ดื่มสุราก็เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อมีสุราเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยให้กิเลสเหล่านั้นเกิดมีกำลังกล้าขึ้น ย่อมจะสามารถทำทุจริตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของศีลทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการที่จะรักษาได้ด้วย อโทสะ คือ การมีเมตตาต่อสัตว์อื่น ต่อบุคคลอื่น นั่นเอง

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pulit
วันที่ 6 ก.พ. 2559

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 10 ก.พ. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ