ขอคำปรึกษาค่ะ ฟุ่งซ่านเรื่องของผู้อื่นทำไงดีค่ะ
ดิฉันมีเพื่อน ส่วนใหญ่เป็นน้องๆ เพราะอายุน้อยกว่า เขามุ่งมั่นเรื่อง ทาน ศีล ภาวนามาก เพื่อนบางคนกลัวนรกและอยากไปอยู่สบายในสวรรค์ เพราะในโลกมนุษย์เขารวยแต่ไม่พอใจในความรวยของตน และเห็นว่าสุขบนสวรรค์ประณีตกว่า พอคุยเรื่องศีล ๕ ก็บอกว่ายากทำไม่ได้หรอก ขอทำบุญมากๆ จะได้พ้นนรก พอคุยเรื่อง ธรรมะ (ปัญญา) เขาบอกว่า นั่งสมาธิมากๆ เห็นองค์พระภายในก็พอแล้ว ดิฉันทราบว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่ดำเนินชีวิตเช่นนี้และคิดว่าตนเป็นชาวพุทธ ดิฉันสงสาร เลยคิดและดูตัวเองเหมือนเอาไม้จิ้มฟันไปงัดไม้ซุง พยายามเอาความรู้สึกให้กลับมานึกถึงตนเอง ว่าเราก็ยังอยู่ในกองทุกข์เลย เรายังอยู่ในน้ำ แล้วอยากช่วยคนอื่นพ้นจากน้ำ พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญแน่ ขอความกรุณาท่านผู้รู้ ช่วยแนะนำการดับปฎิฆะ นี้ด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้ค่ะ
เรื่องการศึกษาพระธรรมและการปฏิบัติธรรมตามคำสอนพระพุทธองค์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ถ้าหากบางคนไม่ได้สะสมบุญมา เขาย่อมไม่สนใจที่จะเพียร พยายามเพื่อละกิเลสคือ ยังพอใจที่จะอยู่กับกิเลสและวัฏฏะทุกข์นี้ตลอดไป เพราะ สัตว์จำนวนน้อยที่จะมีปัญญาเห็นโทษภัยวัฏฏะสงสารอันน่ากลัวนี้ โดยมากสัตว์พอใจติดข้องอยู่ในกามคุณและภพ ฉะนั้นเมื่อเราไปชักชวนคนเหล่านั้นที่ไม่มีอุปนิสัยย่อมไม่เห็นประโยชน์ของปัญญา แม้พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมแก่ชนที่ได้สะสมบุญมาเท่านั้น คนที่ไม่ได้สะสมบุญมาพระองค์ทรงละคนเหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง คำสอนของพระพุทธองค์สอนให้ทุกคนละกิเลสของตนเอง กิเลสของผู้อื่นเขาต้องละเอง เพราะพระตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ -หน้า 112
บัดนี้ เราไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้แล้วโดยยาก ธรรมนี้ เหล่าสัตว์ ผู้ถูกราคะโทสะครอบงำแล้วจะตรัสรู้ไม่ได้ง่าย เหล่าสัตว์ผู้ยินดีแล้วด้วยความ กำหนัด ถูกกองแห่งความมืดหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันทวนกระแส ละเอียด ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู.
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ -หน้า228
๗. สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนบอด ในโลกนี้น้อยคนนักจะเห็นแจ้ง น้อยคนนักจะไปในสวรรค์ เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย (มีน้อย) ฉะนั้น
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ -284
๑๐. บรรดามนุษย์ ชนผู้ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย ฝ่ายประชานอกนี้เลาะไปตามตลิ่งอย่างเดียว ก็ชนเหล่าใดแลประพฤติสมควรแก่ธรรมในธรรมที่เรากล่าวชอบแล้ว ชนเหล่านั้นล่วงบ่วงมารที่ข้ามได้ยาก อย่างเอกแล้วจักถึงฝั่ง
ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ก็ทรงท้อพระทัยจะไม่ประกาศธรรม เพราะทวนกระแสของชาวโลก จนพรหมต้องมาทูลเชิญให้แสดงธรรม ทุกวันเรายึดติดกับบุคคล วัตถุสิ่งของกิเลสเหนี่ยวแน่น กว่าจะอบรมปัญญาละคลายก็ต้องใช้เวลาเป็นกัปๆ วันๆ เราอยู่กับอกุศลเป็นส่วนมาก ถ้ามีสักขณะที่ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม ก็เป็นนาทีทองของชีวิต
คนดีทุกข์เพราะเรื่องของคนอื่น สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ถึงเราปรารถนาให้สิ่งที่ดีต่อเขาแต่เพราะกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว และเพราะจิตเป็นไปตามการสะสม ไม่ขึ้นตรงต่อการบังคับบัญชาของผู้ใด แม้แต่ความปรารถนาดีของเรา กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ พิจารณาในสภาพธรรมที่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ โทสะเกิดเพราะโลภะ โทสะเกิดเพราะมีเรา โทสะเกิดแล้วก็ดับเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ในวิสุทธิมรรค พรหมวิหารนิเทสกล่าวถึงการสอนตนเมื่อเกิดปฏิฆะ ลองหา อ่านดูค่ะ เช่น ระลึกถึงความดีของเขา ระลึกถึงโทษของความโกรธ โกรธคือทำทุกข์ให้ตัวเอง พิจารณากัมมัสสกตา พิจารณาความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏฏ์ พิจารณาอานิสงส์เมตตา
อนุโมทนาค่ะ
เราจะช่วยเขาได้นั้น เราต้องเข้าใจหนทางที่ถูกต้องเสียก่อนไม่เช่นนั้น เราก็บอกผิด เข้าใจว่ารู้หนทางแล้ว เช่น เราจะเห็นการเกิดดับทันทีไม่ได้ ต้องรู้ลักษณะของ นามธรรมและรูปธรรมก่อน ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลายาวนานมากครับ ผมคิดว่าเราควร พิจารณากิจของตนเป็นสำคัญเพราะเหตุว่าความเข้าใจธัมมะหรือดับกิเลส ต้องเริ่มจากตัวเองก่อนครับ ขอยกข้อความในพระไตรปิฏก เรื่องฐานะใดที่จะช่วยคนอื่นได้ และเรื่องเราควรพิจารณากิจตัวเองเป็นสำคัญ
เชิญคลิกอ่านที่นี่..
กราบขอบพระคุณทุกท่านค่ะ ดิฉันจะน้อมเอาคำแนะนำมาพิจารณา เพื่อจิตจะได้เป็นอิสระ ไม่วนเวียนอยู่แต่เรื่องที่เป็นห่วง.
พอได้มาฟังธรรมจากท่านอจ.สุจินต์ นานๆ เข้า ก็เริ่มคิดเริ่มเข้าใจคำว่า "มีแล้วหามีไม่" คำนี้พิจารณาดีๆ จะเข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้ง ปัญหาของคนอื่นเราแก้ไขไม่ได้หรอก เราต่างหากที่ต้องศึกษาพระธรรมและมีพระธรรมเป็นหลักในการครองชีวิต ส่วนตัวเชื่อเสมอว่าความดี คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ปรารถนาดีกับผู้อื่นที่ยังไม่เข้าใจในหลักธรรมนั้น ยากยิ่งกว่าปรารถนาดีกับตนเองผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่เนื่องๆ
ก่อนหน้านี้ ดิฉันเคยคิดว่าตัวเองเข้าใจและซาบซึ้งในพระธรรม คำสอน แต่ต่อมา เมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ได้ค้นพบว่า ตัวเองยังไม่รู้และยังไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ก็ยังอยากจะเผื่อแผ่และสอนคนอื่น และคิดว่าตัวเองรู้แล้วและเข้าใจแล้ว แต่ตามความเป็นจริง ดิฉันยังไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แต่ก็กร่างอยากไปแนะนำหรือสอนคน อื่น พอคิดขึ้นได้ว่าจริงๆ แล้วตัวเราเองเราก็ยังไม่เห็นแม้กระทั่ง อกุศลของตัวเราเอง แล้วยังจะไปสอนคนอื่น หรือไปมองเห็นอกุศลของคนอื่น จึงเกิดความละอาย ตั้งแต่บัดนั้นเลยไม่สนใจที่จะไปสอนคนอื่น หรือแนะนำคนอื่นในสิ่งที่ตัวเองรู้หรือเข้าใจอีกเลย แต่จะคอยหมั่นสังเกตจิตของตนว่า ขณะที่เราเห็นอกุศลจิตของคน อื่นและติติงเขา ขณะนั้นจิตของเราเองเป็นอย่างไร? เราเคยรู้ไหม? หลังจากนั้นก็พยายามที่จะเลิกสนใจในจิตที่เป็นอกุศลของคนอื่น เพราะหาประโยชน์ใดๆ ไม่ได้ เลย แล้วจิตของเราล่ะ เป็นอะไร ในขณะที่ติติงผู้อื่น? เราเคยสังเกตบ้างหรือปล่า? ดิฉันคิดว่าตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ เพราะการขัดเกลากิเลสที่น่ารังเกียจนั้น ไม่ใช่ ขัดเกลากิเลสของคนอื่น แต่ตัวเราเองต่างหากที่ควรจะต้องขัดเกลา อยากช่วยผู้อื่น ว่าแต่ว่าเราเองดีแล้วหรือยัง เข้าใจในพระธรรมคำสอนจริงๆ แล้วหรือยัง? ขัดเกลาในอกุศลที่ตัวเองมีแล้วแค่ไหนอันนี้ต่างหากที่เราควรจะใส่ใจ สำคัญอย่างยิ่ง จงอย่าลืมว่า ในเมื่อเราเองยังช่วยตัวเองยังไม่ได้ แล้วเราจะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร การศึกษาธรรม วัตถุประสงค์ก็คือเพื่อการขัดเกลากิเลสของตัวเรา ไม่ใช่ขัดเกลากิเลสของผู้อื่นอย่างแน่นอนค่ะ.
ขออนุโมทนาคุณ namarupa ค่ะ ในความเป็นผู้ตรง และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า ที่เคยคิดว่ารู้แล้วเข้าใจแล้ว แท้ที่จริงแล้วเรายังไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะถ้ารู้จริง เข้าใจจริงต้องเป็นความรู้ชัดในขณะนี้ แม้กระนั้นความรู้ในระดับนี้ ก็ยังออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ เปรียบเสมือนความพยายามที่จะทำลายภูเขาลูกใหญ่ด้วยปลายเล็บ